สช.เดินหน้า 6 ยุทธศาสตร์ เปิดทาง-วางระบบดูแลผู้ป่วยระยะท้าย | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

    สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น วางระบบดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิต พร้อมเสนอ 6 ยุทธศาสตร์ เป็นวาระระดับชาติ
 
   เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดการประชุมสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น เพื่อพิจารณาร่าง แผนยุทธศาสตร์ระดับชาติว่าด้วยการสร้างเสริมสุขภาวะในระยะท้ายของชีวิต พ.ศ.2556-2559” (National Strategic Plan on Health Promotion for Good Death 2013-2016) ครั้งที่ 1 โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมกว่า 100 คน เข้าร่วมให้ข้อเสนอแนะ ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพ
 
   นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล ประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นฯ กล่าวว่า แนวคิดเรื่องการสร้างเสริมสุขภาวะในระยะท้ายของชีวิต ถือเป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทย แม้จะมีหลายองค์กรได้ดำเนินการเรื่องนี้มาระยะหนึ่ง แต่คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ผลักดันให้แนวทางดังกล่าวไปสู่สาธารณชนในวงกว้าง ซึ่งจะต้องอาศัยทั้งระบบบริการสุขภาพและระบบสังคมรองรับเรื่องนี้ จึงเห็นควรให้ริเริ่มจัดทำยุทธศาสตร์ในระดับชาติ เพื่อรองรับปัญหาของสังคมไทยที่ต้องเผชิญกับโรคใหม่ๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคเอดส์ โรคร้ายแรงต่างๆ เป็นต้น อันเป็นต้นเหตุของการทุกข์ทรมานก่อนที่จะเสียชีวิต รวมทั้งสัดส่วนของผู้สูงอายที่ปัจจุบันมีถึง 11-12% ของประชากรทั้งประเทศ และกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เหล่านี้ทำให้เกิดความต้องการการดูแลเป็นพิเศษเพื่อให้จากไปอย่างสงบสมศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์
 
   ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐและเอกชนควรมีการจัดระบบดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิตอย่างเป็นระบบ โดยมีการดำเนินการที่สำคัญคือ การบริบาลแบบประคับประคองในระยะท้ายของชีวิต (Palliative Care) ทั้งการพัฒนาบุคลากรทางสาธารณสุข พัฒนาสถานพยาบาล และการดูแลที่บ้าน รวมถึงพัฒนาระบบการเงินการคลัง เครื่องมือทางการแพทย์ และยา ซึ่งสำคัญมากสำหรับทำให้ผู้ที่อยู่ในระยะท้ายของชีวิตจากไปอย่างสงบ
 
    “การบริบาลแบบประคับประคองฯ นี้ ผู้ให้บริการ ผู้ป่วย และญาติ จะต้องร่วมกันวางแผนการดูแลล่วงหน้าให้เป็นไปตามความปรารถนาครั้งสุดท้ายของผู้ป่วย ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก” ประธานคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นระบุ
 
   ด้าน นพ.อุกฤษฎ์ มิลินทางกูร รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ใน ยุทธศาสตร์ระดับชาติว่าด้วยการสร้างเสริมสุขภาวะในระยะท้ายของชีวิต พ.ศ.2556-2559 มุ่งเน้นให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการบริการที่ดีจนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายของชีวิต รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจถึงแนวคิดดังกล่าวให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้นในสังคมไทย ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ได้แก่
 
   ยุทธศาสตร์ที่ 1 : การสร้างทัศนคติที่ดีและการสร้างความรู้ความเข้าใจ มุ่งเน้นการสร้างความเข้าใจของสังคมเรื่องการตายดีและการบริบาลแบบประคับประคอง ผ่านช่องทางการสื่อสารอย่างเป็นระบบ
 
   ยุทธศาสตร์ที่ 2 : การสร้างและจัดการความรู้ โดยพัฒนาระบบการศึกษา การวิจัยและพัฒนา การสร้างระบบจัดการความรู้ สร้างคลังความรู้ และถ่ายทอดประสบการณ์
 
   ยุทธศาสตร์ที่ 3 : การพัฒนารูปแบบและระบบบริการสาธารณสุขเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะในระยะท้ายของชีวิต มุ่งพัฒนาระบบการบริบาลผู้ป่วยแบบประคับประคอง ทั้งในสถานบริการของภาครัฐและเอกชน รวมทั้งระบบสุขภาพของชุมชน และการพัฒนาระบบยาที่เกี่ยวข้อง
 
   ยุทธศาสตร์ที่ 4 : การพัฒนาศักยภาพและกำลังคน ด้วยการเพิ่มจำนวนบุคลากรสาธารณสุขและเครือข่าย ที่ผ่านการศึกษาและฝึกอบรม โดยมีศูนย์ฝึกอบรมที่เกี่ยวกับการดูแลแบบประคับประคองในทุกภาคของประเทศ มีหลักสูตรที่รับรองโดยองค์กรวิชาชีพ
 
   ยุทธศาสตร์ที่ 5 : การพัฒนาและบูรณาการเทคโนโลยีข้อมูลสารสนเทศในระบบการบริบาลแบบประคับประคอง เพื่อสร้างความเชื่อมโยง ในการแบ่งปันข้อมูล-ข่าวสารร่วมกัน ของเครือข่ายและสถานบริการสาธารณสุข รวมทั้งการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการส่งต่อผู้ป่วย การบริหารจัดการยาและการให้คำปรึกษา
 
   ยุทธศาสตร์ที่ 6 : การผลักดันนโยบาย กลไก และกฎหมายรองรับการมีสุขภาวะในระยะสุดท้ายของชีวิต โดยมุ่งให้เกิดนโยบาย กฎหมาย กฎระเบียบ และข้อบังคับที่รองรับการจัดบริการ รวมถึงการเสนอให้เป็นวาระระดับชาติ
 
   ทั้งนี้ ในการประชุมปรากฏว่าได้รับความสนใจแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างหลากหลาย อาทิ การเสนอให้กำหนดคำนิยามที่ชัดเจนที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยในระยะสุดท้ายของชีวิตว่า การกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสมในการเริ่มต้นให้บริการ การดูแลครอบคลุมผู้ป่วยชาวต่างชาติหรือไม่ การสนับสนุนองค์กรทางศาสนาเข้ามามีส่วนร่วม และสนับสนุนการแก้ปัญหาการเข้าถึงยา อาทิ มอร์ฟีนเพื่อลดการทรมานในผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย รวมทั้งให้มีการระดมสมองอย่างต่อเนื่องในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในปีนี้ด้วย
 

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9140

รูปภาพ