- 254 views
เมื่อเร็วๆนี้ที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) นนทบุรี มีการประชุมปรึกษาหารือความก้าวหน้าและแนวทางการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติและมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน ครั้ง ที่ 4 ณ ห้องประชุมสานใจ 1 บี
นายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในฐานะประธานการประชุม กล่าวว่า การขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ “มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน” มีความคืบหน้าไปมากเนื่องจากได้รับความร่วมมือจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ผลการดำเนินการที่สำคัญคือการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ส่งเสริม สนับสนุนการใช้สารทดแทนที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ รวมทั้งการบริหารจัดการเพื่อควบคุม ลด และเลิกใช้แร่ใยหิน ซึ่งขณะนี้ ภาคีภาควิชาการโดยม. มหิดล เป็นแกนนำได้ศึกษาวิจัยจนได้ข้อเสนอแนะต่อการรื้อถอนสิ่งก่อสร้างที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบแล้ว และมีการจัดทำคู่มือการรื้อถอนเพื่อแนะนำวิธีการที่ปลอดภัยให้แก่ประชาชนด้วย
รศ.ดร. วันทนี พันธุ์ประสิทธิ์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล หัวหน้าคณะวิจัย กล่าวถึงความคืบหน้าในเรื่องนี้ว่า เพื่อสนับสนุนนโยบายสังคมไทยไร้แร่ใยหิน จึงจัดทำโครงการ “มาตรการควบคุมและขั้นตอนการรื้อถอนซ่อมแซมอาคารที่มีแร่ใยหิน” ขึ้น เพื่อศึกษาถึงแนวทางการดำเนินการรื้อถอนสิ่งก่อสร้าง โครงสร้าง อาคาร ที่มีวัสดุก่อสร้างซึ่งมีแร่ใยหินเป็นส่วนผสม อย่างปลอดภัย โดยมีคณะนักวิจัยจาก ม.มหิดล ม.สงขลานครินทร์ ม.เทคโนโลยีสุรนารี และม.อุบลราชธานี เข้าร่วมในการวิจัยด้วย สำหรับแนวทางการปฏิบัติในการรื้อถอนนั้น ครอบคลุมกระบวนการตั้งแต่ ก่อนการรื้อถอน ระหว่างการรื้อถอน และหลังการรื้อถอนเสร็จสิ้น มี 5 ลำดับขั้นตอนคือ 1.)การว่าจ้างผู้ควบคุมงาน ผู้ตรวจสอบงาน ห้องปฏิบัติการเพื่อวิเคราะห์หากไม่แน่ใจว่าวัสดุนั้นมีแร่ใยหินผสมอยู่หรือไม่และแจ้งต่อหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องในการรื้อถอน 2.) มีการอบรมผู้ปฏิบัติงานรื้อถอนก่อนดำเนินงาน 3.) การจัดเตรียมพื้นที่และวัสดุอุปกรณ์ 4.) ขั้นตอนการรื้อถอน และ 5.) การกำจัดขยะจากการรื้อถอน
จากการทดลองขั้นตอนการรื้อถอนวัสดุก่อสร้างที่มีแร่ใยหินผสมประมาณร้อยละ 10-15โดยน้ำหนัก 4 ชนิด ได้แก่ กระเบื้องมุงหลังคาซิเมนต์ชนิดลอนเดี่ยวลอนคู่ ผ้าเพดานที่ทำจากกระเบื้องแผ่นเรียบ ฝากั้นห้องที่ทำจากกระเบื้องแผ่นเรียบ และ กระเบื้องยางไวนีลปูพื้น นั้นมีขั้นตอนในการรื้อถอนที่ปลอดภัย 3 ขั้นตอนหลัก คือ 1.) การเตรียมการ หมายถึงการเตรียมคน สถานที่ และเครื่องมือต่างๆ สำหรับการรื้อถอน 2.) การรื้อถอนวัสดุก่อสร้างที่มีแร่ใยหินผสม ประกอบด้วยวิธีการทำให้เปียกเพื่อลดการฟุ้งกระจายของแร่ใยหิน การสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล และ 3.) การกำจัดขยะจากการรื้อถอน
“คณะผู้วิจัยเชื่อว่า หากกำหนดให้นำแนวทางการรื้อสิ่งก่อสร้างที่มีแร่ใยหินนี้ ไปใช้โดยสมัครใจ จะมีผู้ปฏิบัติตามน้อยมาก เนื่องจากคนส่วนใหญ่ยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับอันตรายจากแร่ใยหิน แม้มีผู้ทำตามขั้นตอนที่แนะนำ ก็จะเผชิญกับความยากลำบากในการหาพื้นที่ฝังกลบที่ได้รับอนุญาต ดังนั้นจึงต้องกำหนดเป็นกฎหมายไว้ให้ชัดเจนให้ผู้เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติ เราเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมโยธาธิการ กระทรวงมหาดไทย กรมสวัสดิการแรงงาน กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ออกกฎหมายและบังคับใช้เพื่อควบคุมการรื้อถอน ซึ่งใน พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ.2552 และ พ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ.2535 ให้อำนาจในการออกประกาศเพื่อบังคับใช้แนวปฏิบัติได้ และ ต้องประสานกับกระทรวงมหาดไทย ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำแนวปฏิบัตินี้ไปเผยแพร่แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้งนี้อปท.ก็สามารถออกข้อบัญญัติเพื่อบังคับใช้ได้เช่นกัน
ในเบื้องต้นคณะผู้วิจัยสนับสนุนให้ยกเลิกการใช้วัสดุที่มีแร่ใยหิน กำหนดให้แร่ใยหินเป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4และกำหนดให้แสดงสัญลักษณ์ ACMs (Asbestos containing material) ในวัสดุที่มีแร่ใยหินทุกชนิด เพื่อนำไปสู่การบัญญัติกฎหมายของหน่วยงานต่างๆได้” รศ.ดร. วันทนี กล่าว
ด้านนางสุมนมาลย์ กาญจนะ สำนักออกแบบ สำนักการโยธา กทม.กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการให้ความรู้และเตรียมความพร้อมแก่ผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างเป็นสิ่งจำเป็นมาก กระทรวงสาธารณสุขควรจะเผยแพร่แนวปฏิบัตินี้ออกไปล่วงหน้าก่อนบังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้เกิดความตื่นตัว และมีการเตรียมตัวเพื่อปฏิบัติตาม หากบังคับใช้ทันที อาจไม่ได้ผล เนื่องจากจะไม่ได้รับความร่วมมือ เพราะมองเป็นเรื่องยุ่งยากหรือเพิ่มภาระ
นพ. ณรงค์ศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย ว่า “สำหรับยุทธศาสตร์อื่นๆนั้น ก็มีความคืบหน้าในการดำเนินงาน เช่น กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้จัดจ้างที่ปรึกษาทำการศึกษาวิจัยเพื่อนำข้อมูลมาใช้ประกอบในการจัดกระบวนการยกเลิกการใช้แร่ใยหิน ในกระเบื้องมุงหลังคา กระเบื้องยาง ท่อซีเมนต์ส่งน้ำ กระเบื้องแผ่นเรียบ และผ้าเบรก คลัช เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะทราบผลการศึกษาภายใน 6 เดือน ซึ่งที่ประชุมนี้จะติดตามผลการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ออกประกาศให้ผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบเป็นสินค้าควบคุมฉลากไปแล้วรวม 2 ฉบับ และได้เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลความรู้แก่ผู้บริโภคด้วย ด้านสมาพันธ์อาชีวอนามัยความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ก็ร่วมกับภาคีเครือข่ายอาทิ แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค จัดประชุมเพื่อพัฒนามาตรการเรื่องการแก้ไขและป้องกันปัญหาโรคเหตุแร่ใยหิน ซึ่งจะดำเนินการในรูปโครงการวิจัยเร่งด่วนสำหรับการเฝ้าระวัง และติดตามกลุ่มเสี่ยงที่สัมผัสแร่ใยหินในประเทศไทยต่อไป”
สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9140