สช. เสนอ ครม. ยืนหลักการสังคมไทยต้องปลอดแร่ใยหิน สุขภาพแลกด้วยเงินไม่ได้ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   เลขาธิการคสช.ย้ำสังคมไทยต้องไร้แร่ใยหินตามมติคณะรัฐมนตรีมาตรการขับเคลื่อนสังคมไทยไร้แร่ใยหิน เป็นมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกิดจากกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และตามข้อมูลทางวิชาการชี้ชัดว่าแร่ใยหินทุกชนิดเป็นสารก่อมะเร็ง เสนอรัฐแบนนำเข้า ผลิตกระเบื้องมุงหลังคาใยหินภายใน ๒ ปี พร้อมสร้างระบบเฝ้าระวัง วินิจฉัยและและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ
 
   ที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๕๖ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ แถลงข่าวเรื่อง “สังคมไทยต้องไร้แร่ใยหิน” ณ ห้องประชุมสุชน ๓ ชั้น ๓ อาคารสุขภาพแห่งชาติ ว่าจากผลการดำเนินการ มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน ซึ่งเป็นมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๕๕๓ ที่ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพทั่วประเทศ หลังคณะรัฐมนตรีเห็นชอบมตินี้ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๔ หน่วยงานทั้งภาครัฐ อาทิ กระทรวงสาธารณสุข สคบ. เครือข่ายนักวิชาการและเครือข่ายประชาชนทั้งจากภาคแรงงานและผู้บริโภค ได้ร่วมกันขับเคลื่อนอย่างแข็งขัน และมีกระบวนการทำงานด้านวิชาการศึกษาถึงผลกระทบจากการใช้แร่ใยหินที่จะมีต่อประชาชนอย่างรอบด้าน ตามฐานข้อมูลทางวิชาการทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งชี้ชัดว่าแร่ใยหินทุกชนิดเป็นสารก่อมะเร็ง อันตรายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะข้อมูลขององค์การอนามัยโลกและองค์กรวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศระบุว่า แร่ใยหินเป็นสารก่อมะเร็งที่คร่าชีวิตคนทั่วโลกกว่า ๙๐,๐๐๐ รายต่อปี และมีมากกว่า ๕๐ ประเทศทั่วโลกที่ยกเลิกการใช้ไปแล้ว แม้ในประเทศไทยจะยังมีข้อมูลผู้เสียชีวิตไม่มากนักแต่ก็เริ่มปรากฏหลักฐานผู้เสียชีวิตแล้วเช่นเดียวกัน ขณะเดียวกันมีข้อมูลว่าประเทศผู้ผลิตและส่งออกแร่ใยหินทั้งแคนาดา บราซิล จีน รัสเซีย คาซัลสถาน ล้วนลดการใช้แร่ใยหินภายในประเทศลงมาก
 
   ทั้งนี้ จากมติครม.๑๒ เมษายน๒๕๕๔ ที่มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอแผนและกรอบเวลาการยกเลิกการนำเข้า ผลิตและจำหน่ายแร่ใยหินและผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบนั้น จากการติดตามผลการดำเนินงานพบว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ว่าจ้างนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็นที่ปรึกษาจัดทำร่างแผน เตรียมยกเลิกการนำเข้าการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ ๕ ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ กระเบื้องแผ่นเรียบ กระเบื้องยางปูพื้น ผ้าเบรกและคลัทช์ ท่อซีเมนต์ใยหิน และกระเบื้องมุงหลังคาเพื่อสรุปเสนอเป็นแผนขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ขณะที่เมื่อปลายปี ๒๕๕๕ กระทรวงสาธารณสุขได้จัดตั้งคณะกรรมการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพจากแร่ใยหิน ซึ่งสร้างความสงสัยในเครือข่ายนักวิชาการว่า ขณะที่องค์การสากลด้านสุขภาพ คือองค์การอนามัยโลกประกาศจุดยืนชัดเจนมาตลอดว่า “แร่ใยหินทุกชนิดเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ และไม่มีระดับความปลอดภัยใดใดจากการรับสัมผัสแร่ใยหิน ไม่ว่าจะเป็นแร่ใยหินชนิดใด วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันไม่ให้เกิดโรคจากใยหินคือ การเลิกใช้แร่ใยหินทุกชนิด” แต่กระทรวงสาธารณสุขที่มีหน้าที่ดูแลสุขภาพคนไทยยังต้องใช้เวลาศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพอยู่อีก ขณะที่สภาที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ก็ได้จัดทำข้อเสนอแนะ สนับสนุนการขับเคลื่อนสังคมไทยไร้แร่ใยหินเสนอต่อครม. และคณะกรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา ได้มีข้อสรุปหลังเชิญผู้แทนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปชี้แจงถึงผลกระทบของแร่ใยหินต่อสุขภาพว่า ประเทศไทยต้องยกเลิกการใช้แร่ใยหินโดยไม่ล่าช้า ไม่ควรรอให้จำนวนผู้ป่วยในประเทศเพิ่มขึ้นก่อน กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯและสภาวิจัยแห่งชาติก็ให้การสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีวัสดุทดแทนใยหินอย่างเต็มที่ ทั้งหมดนี้ เป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นถึงความตื่นตัวของทุกภาคส่วน ต่อมาตรการดูแลสุขภาวะของประชาชนที่ต้องปลอดภัยจากอันตรายแร่ใยหิน ตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ
 
    นพ.อำพล กล่าวว่า ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้เสนอความเห็นไปยังสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาของครม. ต่อแผนและกรอบระยะเวลาในการยกเลิกการนำเข้า ผลิตและจำหน่ายแร่ใยหินและผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ ใน ๕ ผลิตภัณฑ์ ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ โดยย้ำว่าแม้การดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรีในเรื่องนี้จะยังล่าช้ากว่ากำหนดเวลาตามยุทธศาสตร์ ที่กำหนดให้ประเทศไทยไร้แร่ใยหินทุกชนิดภายในปี ๒๕๕๕ แต่ ครม.ควรเร่งรัดดำเนินการ และยืนยันหลักการสังคมไทยปลอดการใช้แร่ใยหินโดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์ที่มีวัตถุดิบอื่นหรือใช้ผลิตภัณฑ์อื่นทดแทนได้แล้ว เช่น กระเบื้องมุงหลังคา ที่ขณะนี้มีผลิตภัณฑ์ปลอดแร่ใยหินจำหน่ายอย่างแพร่หลายแล้ว
 
   สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จึงเสนอให้กำหนดกรอบระยะเวลาในการยกเลิกการนำเข้า ผลิต และจำหน่ายภายใน ๒ ปี สำหรับผลิตภัณฑ์กระเบื้องมุงหลังคาลอนใหญ่ และลอนคู่ ตามระยะเวลาที่ทีมนักวิจัยของ มสธ.เสนอ นพ.อำพล มีข้อสังเกตว่า เหตุใดกระทรวงอุตสาหกรรมจึงใช้เหตุผลเรื่องการใช้เวลาศึกษาผลกระทบของแร่ใยหินต่อสุขภาพเพิ่มเติม ไปเสนอเพิ่มกรอบเวลาให้กับผลิตภัณฑ์นี้จาก ๒ ปีเป็น ๕ ปี ทั้งที่มีหลักฐานผลกระทบที่ชัดเจนดังกล่าวแล้ว ในขณะที่กระเบื้องมุงหลังคาลอนใหญ่ ลอนคู่เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณการใช้งานสูงมาก หากปล่อยให้ใช้ใยหินในการผลิตต่อไป อาจก่อให้เกิดอันตรายจากฝุ่นใยหินที่ฟุ้งกระจายไปในวงกว้าง มีผลกระทบทั้งต่อคนงาน แรงงานก่อสร้างและประชาชนโดยทั่วไป อีกทั้งปัจจุบันนี้มีเอกชนบางราย ผลิตกระเบื้องมุงหลังคาลอนใหญ่ และลอนคู่ โดยใช้วัสดุทดแทนแร่ใยหินออกจำหน่ายแล้วด้วย นอกจากนี้ ยังได้เสนอให้มีการพัฒนาระบ บและมาตรการเฝ้าระวัง วินิจฉัย และป้องกันการสัมผัสแร่ใยหินของประชาชน ตลอดจนมีมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากแร่ใยหินด้วย
 

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9140

รูปภาพ