ขีดเส้น 5 ปี สร้างความเป็นธรรมด้านสุขภาพ สช.สานพลังรับฟังความเห็นทั่วประเทศ ยกร่างธรรมนูญฯ ฉบับ 3 ของไทย | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
Audio file
ขีดเส้น 5 ปี สร้างความเป็นธรรมด้านสุขภาพ


“อนุกรรมการการมีส่วนร่วมฯ ธรรมนูญระบบสุขภาพฉบับ 3” เปิดวงถกนัดแรก ขีดเส้น 5 ปี สร้างความเป็นธรรมด้านสุขภาพ เดินหน้าจัดทำแผนรับฟังความคิดเห็นทั่วประเทศผ่านทุกแพลทฟอร์ม ครอบคลุมรัฐ-เอกชน-ประชาสังคม-กลุ่มคนเปราะบาง-คนรุ่นใหม่ หวังได้ทิศทางระบบสุขภาพไทยที่พึงประสงค์ที่ทุกคนเป็นเจ้าของ

เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2564 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดการประชุมคณะอนุกรรมการมีส่วนร่วมและรับฟังความเห็น ครั้งที่ 1/2564 ภายใต้คณะกรรมการจัดทำธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดทำธรรมนูญฯ ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ประธานคณะอนุกรรมการมีส่วนร่วมและรับฟังความเห็น เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการมีส่วนร่วมฯ เป็น 1 ใน 3 กลไกคณะอนุกรรมการ ภายใต้คณะกรรมการจัดทำธรรมนูญฯ ฉบับที่ 3 มีอำนาจและหน้าที่ในการจัดทำกรอบ แนวทาง และแผนการมีส่วนร่วมและรับฟังความเห็นในกระบวนการจัดทำร่างธรรมนูญฯ พร้อมทั้งประสานการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นจากภาคีที่เกี่ยวข้องในทุกๆ ช่องทาง ส่วนคณะอนุกรรมการอีก 2 ชุด ได้แก่ คณะอนุกรรมการวิชาการและยกร่างธรรมนูญฯ และคณะอนุกรรมการสื่อสารสังคม ซึ่งจะดำเนินงานหนุนเสริมกันและกัน
 

ชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ


สำหรับความคืบหน้าการดำเนินงานจัดทำธรรมนูญฯ ฉบับที่ 3 ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาทบทวนประมวลผลข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพอนาคต สถานการณ์ระบบสุขภาพ รวมไปถึงการจัดเวทีตามกลุ่มเป้าหมาย เพื่อระดมความเห็นหลายภาคส่วนหลายช่องทาง มาเป็นข้อมูลนำเข้าในการยกร่างธรรมนูญฯ เพื่อให้ได้ร่างที่จะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) และรัฐสภา ภายในช่วงเดือน มี.ค.-มิ.ย. 2565 ต่อไป

“สถานะของธรรมนูญฯ ฉบับนี้ ถูกตั้งเป้าที่จะให้เป็นกรอบทิศทางของระบบสุขภาพไทย หรือเปรียบเสมือน ร่ม ที่แสดงความเชื่อมโยงระหว่างเป้าหมาย ยุทธศาสตร์ แผนงานด้านสุขภาพในระดับต่างๆ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายเดียวกันคือเกิดความเป็นธรรมด้านสุขภาพภายใน 5 ปี ขณะเดียวกันก็จะเป็นข้อมูลอ้างอิงระบบสุขภาพที่พึงประสงค์ของไทยที่สามารถนำไปใช้ขับเคลื่อน รวมถึงติดตามและวิเคราะห์ผล” นายชาญเชาวน์ ระบุ

ด้าน นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะอนุกรรมการและเลขานุการฯ กล่าวว่า ประเด็นหลักที่คณะอนุกรรมการมีส่วนร่วมฯ ร่วมกันพิจารณาในครั้งนี้ อาทิ สิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพ การคุ้มครองผู้บริโภค การสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค หรือด้านการเงินการคลัง การบริการ รวมไปถึงกำลังคนด้านสุขภาพ ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญที่จะนำไปใช้ในการรับฟังความเห็น ตามกลุ่มเป้าหมายในประเด็นต่างๆ
 

สุทธิพงษ์ วสุโสภาพล


สำหรับประเด็นที่จะมีการรับฟังความเห็นในรายละเอียด เช่น การพัฒนาองค์ความรู้ด้านสุขภาพให้ทันสถานการณ์และไม่ให้ขึ้นหิ้ง บทเรียนการสื่อสารในภาวะวิกฤติจากโควิด-19 บทบาทการคุ้มครองผู้บริโภคต่อข้อมูลข่าวสารหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ บทบาทของครอบครัวและชุมชนในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพ ความร่วมมือกันในการจัดการกับปัจจัยต่างๆ

นอกจากนี้ยังครอบคลุมไปถึงประเด็น สิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพที่พึงประสงค์ของทุกคน บทบาทของโรงพยาบาลเอกชนเพื่อช่วยสนับสนุนภาครัฐ ระบบสุขภาพในเขตเมืองที่ควรเป็น การเข้าถึงระบบบริการสุขภาพในภาวะวิกฤติ ความสำคัญของการพัฒนาระบบการแพทย์แผนไทยควบคู่กับแผนปัจจุบัน การทำงานร่วมกันเป็นทีมสหสาขา ระบบสุขภาพปฐมภูมิที่อยากเห็น รวมไปถึงการจัดสรรงบประมาณด้านสุขภาพของประเทศ

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า กลุ่มเป้าหมายในกระบวนการมีส่วนร่วมและรับฟังความเห็นจะประกอบด้วยภาคีหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นองค์กรภาครัฐ ภาคการเมือง ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม กลุ่มสถาบันวิชาการ กลุ่มผู้ให้บริการสุขภาพ กลุ่มภาคีด้านสื่อสารสาธารณะ กลุ่มคนรุ่นใหม่ กลุ่มคนที่มีความจำเพาะด้านสุขภาพ ไปจนถึงกลุ่มคนที่อยู่สภาวะเปราะบาง


แนวทางการมีส่วนร่วมและรับฟังความเห็น จะมีการจัดกระบวนการผ่านทางเวทีและช่องทางต่างๆ ในทุกแพลทฟอร์ม ไม่ว่าจะเวทีเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย เวทีตามพื้นที่ การรับฟังช่องทางออนไลน์ เช่น Google form, Website, Social listening tools ต่างๆ หรือแม้แต่หนังสือเวียนทางการ เพื่อที่จะนำข้อมูลที่ได้มาเป็นข้อมูลนำเข้าสำหรับคณะอนุกรรมการวิชาการและยกร่างฯ ภายในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย.นี้ เพื่อให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้น จนได้เป็นทิศทางของระบบสุขภาพไทยที่พึงประสงค์ซึ่งมีทุกคนเป็นเจ้าของ” นายสุทธิพงษ์ กล่าว
 

สช.สานพลังรับฟังความเห็นทั่วประเทศ


สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม:

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สช.

โทร. 02-8329141

 

รูปภาพ
ยกร่างธรรมนูญฯ ฉบับ 3 ของไทย