ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง...สู่การพัฒนาสังคมสุขภาวะ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   นิตยสารสานพลัง ฉบับนี้ถือเป็นฉบับปฐมฤกษ์ที่แปลงโฉมมาจาก นสพ.สานพลัง เพื่อให้เนื้อหาเข้มข้นครอบคลุมมากขึ้นและปรับรูปเล่มให้ง่ายกับการหยิบอ่านมากขึ้น รวมทั้งมีการพิมพ์เป็นรูปอิเล็กทรอนิกส์ให้ง่ายกับการติดตามด้วย และเนื่องจากงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๒ ภายใต้ธีมงาน “ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง...สู่การพัฒนาสังคมสุขภาวะ” ที่จะจัดขึ้นในช่วงวันที่ ๑๘ – ๒๐ ธันวาคม นี้ ใกล้เข้ามาถึงแล้ว และขณะนี้คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) ได้เคาะ ๔ ระเบียบวาระที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งนี้แล้ว ประกอบด้วย ๑.ทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน ๒.วิถีเพศภาวะ: เสริมพลังสุขภาวะครอบครัว ๓.รวมพลังชุมชนต้านมะเร็ง และ ๔.การจัดการเชิงระบบสู่ประเทศใช้ยาอย่างสมเหตุผล โดยชุมชนเป็นศูนย์กลาง
 
   เวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เป็นเวทีที่มีขั้นตอน มีการเตรียมการอย่างต่อเนื่องเป็นระบบทั้งก่อน ระหว่าง และหลังประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เพื่อพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพแบบมีส่วนส่วนร่วมบนพื้นฐานของข้อมูลวิชาการที่สำคัญที่สุดตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ และเพื่อให้เพื่อนสมาชิกฯ ได้เข้าใกล้และติดตามเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๒ ได้ทันสาระเนื้อหาของการประชุม ผมขอบอกเล่าถึงความเป็นมา กรอบแนวคิด และข้อเสนอที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งนี้ ฉบับนี้ขอเจาะลึกเฉพาะเรื่อง การจัดการเชิงระบบสู่ประเทศใช้ยาอย่างสมเหตุผล โดยชุมชนเป็นศูนย์กลาง (Community-centered system management for becoming a Rational Drug Use country) ซึ่งเป็นข้อเสนอเพิ่มเติมจากนโยบายประเทศใช้ยาอย่างสมเหตุผล มีเป้าหมายมุ่งแก้ปัญหาระบบยาในชุมชนอย่างยั่งยืน โดยสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน หน่วยงานรัฐ และเอกชน ในการออกแบบระบบสุขภาพชุมชน มีระบบการเฝ้าระวัง เตือนภัย การสร้างความรอบรู้ด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผล และให้มีความสามารถในการดูแลตนเองเบื้องต้นเมื่อเจ็บป่วย เป็นการสนับสนุนและต่อยอดการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑ ครั้งที่ ๗ และครั้งที่ ๘
 
   จากผลของการศึกษาพบว่าปัญหาการใช้ยาไม่สมเหตุผลที่สำคัญ ได้แก่ ๑.ประชาชนซื้อยาปฏิชีวนะใช้เอง เพื่อรักษาโรคที่ไม่จำเป็นต้องใช้ ๒.ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มีการใช้ยาในปริมาณที่สูงกว่าประชากรกลุ่มอื่น และผู้ป่วยสูงอายุมีโอกาสได้รับยาซ้ำซ้อน สูงกว่าผู้ป่วยทั่วไป ๓. ผู้ป่วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง พบปัญหายาเหลือใช้ เนื่องจากแพทย์สั่งจ่ายเกินจำเป็น ไม่มีระบบการติดตามการใช้ยา ตลอดจนปัญหาการไม่ร่วมมือในการใช้ยา ๔.ปัญหายาสเตียรอยด์ปลอมปนในผลิตภัณฑ์สุขภาพและยาไม่เหมาะสมในชุมชน จัดเป็น ๑ ใน ๕ อันดับแรกของสินค้าไม่ปลอดภัยในประเทศไทย ๕.แหล่งบริการสุขภาพปฐมภูมิ เช่น คลินิก ร้านยา และ รพ.สต.อาจมีส่วนทำให้เกิดการใช้ยาไม่สมเหตุผลในชุมชน รวมถึงปฏิกิริยาไม่พึงประสงค์ และ ๖. การใช้ยาในหน่วยงานที่ไม่ได้มีภารกิจหลักเกี่ยวกับการสาธารณสุข เช่น ในทัณฑสถาน ในวัด ในโรงเรียน และในศูนย์พัฒนาเด็กวัยก่อนเรียน
 
   กล่าวโดยสรุป แม้ว่าประชาชน จะไปใช้บริการจากโรงพยาบาลมากขึ้น และการซื้อยากินเองลดลง แต่กลับพบว่าประชาชนกว่าครึ่งหนึ่ง ยังได้รับผลกระทบจากการใช้ยาที่ไม่ปลอดภัย และเกิดปัญหาการใช้ยาในบ้าน ทั้งที่สามารถป้องกันได้ ส่วนหนึ่งเกิดจากปัจจัยภายในบุคคล และปัจจัยสิ่งแวดล้อมในชุมชน รวมถึงยังไม่มีระบบที่ชัดเจนในการเชื่อมโยงกัน ตั้งแต่ระบบการกำกับดูแลยา การใช้ยาในสถานพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนจนสามารถนำไปสู่การแก้ปัญหาระบบยาในชุมชนได้ และพบว่าประเทศไทย ยังไม่มีระบบการจัดการข้อมูลยาสำหรับประชาชน หรือคำแนะนำสำหรับประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้อง น่าเชื่อถือ ขณะที่ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ทางอินเทอร์เน็ตได้ง่าย และขาดการกลั่นกรองด้วยข้อมูลรอบด้าน จนทำให้เกิดอันตรายจนถึงเสียชีวิตจากการใช้ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพได้ นอกจากนี้ปัญหาการใช้ยาที่ป้องกันได้ยังจำเป็นต้องได้รับการจัดการในระดับครัวเรือนและบุคคล จึงเป็นเหตุให้ต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของสมัชชาสุขภาพในครั้งนี้ และมีข้อเสนอเพื่อสรุปเป็นมติและขับเคลื่อนต่อ ดังนี้
 
   เสนอให้ทุกหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลรัฐ สถานบริการสุขภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา ร้านยา หรือหน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิลักษณะอื่น ดำเนินการและสนับสนุนให้อาสาสมัครสาธารณสุข ผู้นำชุมชน องค์กรผู้บริโภค หรือองค์กรต่างๆ ในชุมชน ออกแบบระบบสุขภาพชุมชน และขับเคลื่อนการใช้ยาอย่างสมเหตุผล รวมถึงการใช้กลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ หรือคณะกรรมการอื่นในระดับเขต จังหวัด อำเภอ ตำบลและหมู่บ้าน หรือการใช้ธรรมนูญสุขภาพเป็นเครื่องมือขับเคลื่อน
 
   เสนอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนชุมชนต้นแบบให้มีระบบการเฝ้าระวัง เตือนภัย รอบรู้ด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผล และมีความสามารถในการดูแลตนเองเบื้องต้นเมื่อเจ็บป่วย รวมทั้งสนับสนุนการขยายชุมชนต้นแบบให้เพิ่มขึ้น จัดกิจกรรมการเรียนการสอน การสื่อสารเพื่อให้มีความรอบรู้และความตระหนักของประชาชนต่อการใช้ยาอย่างสมเหตุผล
 
   และสุดท้ายเสนอให้มีหน่วยงานระดับประเทศที่มีภารกิจเฉพาะในการจัดการเชิงระบบเพื่อส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ในทุกระดับ
 
   เป็นไงครับ เรื่องการใช้ยาอย่างสมเหตุผล แค่เป็นหนึ่งในสี่ของระเบียบวาระการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๑๒ นี้ มีเนื้อหา สาระ ข้อเสนอ ที่มีความสำคัญต่อสุขภาพของพวกเราทุกคนเป็นอย่างมาก จึงต้องการการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการดำเนินการอย่างเต็มกำลัง
 
   นิตยาสารสานพลังฉบับหน้า จะพาเพื่อนสมาชิก และผู้อ่านที่สนใจไปเจาะลึกระเบียบวาระอื่นๆ โดยเฉพาะเรื่อง “วิถีเพศภาวะ: เสริมพลังสุขภาวะครอบครัว” ที่เป็นเรื่องใหม่ของสังคม แต่มีความสำคัญอย่างมากต่อการสร้างสุขภาวะในสังคม และลดความเหลื่อมล้ำที่เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดปัญหาหนึ่งของประเทศในขณะนี้....ขอบคุณครับ
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ