- 68 views
วงถกคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เห็นพ้องใช้กลไกสมัชชากรุงเทพฯ แก้ปัญหา ‘หาบเร่แผงลอย’ เพื่อหาข้อตกลงอยู่ร่วมกันแบบ “ดีทุกฝ่ายได้ทุกคน” พร้อมตั้ง “สุวิทย์ เมษินทรีย์” เป็นประธานกรรมการสังคายนายกร่างธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ มุ่งปรับ “เข็มทิศด้านสุขภาพของประเทศ” ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง “อนุทิน” มั่นใจ สมัชชาสุขภาพจังหวัดที่จัดขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศ จะสร้างแรงสั่นสะเทือนให้คนไทยตระหนักรู้ด้านสุขภาพมากขึ้น ช่วยรับมือโควิด-19 ระลอกใหม่ได้ ด้าน “นพ.ประทีป” ระบุ สมัชชาสุขภาพ กทม. 26 พ.ย.นี้ จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตคนกรุง
ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2563 ซึ่งมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธาน คสช. เป็นประธาน มีมติรับทราบความคืบหน้าการจัดสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 26 พ.ย.นี้ เพื่อแสวงหาฉันทมติของคนกรุงเทพฯ ต่อการแก้ไขปัญหาหาบเร่แผงลอยและการใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกัน รวมถึงการจัดทำธรรมนูญสุขภาพกรุงเทพมหานคร ที่จะเป็นกรอบการพัฒนานโยบายและแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนร่วมกันของคนกรุงเทพฯ นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี
พร้อมกันนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานร่วมกันระหว่างกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ที่จะร่วมกันสนับสนุนให้เกิดการยกระดับการจัดสมัชชาสุขภาพของทุกจังหวัดขึ้นทั่วประเทศตลอดเดือนพฤศจิกายนนี้ ภายใต้ประเด็นปัญหาของแต่ละจังหวัดและการรับมือกับการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 โดยมีหัวข้อร่วม “พลังพลเมืองตื่นรู้ ... สู้วิกฤตสุขภาพ” และการจัดงาน “สัปดาห์ขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” ระหว่างวันที่ 2 - 14 ธันวาคมนี้ ก่อนที่จะถึงวันเปิดประชุมใหญ่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 13 ที่จะมีผู้แทนหน่วยงานราชการ ธุรกิจเอกชน สถาบันวิชาการ และภาคประชาชนทั่วประเทศเข้าร่วมหลายพันคนในวันที่ 16-17 ธันวาคม 2563
นายอนุทิน เปิดเผยว่า การประชุม คสช. หรือ “บอร์ดสุขภาพของประเทศ” ในวันนี้ กรรมการทุกท่านเห็นพ้องร่วมกันถึงประโยชน์ของการยกระดับการจัดสมัชชาสุขภาพจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อหยิบยกเอาปัญหาและประเด็นการพัฒนาของแต่ละจังหวัด รวมทั้งการเตรียมรับมือกับการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้แลกเปลี่ยนหาข้อยุติร่วมกัน ถือเป็นการสร้างวาระทางสังคมและแรงสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ ที่ช่วยให้เกิดความตื่นรู้ด้านสุขภาพตามบริบทและปัญหาที่แตกต่างของคนในแต่ละพื้นที่ด้วย
“การจัดสมัชชาสุขภาพจังหวัดอย่างพร้อมเพรียงทั่วประเทศในเดือนพฤศจิกายนนี้ สอดคล้องกับนโยบายของ คสช. ที่มุ่งเน้นการเชื่อมโยงระหว่างสมัชชาสุขภาพแห่งชาติกับสมัชชาสุขภาพในระดับพื้นที่ โดยจะหยิบยกประเด็นของพื้นที่นั้นๆ ขึ้นมาเป็นตัวตั้งและเชื่อมโยงกับประเด็นใหญ่ระดับชาติ ซึ่งยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะเป็นไปอย่างสอดรับกับหลักการกระจายอำนาจ และทิศทางการปฏิรูประบบต่างๆ ที่จะนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำและถมช่องว่างทางสังคมด้วย” นายอนุทิน กล่าว
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ที่ประชุม คสช. ยังได้ติดตามความคืบหน้าของการจัดสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 26 พฤศจิกายนนี้ เพราะถือเป็นก้าวสำคัญที่จะแสวงหาจุดร่วมและแนวทางการอยู่ร่วมกันของคนกรุงเทพฯ ที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะเรื่องหาบเร่แผงลอยที่มุมหนึ่งคือเสน่ห์ของกรุงเทพฯ และเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจฐานราก อีกมุมหนึ่งถูกมองว่าเป็นปัญหาการใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกันที่จำเป็นต้องจัดระเบียบ ดังนั้นงานสมัชชาสุขภาพกรุงเทพฯ ครั้งนี้จะเป็นการเปิดประชุมให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายได้พูดคุยแบบเปิดใจกัน ด้วยความเท่าเทียมกัน ใช้ข้อมูลและความรู้เป็นหลัก โดยมีจุดมุ่งหมายคือการเดินไปข้างหน้าด้วยกันแบบ “ดีทุกฝ่ายได้ทุกคน” และที่ประชุม คสช. ยังมีมติให้แต่งตั้งคณะกรรมการสนับสนุนการจัดและขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพเมืองพัทยา เพราะเมืองพัทยาเป็นเขตปกครองพิเศษและเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของไทย
“อย่างที่ทราบดีว่ากรุงเทพฯ และเมืองพัทยา เป็นมหานครและเมืองที่เติบโตอย่างรวดเร็ว เต็มไปด้วยความหลากหลายของผู้คนและวัฒนธรรม การจัดทำนโยบายจากส่วนกลางเพื่อตอบสนองความต้องการของทุกฝ่ายจึงเป็นเรื่องที่ท้าทาย ที่ประชุม คสช. วันนี้ จึงเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าการเกิดขึ้นของสมัชชาสุขภาพกรุงเทพฯ และเมืองพัทยา จะเป็นเวทีการมีส่วนร่วมที่เข้ามาช่วยเสริมแรงนโยบายรัฐให้มีประสิทธิภาพขึ้น เพราะเป็นการจัดทำนโยบายบนความเห็นชอบร่วมกันของทุกภาคส่วน จึงเชื่อว่าทุกคนจะยอมรับและจะร่วมกันขับเคลื่อนมติหรือข้อตกลงที่ทุกคนร่วมกันจัดทำขึ้นมา” นพ.ประทีป กล่าว
นพ.ประทีป กล่าวอีกว่า การประชุมวันนี้ ยังมีเรื่องเพื่อพิจารณาที่สำคัญอันเป็นผลสืบเนื่องจาก พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ที่กำหนดให้ คสช. มีหน้าที่จัดทำธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ที่เปรียบได้กับ “เข็มทิศด้านสุขภาพของประเทศ” ใช้เป็นกรอบและแนวทางในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการดำเนินงานด้านสุขภาพของประเทศ และมีผลผูกพันต่อหน่วยงานของรัฐและองค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
“แม้ว่าประเทศไทยจะมีธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติมาแล้ว 2 ฉบับ แต่เพื่อให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงและสอดคล้องกับสถานการณ์สุขภาพในปัจจุบัน จึงต้องมีการทบทวนธรรมนูญฯ ทุก 5 ปี ซึ่งที่ประชุม สช. ได้มีมติแต่งตั้ง ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีต รมว.กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานจัดทำธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ต่อไป” เลขาธิการ คสช. กล่าว
กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147