- 37 views
เวทีประชุมคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติชุดใหม่คึกคัก เปิดพื้นที่สาธารณะรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชนและภาคีเครือข่ายจากทั่วประเทศแล้ว มุ่งสานพลังผลักดันนโยบายสร้างเสริมสุขภาวะระดับชาติ ก่อนการประชุมใหญ่ปลายปี 2556 ตั้งเป้าเน้นปัญหาคนระดับล่างไปสู่หน่วยงานภาครัฐ หลังสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่5 ที่ผ่านมาประสบความสำเร็จงดงาม
เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2556 คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) พ.ศ.2556 จัดการประชุมครั้งที่ 1 ณ โรงแรมบัดดี้ โอเรียนทอล ริเวอร์ไซด์ ปากเกร็ด จ.นนทบุรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันวางแผนกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 6 ในปีนี้ หลังจากคจ.สช.ประสบความสำเร็จอย่างสูง ในการจัดประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติอย่างต่อเนื่องมาแล้วถึง 5 ครั้ง โดยครั้งที่ 5 ล่าสุด ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 18-20 ธันวาคม 2555 ที่ศูนย์การประชุมและนิทรรศการ ไบเทค บางนา กทม. มีผู้แทนจาก 234 กลุ่มภาคีเครือข่าย จำนวน 1,262 คนเข้าร่วม สามารถผลักดันวาระนโยบายด้านสุขภาพที่สำคัญจำนวน 11 วาระ เสนอต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ที่ประชุม คจ.สช.ชุดใหม่ มี นางศิรินา ปวโรฬารวิทยา กรรมการสุขภาพแห่งชาติ ดำรงตำแหน่งประธานอีกหนึ่งสมัย ต่อเนื่องจากปี 2555 ปัจจุบันนางศิรินา ถือว่ามีบทบาทโดดเด่นในฐานะนักธุรกิจผู้อุทิศเวลาทำงานเพื่อสังคม ควบคู่กับการดำรงตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์ บริษัท บูติคนิวซิตี้ จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการนักธุรกิจสตรี หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
ขณะที่รองประธานคจ.สช.จำนวน 5 คน ประกอบด้วย รศ.ดร.ดรุณี รุจกรกานต์ คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม , นายเจษฎา มิ่งสมร กรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ภาคประชาชน เขต 3 และผู้ช่วยเลขานุการเครือข่ายองค์กรชุมชนเพื่อการปฏิรูป , นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเวชกรรมป้องกัน กระทรวงสาธารณสุข และอดีตผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข , นายสุรเดช เดชคุ้มวงศ์ กรรมการสุขภาพแห่งชาติ ภาคประชาชน เขต 8 และเลขาธิการมูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตร , รศ.ดร.สุพัตรา ชาติบัญชาชัย อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ สาขาวิชาเภสัชกรรมชุมชน มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ที่ปรึกษาคจ.สช. 5 คน ประกอบด้วย รศ.ดร.ชื่นฤทัย กาญจนจิตรา กรรมการสุขภาพแห่งชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิชาการและอดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล , นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ , พญ.ประนอม คำเที่ยง สาธารณสุขนิเทศ กระทรวงสาธารณสุข , นายพิชัย ศรีใส ผู้ประสานงานสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชนใต้ตอนล่าง , นายมานิจ สุขสมจิตร กรรมการสุขภาพแห่งชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสื่อสารมวลชน , นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านควบคุมป้องกันโรค กระทรวงสาธารณสุข และผู้เชี่ยวชาญทำงานร่วมกับองค์การอนามัยโลก
กรรมการคจ.สช.จำนวน 18 คน อาทิ นางกัลยา เอี่ยวสกุล นักพัฒนาชุมชนอิสระและแกนนำสมัชชาสุขภาพจังหวัดปัตตานี , รศ.ดร.กาสัก เต๊ะขันหมาก ประธานการบัณฑิตศึกษา สาขายุทธศาสตร์การพัฒนา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎเทพสตรี , นพ.ชวินทร์ ศิรินาค รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร , นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และนายธีรยุทธ สุคนธวิทย์ นายกสมาคมคนพิการ จังหวัดนนทบุรี เป็นต้น
ที่ประชุมคจ.สช. ได้ให้ความเห็นชอบให้มีการปรับปรุงสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 6 ให้มีความสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น โดยขยายช่องทางที่มาของข้อเสนอเชิงนโยบาย โดยเพิ่มจากการที่เปิดรับจากหน่วยงานภาคีเครือข่าย ให้มีช่องทางใหม่ที่สามารถรับข้อเสนอจากกลไกต่าง ๆ ที่ทำงานอยู่ตาม พรบ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 โดยเฉพาะการทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่ผ่านมาได้ นอกจากนั้นยังมุ่งเน้นการขยายพื้นที่สาธารณะเพื่อรับฟังความคิดเห็นของภาคีเครือข่ายในระดับชุมชนมากกว่าปี 2555 ซึ่งจะทำให้ข้อเสนอและแนวทางปฏิบัติไปสู่หน่วยงานภาครัฐ ตรงกับความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง ตามแนวทางที่สำนักงานสุขภาพแห่งชาติ(สช.) ได้มุ่งเน้นให้เกิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อจัดทำนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพจากระดับล่างขึ้นสู่ระดับบน แตกต่างจากทิศทางเดิมที่ภาครัฐเป็นแกนหลักในการวางยุทธศาสตร์และผลักดันโครงการ
คจ.สช.ยังเห็นชอบกำหนดการจัดประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 6 พ.ศ. 2556 ระหว่างวันที่ 18-20 ธันวาคม 2556 และมีมติเดินหน้ากระบวนการรับฟังข้อเสนอและรวบรวมประเด็นปัญหาด้านสุขภาพจากภาคีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจากทั่วประเทศ ทุกภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน องค์กรวิชาชีพ ภาคประชาสังคม และประชาชนทั่วไป ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดเอกสารการร่วมเสนอนโยบายสาธารณะ ได้จาก www.samatcha.org ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ประเด็นนโยบายสาธารณะที่ถูกนำเสนอ จะต้องมีความกระชับ ชัดเจน เป็นรูปธรรม มีข้อมูลสนับสนุนภายในกำหนดเวลา ครอบคลุม 3 เรื่องหลักได้แก้ 1. ประเด็นปัญหาด้านสุขภาวะที่ภาคีเครือข่ายเห็นว่ามีความสำคัญ 2.ประเด็นที่เชื่อมโยงกับการทำงานของคสช.และกลไกที่เกี่ยวข้อง และ 3. ประเด็นที่พัฒนาจากเครื่องมือต่างตามพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ หลังจากนั้นคจ.สช.จะมีการตั้งคณะอนุกรรมการวิชาการขึ้นมา เพื่อกลั่นกรองข้อเสนอประเด็นนโยบายที่ได้รับมาทั้งหมด โดยพิจารณาจากความพร้อมของเอกสารและกลไกที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นขอบเครือข่ายในระดับพื้นที่ ก่อนผลักดันเข้าสู่เวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 6ต่อไป
สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9140