12 องค์กรจับมือประสานแนวรบ ขับเคลื่อนธรรมนูญชุมชน สู้ภัยโควิด19 | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   ศูนย์ประสานปฏิบัติการรวมพลังพลเมืองตื่นรู้ฯ สร้างฐานปฏิบัติการสานพลังเครือข่ายทุกฝ่าย สร้างกลไกประสาน หนุนช่วย กำหนดทิศทาง รวมถึงขับเคลื่อนชุมชนสร้างธรรมนูญชุมชนร่วมสู้ภัยโควิด19 อย่างยั่งยืน
 
   นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และหัวหน้าศูนย์ประสานปฏิบัติการรวมพลังพลเมืองตื่นรู้ ช่วยชาติสู้ภัยโควิด19 (ศรค.) ให้สัมภาษณ์ผ่านคลื่นความคิด FM 96.5 เกี่ยวกับสถานการณ์ว่า มีทั้งในส่วนที่ดีใจและกังวลใจ โดยเฉพาะเรื่องการผ่อนคลายมาตรการด้านเศรษฐกิจและสังคมทำให้เห็นสัญญาณการ์ดตกของประชาชน ซึ่ง นพ.ปรีดา ห่วงว่าหากเรายังไม่ตระหนักและกลับมาระมัดระวังให้ดีอาจเกิดการแพร่ระบาดระลอก 2 ได้ จึงเรียกร้องให้ประชาชนดูแลสุขภาพ ป้องกัน และรักษาระยะห่างทางสังคมต่อไป
 
   “สถานการณ์การระบาดในภาพรวมดีขึ้นเรื่อยๆ จากมาตรการภาครัฐ การออกกฎระเบียบต่างๆ เช่น การประกาศเคอร์ฟิว กึ่ง Lockdown การร่วมมือที่ยอดเยี่ยมของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นความเข้มแข็งของบุคลากรทางการแพทย์ การปฏิบัติตัวในชีวิตประจำวันของประชาชน สถานการณ์ ณ เวลานี้จึงถือว่าน่าจะไว้ใจได้” นพ.ปรีดากล่าว
 
   นพ.ปรีดา ยังกล่าวในฐานะหัวหน้าศูนย์ประสานปฏิบัติการรวมพลังพลเมืองตื่นรู้ ช่วยชาติสู้ภัยโควิด19 (ศรค.) ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อต้นเดือนเมษายนว่า แม้ทุกภาคส่วนจะร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง แต่ทางคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เห็นว่า สช. ควรมีบทบาทประสานงานเพื่อให้กลไกและมาตรการต่างๆ มีความคล่องตัวขึ้น ศรค. จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการประสานงานองค์กรภาคี 12 องค์กร ซึ่งล่าสุดมีพันธมิตรร่วมเป็น 26 องค์กร ทั้งในสายสุขภาพ เช่น กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เครือข่ายหมออนามัย สายงานชุมชนอย่างสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์กรมหาชน) (พอช.) เครือข่ายสภาองค์กรชุมชน สายสื่อมวลชนอย่างไทยพีบีเอส หน่วยงานจากกระทรวงมหาดไทย เครือข่ายสงฆ์ และภาคประชาชน เพื่อร่วมกันสนับสนุนและกำหนดทิศทางลงไปยังหน่วยต่างๆ ที่แต่ละฝ่ายรับผิดชอบอย่างสอดประสานกัน
 
   “ผมกับทีมงานและผู้ประสานงานจากทุกองค์กรร่วมมือกัน มอบทิศทาง ทำหน้าที่ประสานกิจกรรมให้ขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน อำนวยความสะดวกประชาชนในพื้นที่ เช่น สมัชชาสุขภาพจังหวัด คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน สภาองค์กรชุมชน คณะกรรมการกองทุนสุขภาพของ สปสช.ที่ทำงานใกล้ชิดกับท้องถิ่น และเครือข่ายประชาชน เพื่อให้เกิดการสานพลังในระดับพื้นที่ ทำให้ระบบการช่วยเหลือ กักตัว การเกื้อกูลกันเกิดผลสำเร็จจนเป็นที่ชื่นชมของนานาชาติ” นพ.ปรีดากล่าว
 
   นอกจากนี้ เป้าหมายสำคัญอีกประการหนึ่งของ ศรค. คือ การสนับสนุนให้แต่ละชุมชนสร้างธรรมนูญสุขภาพขึ้นสำหรับเป็นกติกาการอยู่ร่วมกันและช่วยเหลือดูแลคนในชุมชนจากโควิด19 หัวหน้าศูนย์ ศรค. ยกตัวอย่างกิจกรรม ‘ภารกิจปิ่นโตตุ้มตุ้ย’ ของศูนย์บ่อยางสงขลาพึ่งพาตนเอง จังหวัดสงขลาที่เปิดครัวชุมชนตั้งแต่ 6.00-12.00 น. และให้เจ้าของปิ่นโตโดยเฉพาะกลุ่มคนเปราะปางจำนวน 400 กว่าคน นำปิ่นโตมาวาง ณ จุดนัดหมายในช่วงเวลา 6.00-7.00 น. แล้วแม่ครัวบรรจุอาหารที่สะอาดและอร่อยพร้อมให้เจ้าของปิ่นโตมารับตั้งแต่ 10.00-12.00 น. โดยปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด19 อย่างเคร่งครัด
 
   “ชุมชนท้องถิ่น คนในชุมชนจะรู้ดีที่สุด การร่วมมือร่วมใจและสนับสนุนมาตรการของรัฐ แต่ละพื้นที่จึงคิดกันเองจนเกิดข้อตกลงชุมชน ธรรมนูญสุขภาพ เนื่องจากเรามีเครือข่ายของพี่น้องประชาชนเป็นกลุ่มก้อนในทุกชุมชน เราก็เสนอไปให้เกิดวงปรึกษาหารือ เขาก็จะคิดออกว่าจะทำอย่างไร แล้วก็ไปออกแบบกันเอง เป็นตัวอย่างหนึ่งของการระดมทรัพยากรและออกแบบคิดกันในชุมชน บางที่ก็อาจมีวิธีการใช้ภาชนะจากวัสดุธรรมชาติ หมุนเวียนมาใช้ใหม่ควบคู่กันไป นอกจากลดการระบาดยังคิดถึงความยั่งยืนของชุมชนในการลดขยะด้วย ปิ่นโตตุ้มตุ้ยจึงเป็นการผสมผสานการลดการแพร่ระบาด สิ่งแวดล้อม และการอยู่ร่วมกัน เกิดเป็นธรรมนูญสุขภาพที่จะยั่งยืนต่อไป
 
   “ในสถานการณ์ที่เราคิดว่าชีวิตเริ่มปลอดภัยมากขึ้น ขอให้อย่าชะล่าใจ ยิ่งมีความจำเป็นที่ทุกชุมชนต้องมีการพูดคุยกัน เป็นวงเล็กๆ ก็ได้ เพื่อออกแบบแนวทางร่วมกัน ให้เกิดการตระหนักและสำนึกพลเมืองรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม ซึ่งจะช่วยป้องกันการระบาดระลอกสองได้อย่างยั่งยืน” นพ.ปรีดากล่าวย้ำ
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147

รูปภาพ