จากอดีตสู่อนาคต ‘ธรรมนูญสุขภาพ’ เครื่องมือปฏิวัติความสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์-ยั่งยืน | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   ปิดฉากมหกรรมชุมชนสุขภาวะ ชี้ธรรมนูญสุขภาพเป็นเครื่องมือสำคัญยกระดับประชาชนเป็นพลเมือง ร่วมกำหนดชีวิตตนเอง เป็นประชาธิปไตยจากฐานราก หวังพรรคการเมืองหยิบธรรมนูญของชุมชนไปสร้างนโยบายจากล่างขึ้นบน สร้างการปฏิวัติความสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์และยั่งยืน
 
   วันที่ 9 มกราคม 2562 ภายในงานมหกรรมชุมชนสุขภาวะ ครั้งที่ 1 วันสุดท้าย ณ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ อาคารรัฐประศาสนภักดี แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ มีการจัดเสวนาในหัวข้อ จากอดีต สู่อนาคต ‘ธรรมนูญสุขภาพตำบล: ธรรมนูญชุมชนสภาวะ’ เพื่อสำรวจความเป็นมาและความสำเร็จของการสร้างธรรมนูญสุขภาพ
 
   นิติธร ธนธัญญา ผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า ธรรมนูญสุขภาพเกิดขึ้นตั้งแต่ 10 ปีก่อน อันเป็นผลต่อเนื่องจากการที่ภาคีเครือข่ายกว่า 500 องค์กรรวมตัวกันเป็นสายธารของการปฏิรูปสุขภาพ เกิดเป็น พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 โดยธรรมนูญสุขภาพแห่งแรกเกิดขึ้นที่ตำบลชะแล้ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา
 
   “ที่แรกที่เกิดธรรมนูญสุขภาพคือริมทะเลสาบสงขลา มีการสร้างเครือข่ายร่วมกันทั้งวัด โรงเรียน กำนันผู้ใหญ่บ้าน วิทยาลัยพยาบาลราชชนนีสงขลา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มาช่วยกันทำออกมาเป็นธรรมนูญสุขภาพ 12 หมวด 60 มาตรการที่จะดูแลปัญหาในพื้นที่ของตัวเอง”
 
   นิติธรกล่าวอีกว่า ต่อมาพื้นที่ตำบลชะแล้ได้กลายเป็นพื้นที่ต้นแบบการเรียนรู้ในการจัดทำธรรมนูญสุขภาพของหลายพื้นที่ ทำให้ก่อเกิดธรรมนูญสุขภาพอีกหลายแห่งตามมา โดยธรรมนูญสุขภาพระดับอำเภอเกิดขึ้นแห่งแรกที่อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ และธรรมนูญสุขภาพจังหวัดแห่งแรกเกิดขึ้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ
 
   “ขณะนี้ทั้งประเทศมีธรรมนูญสุขภาพกว่า 600 แห่ง โดยห้าปีแรกเป็นช่วงเรียนรู้ สร้างโมเดล สองปีต่อมาเป็นการขยายธรรมนูญสุขภาพแบบทวีคูณ พอถึงปัจจุบันเป็นช่วงการขยายผลแบบสร้างนวัตกรรม”
 
   นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสข.) เขต 7 ขอนแก่น กล่าวว่า สปสช. ใช้ธรรมนูญสุขภาพเป็นเครื่องมือหนุนเสริมการทำงานของ สปสช. โดยการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ โดยเริ่มจากพื้นที่ระดับตำบลก่อนเพื่อสร้างฉันทามติร่วมและเชื่อมกับกองทุนสุขภาพตำบล เพื่อนำงบประมาณมาจัดการแก้ปัญหาในท้องถิ่น
 
   “หัวใจสำคัญของธรรมนูญสุขภาพคือการยกระดับความเป็นพลเมือง ถ้ามีประชาชนมีสำนึกเกิดขึ้น เขาจะอยากแก้ปัญหาชุมชน เมื่อมีฉันทามติร่วมกัน จะนำไปสู่ความเป็นพลเมืองที่ให้ความสำคัญกับสิทธิ จากสิทธิสุขภาพไปสู่สิทธิพื้นฐานทุกเรื่อง อีกทั้งยังช่วยให้การใช้เงินของกองทุนสุขภาพตำบลมีประสิทธิภาพมากขึ้น เกิดประโยชน์สูงสุดต่อคนในชุมชน”
 
   ขณะที่ ปฏิภาณ จุมผา ผู้อำนวยการภาคกลางและตะวันตก สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ธรรมนูญสุขภาพไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือ แต่ยังเป็นเป้าหมาย เป็นยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนสังคมของภาคประชาชนที่มีพลัง ที่สำคัญกว่านั้น เขามองว่าธรรมนูญสุขภาพเป็นสิ่งที่ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอำนาจ ประการแรก-มันคือประชาธิปไตยที่กินได้ ทำให้เกิดการร่วมมือกันระหว่างประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประการที่ สอง-ทำให้นโยบายระดับบนเปลี่ยนให้เอื้อกับการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพ ประการที่สาม-ทำให้ระบบวิธีงบประมาณของท้องถิ่นเปลี่ยน เกิดการใช้งบประมาณตรงมาที่กระบวนการจัดทำแผนร่วมกันแบบบูรณาการ และประการสุดท้าย-ช่วยให้พื้นที่สามารถออกข้อบัญญัติรองรับแผนการปฏิบัติของตน
 
   “ธรรมนูญชุมชนหรือตำบลคือการปฏิรูปที่ลุ่มลึกมาก ที่ผ่านมาอำนาจอยู่ตรงกลาง แต่ธรรมนูญคือชีวิตเกิดการเปลี่ยนแปลงจากชุมชนเอง เป็นการปฏิรูปจากฐานราก คือการคืนอำนาจที่เราเคยมีอยู่มาจัดการตนเองอย่างมีคุณค่าและเป็นของเรา” ปฏิภาณ กล่าว
 
   ภายหลังการเสวนา มีพิธีปิดมหกรรมสุขภาวะชุมชน โดยตัวแทนแต่ละภาคได้ร่วมกันแถลงปฏิญญาว่าจะร่วมขับเคลื่อนและสร้างธรรมนูญสุขภาพต่อไปเพื่อสร้างชุมชนที่เข้มแข็ง ทั้งนี้ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้เน้นย้ำความสำคัญของธรรมนูญสุขภาพว่าเป็นกระบวนการประชาธิปไตยฐานราก ประชาธิปไตยทางตรงที่ประชาชนใช้กำหนดชีวิตตนเองว่าจะพัฒนาชุมชนไปในทิศทางใด
 
   “พวกเรากำลังสร้างสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ ธรรมนูญสุขภาพเป็นกระบวนการของคนตัวเล็กตัวน้อย เป็นกระบวนการที่มีคุณค่าในทางศีลธรรม เป็นขวัญกำลังใจที่จะแก้ปัญหายากๆ ของบ้านเมือง”
 
   นพ.พลเดช กล่าวต่อว่า นักการเมืองซึ่งเป็นประชาธิปไตยแบบตัวแทนสามารถเลือกสรรนโยบายจากชุมชนไปปฏิบัติได้ ถือเป็นแหล่งชอปปิ้งนโยบายและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แต่ขอให้ตระหนักว่าที่นี่เป็นที่ที่ชุมชนจัดการและแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง ถ้านักการเมืองต้องการทำงานกับชุมชนก็ต้องเป็นไปในลักษณะจากข้างล่างขึ้นข้างบน (Bottom-Up) กล่าวคือเป็นความสัมพันธ์ที่เสมอกัน
 
   “สิ่งที่เรากำลังทำเป็นการปฏิวัติความสัมพันธ์ เป็นการปฏิวัติแบบเย็น ที่เงียบ สร้างสรรค์ และยั่งยืน” นพ.พลเดช กล่าวทิ้งท้าย
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ