เสร็จสิ้นภารกิจ ‘ขาขึ้น’ มุ่งหน้าสู่ ‘ขาเคลื่อน’ ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ ๓ หลัง ‘ครม.-สภาผู้แทนฯ-วุฒิสภา’ เห็นชอบ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

         สวัสดีครับพี่น้องภาคีเครือข่ายที่รักทุกท่าน เดือนกุมภาพันธ์เดือนแห่งความรัก ในนามสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ขอส่งมอบความปรารถนาดีไปยังพี่น้องภาคีเครือข่ายทุกท่าน และขอให้ทุกท่านเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังกาย-พลังใจ พร้อมแบ่งปัน ‘ความรัก’ ระหว่างกัน เพื่อสร้างสังคมสุขภาวะให้เกิดขึ้นจริง

         
นอกจากนี้ เดือนกุมภาพันธ์ยังถือว่าเป็นฤกษ์งามยามดีอีกประการ นั่นเพราะขณะนี้ ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ ๓ พ.ศ.๒๕๖๕ ซึ่งผ่านขั้นตอนการมีส่วนร่วมของพวกเรามาเป็นระยะเวลากว่า ๒ ปี ได้ผ่านความเห็นชอบและรับทราบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดและมีผลผูกพันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อเนื่องไปจนถึงปี ๒๕๗๐ เป็นที่เรียบร้อยแล้วครับ ขั้นตอนถัดจากนี้คือการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อสื่อสารให้หน่วยงาน องค์กร และประชาชนทราบและใช้ประโยชน์อย่างเป็นทางการต่อไป

         
สำหรับ “ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ” นับเป็นเครื่องมือสำคัญหนึ่งภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ ที่กำหนดให้มีการจัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นกรอบและแนวทางในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการดำเนินงานด้านสุขภาพของประเทศ เปรียบได้กับ “แผนที่นำทาง” หรือ “เข็มทิศ” สำหรับนโยบายสุขภาพของไทย

        ที่ผ่านมาเรามีการประกาศใช้ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ มาแล้ว ๒ ฉบับ ได้แก่ ฉบับที่ ๑ ในปี ๒๕๕๒ และฉบับที่ ๒ ในปี ๒๕๕๙ ซึ่งกฎหมายได้บัญญัติเอาไว้ว่าต้องมีการทบทวนเพื่อให้เท่าทันสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงทุกๆ ๕ ปี

        
ฉะนั้นในปี ๒๕๖๓ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำธรรมนูญฯ ฉบับที่ ๓ ขึ้นเมื่อวันที่ ๑๘ ธ.ค. ๒๕๖๓ โดยมี ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีต รมว.อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (อว.) เป็นประธาน พร้อมด้วยองค์ประกอบของคณะกรรมการมาจากหลายภาคส่วน

        
ตลอดเวลาเกือบ ๒ ปี คณะกรรมการชุดนี้ได้ใช้กระบวนการทำงานที่ยึดหลักการทางวิชาการ การมีส่วนร่วม และการสื่อสารสังคม มีการรับฟังความเห็นจากภาคีภาคส่วนต่างๆ อย่างครบถ้วนทั้ง ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และภาคีในพื้นที่มากมายหลากหลายเวที จนสรุปกลายเป็นฉันทมติร่วมกันในเวทีสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น เมื่อวันที่ ๒๕ เม.ย. ๒๕๖๕ และออกมาเป็นร่างธรรมนูญฯ ที่มีเนื้อหามุ่งไปสู่เป้าหมายของการสร้าง “ระบบสุขภาพที่เป็นธรรม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และช่วยพลิกฟื้นประเทศไทย”

        
พี่น้องภาคีเครือข่ายที่รักทุกท่านครับ แม้ว่าขณะนี้ธรรมนูญฯ อยู่ระหว่างรอประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อใช้อย่างเป็นทางการ แต่ที่จริงแล้วกระบวนการขับเคลื่อนธรรมนูญฯ ฉบับที่ ๓ ได้เดินหน้ามาระยะหนึ่งแล้ว เรามีกระบวนการคู่ขนานในการเตรียมความพร้อมภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ เพื่อทำความเข้าใจและผลักดันให้เกิดการนำเนื้อหาภายในธรรมนูญฯ ไปปรับใช้ ผ่านกลไกของทั้ง ๑๓ เขตสุขภาพเพื่อประชาชน

        
นั่นเพราะการขับเคลื่อนตามธรรมนูญฯ ฉบับที่ ๓ นี้ ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของแต่ละหน่วยงาน องค์กร หรือใครที่มีบทบาทเท่านั้น หากแต่ในระดับชุมชน บุคคล ก็ล้วนสามารถที่จะนำเนื้อหาของธรรมนูญฯ ฉบับนี้ ไปปรับใช้ได้ตามบทบาทและหน้าที่ของตน เพื่อให้เรามุ่งไปสู่เป้าหมายของระบบสุขภาพที่เป็นธรรมไปพร้อมกัน

       
ธรรมนูญฯ ฉบับที่ ๓ ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเชิงระบบกันมากขึ้น อย่างการเน้นให้ความสำคัญกับการอภิบาลระบบสุขภาพครอบคลุม ๓ ส่วน คือ ๑. การพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ๒. การทำสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศให้เอื้อต่อการมีสุขภาพดี และ ๓. การให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ในทุกกลุ่มวัยและทุกระดับ

        
ตัวอย่างเช่นเรื่องการสร้าง “หลักประกันรายได้และคุณภาพชีวิตเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ” ซึ่งเป็นธีมหลักของนิตยสารสานพลังเล่มที่พี่น้องภาคีเครือข่ายกำลังอ่านอยู่นี้ ก็นับว่าสอดคล้องกับเป้าหมายของธรรมนูญฯ ฉบับที่ ๓ โดยตรง และถือเป็นการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพฯ ภายใต้หลักใหญ่ใจความของธรรมนูญฯ ฉบับที่ ๓ ด้วย

       
พี่น้องภาคีเครือข่ายที่รักทุกท่านครับ ผมมีความยินดีที่จะแจ้งให้ทุกท่านทราบว่า นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา ได้ให้เกียรติพวกเรา สละเวลาอันมีค่าของท่าน เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการสนับสนุนและติดตามการขับเคลื่อนธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ ๓ ซึ่งจะเป็นกลไกที่ถูกเพิ่มเติมเข้ามาใหม่ เพื่อที่จะให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนธรรมนูญฯ ฉบับนี้มากขึ้น ที่สำคัญก็คือ ท่าน นพ.ณรงค์ศักดิ์ เคยมีประสบการณ์จากการบริหารระบบสาธารณสุขมายาวนาน เป็นประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติมาแล้วสองครั้ง และมีบทบาทสำคัญในการทบทวนธรรมนูญฯ ฉบับแรกมาก่อน จึงมั่นใจได้เลยว่าจะสามารถเข้ามาช่วยเติมเต็มการขับเคลื่อนธรรมนูญฯ ฉบับใหม่นี้ให้สมบูรณ์ได้ยิ่งขึ้นไปอีกครับ

 

รูปภาพ