ฉันทมติ! ‘สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15’ เคาะรับรองกรอบทิศทางนโยบาย สร้าง ‘หลักประกันรายได้’ วาง 5 เสาหลักเพิ่มคุณภาพชีวิตคนไทยเมื่อสูงวัย | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 เคาะฉันทมติ! เห็นพ้องวาง 5 เสาหลักเป็น “กรอบทิศทางนโยบาย” สู่การสร้าง “หลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ” หวังวางระบบ-สร้างพฤติกรรมการออมเงินคนไทย พร้อมผลักดันเป็นวาระแห่งชาติสู่การขับเคลื่อนร่วมกันของทุกฝ่าย
 

วีระศักดิ์ พุทธาศรี


เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2565 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พร้อมด้วย สถานีโทรทัศน์
ไทยพีบีเอส ศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ (The Active) และมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุ (มส.ผส.) ร่วมกันจัดเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ประเด็น หลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ระเบียบวาระของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 พ.ศ.2565 โดยมี นพ.สมชาย พีระปกรณ์ เป็นประธานการพิจารณา

 

สมชาย พีระปกรณ์


สำหรับเวทีสมัชชาสุขภาพในครั้งนี้ ภาคีสมาชิกสมัชชาสุขภาพได้เห็นพ้องร่วมกันว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นและมีความพร้อมที่จะจัดให้มีระบบหลักประกันรายได้ฯ ที่คนในสังคมทุกช่วงวัย ทุกสาขาอาชีพจากทุกภาคส่วน ร่วมเป็นเจ้าของและมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน และควรมีนโยบายสาธารณะเพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันดำเนินการและขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรม และเกิดผลลัพธ์ที่ชัดเจนต่อไป
 

สมชาย พีระปกรณ์


ทั้งนี้ จึงมีฉันทมติเห็นชอบต่อกรอบทิศทางนโยบาย (Policy Statement) ภายใต้ 5 องค์ประกอบหลักที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบและต้องขับเคลื่อนไปด้วยกัน ได้แก่ 1. การพัฒนาผลิตภาพประชากร การมีงานทำ และมีรายได้จากการทำงานที่เหมาะสมตลอดช่วงวัย 2. เงินอุดหนุนที่เพียงพอต่อการดำรงชีพที่ผู้สูงอายุทุกคนควรได้รับ และบริการสังคมที่จำเป็นจากรัฐ 3. การออมระยะยาวเพื่อยามชราภาพที่เชื่อมโยงทั้งการออมของปัจเจกบุคคลและการออมรวมหมู่ ที่ครอบคลุม เพียงพอ และยั่งยืน รวมถึงการบริหารจัดการการเงินทั้งระดับบุคคลและครอบครัว 4. การเข้าถึงหลักประกันสุขภาพ ในทุกกองทุนให้มีการเน้นการคัดกรองความเสี่ยงและป้องกันภาวะพึ่งพิงในผู้สูงอายุ ไม่จำกัดเฉพาะเรื่องการรักษา เช่น มะเร็ง การสำลัก วัคซีน ภาวะสมองเสื่อม การหกล้ม และการเข้าถึงชุดสิทธิประโยชน์ที่ยังไม่ครอบคลุม เช่น ผ้าอ้อม วัสดุสิ้นเปลืองอื่นๆ รวมถึงการบริการสุขภาพระยะยาว (Long-term care) 5. การดูแล การจัดสรรทรัพยากรร่วม และการบริหารจัดการ โดยครอบครัว ผู้ดูแลผู้สูงวัย ชุมชน และท้องถิ่น

ขณะเดียวกันยังเสนอให้มีการกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ ที่มีหน่วยงานรับผิดชอบ และเอื้อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานร่วมกัน เพื่อให้เป็นนโยบายสาธารณะที่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเห็นผลรูปธรรม โดยมีกลไกระดับชาติทำหน้าที่บูรณาการระบบย่อยและขับเคลื่อนระบบใหญ่ เชื่อมโยงกับกลไกระดับพื้นที่เพื่อการจัดสรรและบริหารจัดการทรัพยากรแบบมีส่วนร่วม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการสร้างความเป็นธรรม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และการมีคุณภาพชีวิตที่ดีในวัยสูงอายุของประชาชนทุกคน

นพ.ประทีป
ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า เป็นที่ทราบดีว่าประเทศไทยกำลังเดินหน้าเข้าสู่สังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์ ที่มีประชากรผู้สูงวัยกว่าร้อยละ 20 ซึ่งจะตามมาด้วยภาระค่าใช้จ่ายที่ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นการสร้างระบบหลักประกันรายได้เพื่อรองรับสังคมสูงอายุ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ถูกนำมาพิจารณาและได้รับฉันทมติร่วมกันในครั้งนี้ ก่อนที่จะมีการรับรองและสร้างพันธะสัญญาในการขับเคลื่อนร่วมกันอีกครั้ง ในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-22 ธ.ค. 2565

 

ประทีป ธนกิจเจริญ


“เรากำลังเผชิญสถานการณ์หลังโควิด-19 ที่ซ้ำเติมด้วยวิกฤตเศรษฐกิจ สร้างปัญหาด้านปากท้อง การอยู่การกิน ที่เชื่อมโยงกับมิติสุขภาพอย่างองค์รวม ในบริบทความท้าทายของสังคมผู้สูงอายุ ที่คาดว่าจะมีจำนวนผู้สูงวัยเพิ่มปีละประมาณ 1 ล้านคน ต่อเนื่องไปอีก 20 ปี จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องร่วมมือกัน วางแผนชีวิต และออกแบบระบบเพื่อเตรียมพร้อม เพราะนี่ไม่ใช่เรื่องของผู้สูงวัยเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของคนรุ่นปัจจุบันและคนรุ่นถัดไป ที่จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมกันกำหนดภาพอนาคตอันพึงประสงค์นี้ไปด้วยกัน” นพ.ประทีป กล่าว

ขณะที่ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ประธานกรรมการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาเคยมีการพูดถึงประเด็นการสร้างความมั่นคงทางรายได้ หรือพูดอย่างง่ายคือการมีระบบบำนาญให้กับคนไทย แต่คำถามคือระบบที่จะเกิดขึ้นนี้ควรมีหน้าตาเป็นอย่างไร เพราะนี่ไม่ใช่เรื่องรายได้ของประชาชนเพียงอย่างเดียว หากแต่ยังมีในส่วนรายจ่ายของประเทศด้วยที่จะต้องพิจารณา
 

สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์


“ขั้นตอนสำคัญหลังเป็นมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติแล้ว ข้อเสนอนี้ก็จะถูกส่งเข้าสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนต่อ แต่อีกส่วนที่เราจะทำคือการชวนสังคมมาช่วยกันทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้นด้วย เพราะเราไม่ได้ต้องการที่จะสื่อสารเรื่องถึงนักการเมือง หรือผู้มีอำนาจเท่านั้น แต่ยังต้องการพูดกับสังคมโดยรวมให้รับรู้และเข้าใจถึงเรื่องนี้ ทั้งในส่วนของการวางระบบและการปรับพฤติกรรมการออมต่างๆ” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

ด้าน นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท คณะทำงานพัฒนาประเด็นฯ กล่าวว่า จะเห็นได้ว่ากรอบทิศทางนโยบายที่สมาชิกสมัชชาสุขภาพร่วมกันมีฉันทมติในครั้งนี้ ประกอบด้วยเสาหลัก 5 ด้าน ไม่ว่าจะเป็นในมุมของการสร้างผลิตภาพผู้สูงวัย ที่ไม่ได้หมายความเฉพาะงานที่สร้างรายได้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสร้างคุณค่าให้กับสังคมที่มองได้ในหลายแง่มุม การเอื้อให้เกิดการออมระยะยาวที่เป็นไปได้สำหรับทุกคน เงินอุดหนุนและสวัสดิการอื่นๆ ที่ช่วยลดรายจ่ายของคน ระบบหลักประกันสุขภาพ รวมไปถึงการดูแลผู้สูงอายุโดยสังคม เป็นต้น
 

วิรุฬ ลิ้มสวาท


“สิ่งสำคัญคือการเปลี่ยนวิธีคิดของผู้คน ว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเฉพาะผู้สูงอายุ แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนทุกวัย ส่วนหลักประกันก็ไม่ใช่เพียงบำนาญหรือตัวเงินเท่านั้น แต่คือทั้ง 5 เสาหลัก และเรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาลเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของทุกคน ดังนั้นเป้าหมายหนึ่งของมติสมัชชาสุขภาพ คือเราจะประกาศนโยบายนี้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อที่ทุกคนจะมาร่วมกันรับรู้และร่วมกันทำให้เกิดขึ้น” นพ.วิรุฬ กล่าว
 

วีระศักดิ์ พุทธาศรี

 

สมัชชาสุขภาพ

 

สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ

 

สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ

 

วีระศักดิ์ พุทธาศรี



สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม:

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สช.

โทร. 02-8329141

 

รูปภาพ
สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ