สช. หนุนวางกรอบใช้โซเชียลมีเดีย สกัดละเมิดสิทธิสุขภาพ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   เวที สช. เจาะประเด็น ห่วงสังคมไทยใช้เทคโนโลยีไม่ยั้งคิด ละเมิดสิทธิของผู้ป่วย ผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิต ยกกรณีเหตุระเบิดราชประสงค์-ดาราในห้องฉุกเฉินเป็นอุทาหรณ์ นักวิชาการหนุนวางบรรทัดฐาน มาตรา ๗ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ ให้องค์กรวิชาชีพถือปฏิบัติ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญโซเชียลมีเดียแนะเผยแพร่กติกา ความรู้ ให้กับสังคมควบคู่ไปด้วย
 
   สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จัดเวที สช. เจาะประเด็น ครั้งที่ ๕/๒๕๕๘ เรื่อง “ระวัง! แชท แชร์ ทวิต ละเมิดสิทธิสุขภาพ” เมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๕๘ ที่ชั้น ๖ อาคารสุขภาพแห่งชาติ จังหวัดนนทบุรี
 
   นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เปิดเผยว่า ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้การเผยแพร่ภาพและข้อมูลที่ไม่เหมาะสมผ่านสื่อสาธารณะเป็นไปได้ง่าย รวดเร็ว ฉับไว จนขาดการระมัดระวัง ละเลยศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล โดยเฉพาะข้อมูลด้านสุขภาพ อาจเป็นการละเมิดสิทธิผู้ป่วย ตาม มาตรา ๗ แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ ที่ระบุว่า ข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลเป็นความลับส่วนบุคคล ผู้ใดจะนำไปเปิดเผยและทำความเสียหายให้บุคคลนั้นไม่ได้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากบุคคลนั้นโดยตรง ซึ่งผู้ละเมิดจะมีโทษจำคุกไม่เกิน ๖ เดือน หรือปรับไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
   ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ กรณีเหตุระเบิดที่แยกราชประสงค์ มีภาพผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต ที่ไม่น่าดูจำนวนมาก เผยแพร่อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะทางโซเชียลมีเดีย สะท้อนการใช้เทคโนโลยีเป็นตัวนำจนไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่ถ้าสังคมนึกถึงคุณค่าทางจิตใจ ไม่ซ้ำเติมผู้บาดเจ็บ ผู้เสียชีวิต หรือญาติของเขา ภาพดังกล่าวจะไม่ถูกกระจายไปในวงกว้างและรวดเร็วเช่นนั้น
 
   “สิ่งที่สังคมต้องตระหนักคือ เมื่อเทคโนโลยีมีความก้าวไกล มิติทางจิตใจต้องก้าวหน้าไปด้วย ดังนั้น ทุกครั้งที่มีการส่งต่อภาพหรือข้อมูล ควรระลึกถึงคุณค่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิส่วนบุคคลเสมอ”
 
   ปัจจุบัน แม้จะมีกฎหมายเป็นเครื่องมือปกป้องคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคล แต่สิ่งสำคัญกว่าคือ การเรียนรู้ของสังคม ซึ่งขณะนี้หลายหน่วยงานและโรงพยาบาลได้รณรงค์เผยแพร่ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิ การรักษาความลับผู้ป่วย โดยใช้หลักการทางกฎหมายเป็นพื้นฐาน น่าจะเป็นสัญญาณที่ทำให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น
 
   ด้าน นพ.นวนรรน ธีระอัมพรพันธุ์ ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันพบการละเมิดสิทธิข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคล โดยการโพสต์ภาพและข้อความในหลายกรณี ซึ่งถ้าผู้นั้นได้รับอนุญาตก็คงไม่มีปัญหา แต่ถ้าผู้ป่วยไม่รู้เห็นด้วย ก็จะมีประเด็นตามมาว่า การกระทำนั้นมีความเหมาะสมหรือไม่
 
   ยกตัวอย่าง กรณีภาพดาราที่ป่วยอยู่ในห้องฉุกเฉิน ทางโรงพยาบาลบอกว่าไม่ทราบเรื่อง เพราะคนไข้ ญาติ หรือเพื่อนโพสต์เอง กรณีเช่นนี้จะดำเนินการอย่างไร ดังนั้น จึงควรมีการกำหนด แนวทางปฏิบัติ (Guideline) ตามมาตรา ๗ ของ พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ อย่างชัดเจน ว่ากรณีใดทำได้หรือไม่ควรทำ เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะองค์กรวิชาชีพด้านสุขภาพ นำไปใช้เป็นบรรทัดฐานต่อไป
 
   “เมื่อมีการกำหนดแนวทางปฏิบัติแล้ว ก็ควรเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน รวมถึงสภาวิชาชีพก็ควรจะนำไปพิจารณาต่อ เช่น แพทย์ควรวางตัวให้เหมาะสม อย่างไรบ้าง หรือบุคลากรในโรงพยาบาลด้านอื่นๆ เช่น เภสัชกร พยาบาล เวรเปล ควรมีหลักปฏิบัติอย่างไร”
 
   นายพงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ พิธีกรรายการข่าวไทยรัฐทีวี และโฆษกเครือข่ายพลังบวก กล่าวว่า โซเชียลมีเดีย ทำให้เกิดความรวดเร็วในการนำเสนอข้อมูลต่างๆ แต่ข้อเสียคือขาดการกลั่นกรอง โดยเฉพาะการรายงานข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดียที่มาจากประชาชนทั่วไป ซึ่งไม่มีกองบรรณาธิการหรือบรรณาธิการมาตัดต่อเหมือนการรายงานโดยสื่อมวลชน
 
   อีกสาเหตุ มาจากประชาชนจำนวนมากไม่รู้ข้อกฎหมาย โดยเฉพาะในมาตรา ๗ ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ควรเร่งรณรงค์เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรา ๗ ให้มากขึ้น เหมือนกรณีการห้ามเผยแพร่ภาพของเด็กอายุต่ำกว่า ๑๘ ปีที่ถูกดำเนินคดี เมื่อสังคมรับทราบข้อกฎหมายมากขึ้น การนำเสนอภาพก็จะใช้วิธีเบลอหน้าเด็ก เป็นต้น
 
   “ถ้าไม่ต้องการให้คนละเมิดกฎหมายหรือกติกา ก็ต้องเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้เกิดองค์ความรู้และความเข้าใจให้มากขึ้น ผมคิดว่าสถานการณ์การละเมิดสิทธิในโลกโซเชียลจะดีขึ้นอย่างแน่นอน”
 
   นายพงศ์สุข ยกตัวอย่าง กรณีการเผยแพร่ภาพศพของผู้ที่เสียชีวิตจากเหตุระเบิดที่แยกราชประสงค์ ไม่นานก็มีคนโพสต์เตือนว่าไม่ควรมีการเผยแพร่ เพราะแม้แต่ที่ประเทศญี่ปุ่นเกิดเหตุการณ์สึนามิ มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ก็ยังไม่ปรากฎภาพของผู้เสียชีวิตออกมา หรือกรณีที่มีการเผยแพร่ภาพของ แตงโม-ภัทรธิดา ในโรงพยาบาล เมื่อมีการเตือนกัน ก็ทำให้หยุดการโพสต์หรือแชร์รูปที่ไม่เหมาะสมเช่นเดียวกัน
 
   นอกจากนี้ ยังเห็นว่า บางกรณีจำเป็นต้องใช้อำนาจรัฐในการปิด และลงโทษ เช่น บางเว็บไซต์ที่นำข้อมูลหรือข่าวไปตัดต่อและเผยแพร่จนผิดไปจากความเป็นจริง ซึ่งเว็บไซต์เหล่านี้มียอดคนดูสูงมากกว่าเว็บไซต์สำนักข่าวต่างๆด้วย การดำเนินคดีทางกฎหมายจะช่วยได้มากกว่า และประชาชนต้องเรียนรู้ที่จะแยกแยะความจริงกับความเห็นออกจากกันด้วย
 

ท่านสามารถดูภาพที่เหลือโดยกดที่นี่

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143


  ขอบคุณ clip จาก www.healthstation.in.th และ ช่อง 3 HD

รูปภาพ