- 1165 views
สช. ร่วมหารือ พอช. สานพลังท้องถิ่น-สาธารณสุข-ภาคประชาชน หาแนวทางขับเคลื่อนจากระดับจังหวัดถึงตำบล ส่งเสริมชุมชนสร้างมาตรการทางสังคมรับมือโควิด-19 ในทุกมิติ เฝ้าระวัง ป้องกัน-ดูแล-เยียวยา-ฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่น เชื่อเป็นโอกาสสร้างชุมชนเข้มแข็งทั่วประเทศ คิกออฟ 24 มีนาคมนี้
สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กำลังเป็นภัยคุกคามสำคัญในประเทศ มีผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 200 คน และมีทีท่าว่าการระบาดจะเข้าสู่ระยะ 3 ในอีกไม่นาน ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อชะลอเวลาการเข้าสู่ระยะ 3 ให้นานที่สุด
ในเวลาเดียวกัน ภาคส่วนนอกระบบราชการและหน่วยงานภาคีอื่นๆ ต่างก็ร่วมหาแนวทางรับมืออย่างเร่งด่วน โดยมุ่งตรงไปที่ระดับท้องถิ่นเพื่อให้มีความเข้มแข็งและสามารถจัดการเฝ้าระวัง ป้องกัน และดูแลช่วยเหลือกันในชุมชนได้
จึงเป็นที่มาของการประชุมหารือทำแผนปฏิบัติการสร้างความร่วมมือการพัฒนาสังคมสุขภาวะระหว่างสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กับ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือพอช. เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า งานของ พอช. เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นภารกิจที่คล้ายคลึงกับ สช. ที่ทำประเด็นสุขภาพซึ่งมีความซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับผู้คนหลากหลาย การจะแก้ปัญหานี้ ยุทธศาสตร์สำคัญอยู่ที่พื้นที่ ถ้า พอช. ซึ่งเป็นแกนนำหลักด้านสังคมมีเครื่องมือและทรัพยากรในพื้นที่บูรณาการร่วมกันกับ สช. แล้วออกแบบมาตรการให้ไปในทิศทางเดียวกันย่อมทำให้พื้นที่ทำงานได้สะดวกมากขึ้น
“ปัญหาโควิด-19 ถือเป็นประเด็นท้าทาย ถ้าเอาโควิด-19 เป็นตัวตั้ง ท้องถิ่นมีกำลังคนในพื้นที่และมีทรัพยากร มีกองทุนต่างๆ ในพื้นที่ พอช. ก็มีกองทุน ถ้ามีการหนุนช่วย ร่วมกันทำงานให้เป็นเอกภาพก็จะช่วยให้ขยับตัวได้ดียิ่งขึ้น”
ผลจากการหารือครั้งก่อนหน้า เห็นพ้องกันว่า ต้องสร้างความเข้มแข็งในพื้นที่ทั้งระดับจังหวัดและระดับตำบล โดยระดับจังหวัดจะขับเคลื่อนในระดับนโยบาย สร้างความร่วมมือภายในจังหวัด สร้างกองทุนเพื่อให้ภาคีระดับจังหวัดสามารถออกแบบขับเคลื่อนงานของตนเองได้ ส่วนระดับตำบลจะเป็นพื้นที่ที่แสดงผลรูปธรรมของการทำงานที่ทั้งท้องถิ่น ภาควิชาการ และภาคประชาชน ทำงานในประเด็นต่างๆ ร่วมกัน โดยมีระดับอำเภอเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างตำบลกับจังหวัด ทั้งด้านนโยบาย การสนับสนุน และกำกับติดตาม
ด้าน นายอัมพร แก้วหนู รองผู้อำนวยการ พอช. เสนอว่า แนวทางในระยะต่อจากนี้ว่า ควรมีการทดลองทำพื้นที่นำร่องเพื่อรับมือวิกฤต อาจจะเป็นภาคละ 1 เมือง เพื่อดูว่าถ้ามีการปิดเมืองจริง ชุมชนจะรับมือสถานการณ์ในทุกๆ มิติอย่างไร
“ในเรื่องเศรษฐกิจ ควรหามาตรการเพื่อเพิ่มรายได้ เพิ่มการจ้างงานในชุมชนอย่างน้อย 6 เดือน ถ้าสถานประกอบการปิด คนกลับบ้านจะแพร่เชื้อไหม จะมีเงินไหม นี่เป็นโจทย์สำคัญ รัฐบาลควรมีการจ้างงานสาธารณะให้คนมีรายได้ในช่วง 4-5 เดือนข้างหน้า ตอนนี้เราสร้างเครือข่ายการสื่อสารเพื่อใส่ข้อมูลกลับไปและให้ตอบข้อมูลกลับมาเพื่อดูแนวโน้มการระบาด กำลังเริ่มทำ ในระดับตำบลเราพบว่าสื่อกระดาษเหมาะกว่า แผ่นเดียวจบ ลดความตระหนก ขณะนี้มีกลุ่มเป้าหมายคือสมาชิกสภาองค์กรชุมชนประมาณ 160,000 คน” รองผู้อำนวยการ พอช. กล่าว
ขณะที่ นายสมเกียรติ พิทักษ์กมลพร ผู้อำนวยการสำนักขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะระดับพื้นที่ (สนพ.) ของ สช. กล่าวว่า การหาแนวทางบูรณาการงานร่วมกันเพื่อทำให้ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งจะทำให้เกิดประโยชน์มาก เช่น มีแผนงาน มาตรการทางสังคม กลไกการขับเคลื่อนชุดความรู้ และนโยบายสาธารณะร่วมกัน รวมถึงการสาน 3 พลังระหว่างองค์กรปกครองท้องถิ่น สาธารณสุข และภาคประชาชนในพื้นที่ ซึ่งในส่วนกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและกระทรวงสาธารณสุขพร้อมสนับสนุนเต็มที่ โดยทำเป็นแผนระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาวแล้วว่าชุมชนจะเฝ้าระวัง ป้องกัน ดูแล เยียวยา และฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นในมิติต่างๆ อย่างไร
“เบื้องต้นเราน่าจะทำให้เกิดกระบวนการพูดคุยในระดับตำบล ให้ 3 ภาคส่วนมาหารือกัน นำข้อมูล บทบาทของแต่ละส่วนมาแชร์กันว่าจะทำอะไรร่วมกันได้บ้าง เราอยากให้เกิดวงพูดคุยนี้ ทำให้เกิดมาตรการทางสังคม บทบาทของ 3 ฝ่าย จะจัดการยังไง เพื่อให้แต่ละส่วนรองรับกันและกัน” นายสมเกียรติกล่าว
นอกจากนี้ ในที่ประชุม ยังเสนอให้มีการจัดเวทีหารือขนาดเล็กในระดับจังหวัดเพื่อให้หลายภาคส่วนมาร่วมมือหามาตรการในระดับจังหวัด โดยใช้สมัชชาจังหวัดเป็นจุดประสานกับองค์กรชุมชน ส่วนในเรื่องงบประมาณนั้นสามารถหาการสนับสนุนได้จากกองทุนต่างๆ ในระดับท้องถิ่น เช่น กองทุนสุขภาพตำบลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นต้น
แนวทางเหล่านี้จะเริ่มคิกออฟวันที่ 24 มีนาคมนี้ ผ่านสมัชชาจังหวัด การจัดเวทีระดับตำบล เพื่อให้ชุมชนลุกขึ้นมาจัดการสถานการณ์ปัจจุบัน โดยทั้ง สช. และ พอช. เห็นร่วมกันว่า
แม้การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะเป็นวิกฤตตอนนี้ แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นโอกาสที่จะปลุกชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศร่วมกันสร้างชุมชนเข้มแข็งในระยะยาวต่อไป
กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147