- 148 views
วันนี้สังคมไทยเปลี่ยนไปมาก เมื่อ30-40 ปีก่อน คนมีลูกมาก ยากจน แต่มาวันนี้ คนมีลูกน้อย ที่พร้อมไม่ค่อยท้อง ที่ท้องไม่ค่อยพร้อม แต่คนจนก็ยังมาก
วันนี้มีคนอายุ 60 ปีขึ้นไปร้อยละ 15แล้ว อีกเพียง 5 ปีจะมีเพิ่มเป็นร้อยละ 20 และในปี 2578 จะเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 30
สังคมไทยสูงวัย(ชรา)อย่างรวดเร็ว คนวัยแรงงานมีสัดส่วนลดลง เด็กเกิดน้อย ในขณะที่สังคมต้องการการผลิต การทำงาน และการพัฒนาทุกสาขาเพิ่มมากขึ้นไปตามโลก
การปรับระบบรองรับสังคมสูงวัยเป็นเรื่องสำคัญและเร่งด่วน ทั้งด้านเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการยืดอายุการทำงานของผู้คนออกไปอย่างเหมาะสม การจัดระบบการออมและบำนาญแห่งชาติให้คนสูงวัยมีเงินใช้ยามชราได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี ด้านสุขภาพ ได้แก่ การพัฒนาระบบรองรับการดูแลสุขภาพระยะยาวที่บ้าน ที่ชุมชน ด้านสังคม ได้แก่ การพัฒนาระบบรองรับการอยู่ร่วมกันของคนทุกช่วงวัย (inclusive society) ด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การพัฒนาระบบที่เป็นมิตรและเหมาะสมกับผู้สูงวัยและทุกกลุ่มวัย ฯลฯ
สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้พัฒนาข้อเสนอการปฏิรูประบบรองรับสังคมสูงวัยในภาพรวมไว้แล้ว สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เข้ามารับไม้ต่อ หน่วยงานของรัฐหลายหน่วยงานก็กำลังคิด กำลังทำ แต่ยังมีอะไรให้เห็นเป็นรูปธรรมไม่มากนัก
คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ก็เคยหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณา และเห็นว่าต้องมีการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อปรับระบบรองรับสังคมสูงวัยอย่างจริงจัง ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กำลังสนับสนุนให้มีโครงการและกลไกเล็กๆ ขึ้นมาทำหน้าที่ประสานสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายปฏิรูประบบรองรับสังคมสูงวัยอย่างต่อเนื่อง ในลักษณะที่เป็น “กลไกสานพลังทุกภาคส่วน” ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคสังคมทั้งเอกชนและประชาสังคม ให้ทุกฝ่ายเข้ามาร่วมกันคิดและทำงานตามแนวทางการอภิบาลแบบหุ้นส่วน ซึ่งจำเป็นอย่างมากในยุค “สังคมเครือข่าย” (Network society)
การรอเพียงกลไกภาคส่วนหนึ่งภาคส่วนใด หรือรอให้ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างทำกันต่อไป คงไม่ได้แล้ว
เพราะกว่าถั่วจะสุก งาอาจไหม้หมดเสียก่อน
ขอบคุณ clip จาก www.healthstation.in.th จัดทำโดยสภาปฏิรูปแห่งชาติ และ สสส.