พลังพลเมืองตื่นรู้...สู้วิกฤติสุขภาพ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   วิกฤตโรคระบาดและผลกระทบต่อสุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ ผสมกับวิกฤตรัฐธรรมนูญและการเมืองกระทบต่อการจัดการและศรัทธาของคนรุ่นใหม่ทั่วประเทศ ทำให้เกิดคนจนและประชากรเปราะบางกลุ่มใหม่ ถือเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤตและซ้อนวิกฤตที่ยากแก่การล้มแล้วจะลุกไว ถ้าขาดการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ เวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ และสมัชชาเฉพาะประเด็น หรือเฉพาะพื้นที่ เป็นตัวอย่างของการเปิดพื้นที่ปลอดภัยให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมพัฒนานโยบาย กำหนดอนาคตของตนเองและของพื้นที่ ผมขอชวนเพื่อนๆ ติดตามความคืบหน้าและลงรายละเอียดเพิ่มเติมของงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๑๓ เพราะงานใกล้งวดเข้ามาทุกทีแล้วครับ
 
   คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) เคาะแล้วสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๓ มี ๒ ระเบียบวาระ คือ ความมั่นคงอาหารทางอาหารในภาวะวิกฤต และการบริหารจัดการวิกฤติสุขภาพแบบมีส่วนร่วม กรณีโรคระบาดใหญ่ และเห็นชอบกำหนดการงานภายใต้ธีมงาน “พลังพลเมืองตื่นรู้...สู้วิกฤติสุขภาพ” ที่จะมีขึ้นในวันที่ ๑๖ - ๑๗ ธันวาคมนี้ วันงานจะมี ๓ ปาฐกถาพิเศษเป็น Hilight ของงานปีนี้ คือ ๑.การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนกับการจัดการวิกฤตสุขภาพ Covid-19 โดยประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ๒.ความร่วมมือของภาคีโลก สู้วิกฤตสุขภาพ Covid-19 โดยผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก และ ๓.พลังพลเมืองตื่นรู้ สู้วิกฤติสุขภาพ โดย ผู้แทนภาคประชาชนในพื้นที่ และจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบงานที่พัฒนาจากรูปแบบเดิมและจากสถานการณ์ใหม่ของโควิด-19 ด้วยการเพิ่มให้ความสำคัญกับงานขับเคลื่อนมติและการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ มากขึ้น โดยกระจายช่วงเวลาและพื้นที่จัดกิจกรรมต่างๆ ออกไปมากขึ้นไม่ให้กระจุกตัวอยู่เฉพาะช่วง ๒ - ๓ วันของงานสมัชชาใหญ่ที่กรุงเทพฯ เท่านั้น เริ่มตั้งแต่กิจกรรมก้อนงานแรกช่วงวันที่ ๑๕ - ๓๐ พฤศจิกายน เป็นสัปดาห์สมัชชาสุขภาพจังหวัดและกรุงเทพมหานคร รวมทั้งการรับฟังความเห็นต่อเอกสารระเบียบวาระสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ กิจกรรมก้อนงานที่สองช่วงวันที่ ๑ - ๑๔ ธันวาคม สัปดาห์กิจกรรมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (Side Event) หรือกิจกรรมและเวทีขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพที่จะจัดขึ้นทั้งในภูมิภาค จัดโดย กขป. แต่ละเขต และจัดขึ้นในกรุงเทพฯ โดยหน่วยงานส่วนกลางและเครือข่ายร่วมเป็นเจ้าภาพ และกิจกรรมก้อนงานที่สามช่วงวันที่ ๑ ๖ - ๑๗ ธันวาคม นี้ จะเป็นเวทีงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๓ ที่จัดแบบ On side มีเวทีกลางเชื่อม On line กับเวทีทุกจังหวัด และเปิด On air สำหรับประชาชนทั่วประเทศ
 
   สถานการณ์และวิกฤตที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโรคโควิด-19 ในปีนี้ นอกจากคุกคามสุขภาพของประชาชนจากการระบาดติดเชื้อไวรัสแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ คนจำนวนมากจึงกลายเป็น “ประชากรเปราะบาง” ที่เกิดขึ้นใหม่ เป็นกลุ่มประชาชนที่มีความเสี่ยงหรือมีความไม่มั่นคงในการเข้าถึงอาหารได้ โดยเฉพาะถ้ามีการระบาดระลอกใหม่และมีมาตรการคุมเข้มของรัฐอีกครั้งหนึ่ง ถ้าความมั่นคงทางอาหารของคนส่วนใหญ่มีความเสี่ยงหรือจัดการไม่ดีอาจเกิดวิกฤตความไม่มั่นคงอื่นซ้อนขึ้นมาได้
 
   ความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต (Food Security in Crisis) นโยบายสาธารณะนี้มุ่งเน้นที่จะขับเคลื่อนให้ทุกภาคส่วนของสังคมมีการจัดการร่วมกัน เพื่อสร้างความมั่นใจว่าในทุกภาวะวิกฤต ประชาชนทุกคนในทุกพื้นที่ของประเทศไทย จะสามารถเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัยได้อย่างเพียงพอและเป็นธรรม เพื่อชีวิตที่มีสุขภาวะ จึงถูกบรรจุเป็นหนึ่งในสองระเบียบวาระการพิจารณาของสมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติทั่วประเทศในวันที่ ๑๖ ธันวาคม นี้ โดยมีข้อเสนอเชิงระบบและการจัดการใหญ่ๆ ดังนี้
 
   ๑. คุณค่าร่วมและหลักการ การเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพ ปลอดภัยและมีปริมาณที่เพียงพอในทุกสถานการณ์เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคนในประเทศไทย ที่ต้องได้รับการปกป้อง โดยความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนของสังคม ดำเนินการร่วมกันด้วยความเป็นพี่น้องช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และเคารพในเสรีภาพและความต้องการอาหารที่แตกต่างกันของแต่ละบุคคล
 
   ๒. เป้าหมาย ประเทศไทยมีระบบการจัดการอาหารในภาวะวิกฤต ที่ทำให้มั่นใจได้ว่า ประชาชนทุกคนโดยเฉพาะประชากรเปราะบาง สามารถเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัยได้อย่างเพียงพอและเป็นธรรม ทุกชุมชนทั้งในเมืองและชนบท มีพื้นที่ผลิตอาหาร มีระบบการสำรองอาหาร ระบบการแลกเปลี่ยนและกระจายอาหารเพื่อรองรับภาวะวิกฤต ทุกตำบล มีระบบการจัดการด้านอาหารให้กับประชากรเปราะบางในภาวะวิกฤต และในทุกจังหวัด มีระบบตลาดที่ส่งเสริมการผลิตและการกระจายผลผลิตจากการเกษตรอินทรีย์เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงอาหารปลอดภัยอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน
 
   ๓. ด้านการจัดการระบบเพื่อความมั่นคงทางอาหาร มีการจัดการที่ครอบคลุมทุกมิติของระบบอย่างมีส่วนร่วมของประชาชนในชุมชนในทุกขั้นตอน และมีความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม รวมทั้งมีการกระจายอำนาจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น..ขอแลกเปลี่ยนครับ
 

ด้วยรักและศรัทธาครับ...นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ

รูปภาพ
หมวดหมู่เนื้อหา