- 281 views
สวัสดีครับ ... สานพลังฉบับนี้ ได้ทีมจัดทำเป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรง ความคิดกว้างไกล และมีการเพิ่มคอลัมน์ ปรับทั้งรูปแบบและเนื้อหาให้ทันกับยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หลายอย่างที่ไม่เคยเห็นก็จะได้เห็น และภายใต้วิกฤตของประเทศที่ผู้รู้หลายสำนักบอกว่าเดือนธันวาคมนี้จะหนักสุด ผมขอชวนเพื่อนๆ คุยเรื่อง “พลเมืองตื่นรู้ คือพลังสู้วิกฤตสุขภาพ (ประเทศ)”
ดร.ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) ออกปากชื่นชมประเทศไทยว่า เป็นประเทศที่รับมือกับโรคระบาดครั้งประวัติศาสตร์อย่าง “โควิด-19” ได้อย่างดีเยี่ยม จนถึงขั้นยกย่องให้เป็น “ต้นแบบ” แก่นานาประเทศทั่วโลก และย้ำว่าความสำเร็จของประเทศไทยไม่ใช่เรื่องบังเอิญอย่างแน่นอน แต่เกิดจากความเข้มแข็งของระบบสุขภาพของไทยที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันของภาคประชาสังคมและวิชาการ
หากย้อนกลับไปช่วงกลางปีที่ผ่านมา ประเทศไทยก็ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความสำเร็จในการพลิกฟื้นประเทศจากภัยสุขภาพครั้งนี้อย่างเต็มภาคภูมิมาแล้ว จากดัชนี Global COVID-19 Index (GCI) ที่ใช้ระบบการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อประเมินศักยภาพของประเทศต่างๆ ใน ๒ มิติ ประกอบด้วย ๑.ภาครวมการฟื้นตัวในมิติต่างๆ (Global Recovery Index) ๒.ความรุนแรงของการระบาด (Global Severity Index) โดยผลการประเมินระบุชัดว่า ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ ๑ จาก ๑๘๔ ประเทศทั่วโลก
และก่อนหน้านี้ WHO ได้กล่าวชื่นชมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ของไทยว่าเป็น “พลังฮีโร่เงียบ” ที่ต่อกรกับโรคร้ายได้อย่างถึงพริกถึงขิง-ถึงระดับพื้นที่และชุมชน ล่าสุด “ทีโดรส” ก็ระบุว่า ประเทศไทยเป็นตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมในการดำเนินการอย่างครอบคลุม ทั้งในระดับรัฐบาลและระดับสังคมที่ทำงานร่วมกัน
นั่นบ่งชี้ว่า “ชุมชน-ตำบล” คือพื้นที่ยุทธศาสตร์ในการสู้รบกับวิกฤตสุขภาพ และการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ-ภาควิชาการ-ภาคประชาสังคม คือหัวใจความสำเร็จของไทย
นอกจากพลัง อสม.ทั่วประเทศที่เต็มไปด้วยจิตสาธารณะแล้ว “พลังของประชาชนที่ตื่นรู้ในระดับพื้นที่” ย่อมเป็นรากฐานสำคัญที่จะสร้างความมั่นคงให้ประเทศชาติด้วย ซึ่งทั้งหมดจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยมีการกลไกและกระบวนการการมีส่วนร่วมในแนวราบ
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และภาคียุทธศาสตร์ด้านสังคมและสุขภาพทั้งในส่วนกลางและพื้นที่ ได้ร่วมกันขับเคลื่อนประเด็นนี้อย่างเข้มข้น ท่ามกลางวิกฤตการณ์โควิด-19 ได้ผลักดันให้เกิด “ธรรมนูญประชาชนสู้ภัยโควิด-19” หรือมาตรการประชาชนหรือกติกาชุมชนให้เกิดขึ้นทั่วทั้งประเทศ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือหนุนเสริมมาตรการและการทำงานร่วมกับภาครัฐ
แม้ขณะนี้สถานการณ์โควิด-19 จะเริ่มคลี่คลาย และมีข่าวดีจากการพัฒนาวัคซีนที่ใกล้จะสำเร็จ แต่ในอนาคตย่อมมีโอกาสที่จะเกิดโรคระบาดหรือวิกฤตสุขภาพครั้งใหม่ได้ทุกเมื่อ นั่นทำให้เราจำเป็นต้องร่วมกันคิดและช่วยกันสร้างนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม โดยใช้โควิด-19 เป็นโจทย์การเรียนรู้ ที่จะนำไปสู่การกำหนดแนวทางการรับมือวิกฤตสุขภาพครั้งต่อไป
งานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๓ ที่จะจัดขึ้นในวันที่ ๑๖ - ๑๗ ธันวาคม ๒๕๖๓ จึงเป็นก้าวสำคัญในการสร้างนโยบายสาธารณะฯ ระดับประเทศ โดยในปีนี้เราใช้ประเด็นหลัก (ธีม) “พลังพลเมืองตื่นรู้ ... สู้วิกฤตสุขภาพ” และมีระเบียบวาระเพื่อพิจารณาใน ๒ เรื่อง ได้แก่ ความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต และ การบริหารจัดการวิกฤตสุขภาพแบบมีส่วนร่วม กรณีโรคระบาดใหญ่
ผมจึงขอใช้โอกาสนี้ เชิญชวนเพื่อนภาคีทุกท่านจากทุกองค์กรเข้าร่วมและติดตามงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๓ อย่างใกล้ชิด เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบนโยบายสาธารณะ และอนาคตประเทศไทย ในฐานะที่ทุกคนเป็นหุ้นส่วนประเทศไทยโดยเท่าเทียมกัน
ด้วยรักและศรัทธาครับ...นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ