“เหลียวหลังแลหน้า สมัชชาสุขภาพ” | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   แม้ผมจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการผลักดัน พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติมาตั้งแต่ต้น จนกระทั่งเมื่อมีสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.)และมีเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเกิดขึ้นแล้วถึง 7 ครั้ง ก็แทบไม่เคยได้เข้ามาร่วมกระบวนการพิจารณามติสมัชชากับเขาเลยสักหน
 
   สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 8/2558 จึงนับเป็นครั้งแรกที่ได้ผมมีโอกาสเข้าร่วมงานประชุมตลอดกระบวนการ เนื่องจากถึงเวลาต้องเข้ามาเตรียมตัวรับไม้ต่อมือ จากท่านเลขาธิการคนก่อน
 
   ในเวลานั้น มีสถานการณ์ปัญหาใหญ่ที่รออยู่เบื้องหน้าอย่างน้อย 3 เรื่อง คือ 1)กระแสการตรวจสอบเข้มองค์กรตระกูล ส.และองค์การมหาชนทั้งกระดาน 2)ภาพลักษณ์สมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่ถูกมองว่าเป็นเวทีของNGO ซึ่งภาครัฐขยาด ภาคธุรกิจไม่ให้ราคา ภาควิชาการจำกัดอยู่ในวงแคบ และภาคการเมืองไม่ buy-in 3)มติสมัชชาที่ผลิตออกมา ขับเคลื่อนไม่ออก ฝ่ายนโยบายข้างบนมีท่าทีแค่”รับรู้รับทราบ”เท่านั้น
 
   สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 9-10-11 ถือเป็นช่วงที่ สช.และภาคีเครือข่ายได้ร่วมกันฟันฝ่า ข้ามภูเขา 3 ลูกดังกล่าว ด้วยการทุ่มเทสติปัญญา เร่งสร้างคุณค่าของงานสมัชชาและปรับภาพลักษณ์ สช.ครั้งใหญ่ ในขณะเดียวกันก็เร่งขยายเครือข่ายพันธมิตรการทำงานออกไปพร้อมกันใน 4 ระดับ คือ พันธมิตรนโยบาย-ยุทธศาสตร์-ปฏิบัติการ-ต่างประเทศ
 
   เราได้พยายามฉายภาพเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดให้เด่นชัดขึ้นมา จนคนเริ่มมองเห็นศักยภาพของ สช.ที่ฝังตัวอยู่ทั่วประเทศ จนสามารถผ่านอุปสรรคต่างๆมาได้ และเกิดผลลัพธ์งานและผลพลอยอื่นๆได้ตามมาอีกมากมาย
 
   เมื่อคราวสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 9 สช.เริ่มส่งสัญญาณ”มิตรภาพที่เปิดกว้าง” ปรับกระบวนการ ท่าที และบรรยากาศงานสมัชชาโดยรวม ลบล้างภาพเวที”กดดัน” เปลี่ยนเป็นเวที ”สานพลัง”ในความหมายที่แท้ เสริมด้วยการเดินสายเคาะประตูหน่วยงานนโยบายหลายกระทรวงเพื่อประสานความร่วมมือ
 
   ในเชิงโครงสร้าง สช.ได้ใช้ความพยายามในการปฏิรูประบบตัวแทนกลุ่มเครือข่ายอันเป็นฐานที่มาของสมาชิกสมัชชาที่มีคุณภาพ ให้ครอบคลุมภาคี ”3พลัง- 2 มิติ” อย่างมีหลักการเหตุผลและความสมดุล อันประกอบด้วย ตัวแทนพลังภาควิชาการ ภาคสังคม ภาคนโยบาย และ ตัวแทนในมิติเชิงประเด็นและเชิงพื้นที่
 
   ส่วนปัญหาการขับเคลื่อนมติที่ยัง”ไม่ไปหน้ามาหลัง” จำนวนมติสมัชชาสะสมเพิ่มขึ้นทุกปีจนใกล้ถึงทางตัน เราค้นพบรูปแบบการขับเคลื่อนมติใน 3 แนวทาง ซึ่งสามารถดำเนินการไปได้พร้อมๆกัน คือ การเคลื่อนขึ้นบน(ส่งเข้าสู่ครม.) เคลื่อนแนวระนาบ(โดยมี คมส.เป็นกลไกประสาน) และเคลื่อนลงล่าง(โดยเครือข่ายพื้นที่นำไปปฏิบัติ) ทำให้ภาคีเครือข่ายสามารถจัดการด้วยตนเองได้เพิ่มขึ้นอีกมากโข
 
   มาถึงวันนี้ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติและเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดทั่วประเทศ สามารถยืนได้อย่างมั่นคงด้วยขาสองข้างของตนเองในระดับหนึ่งแล้ว อีกทั้งยังมีสถานภาพกลายเป็นเครื่องมือของประเทศที่กระทรวงต่างๆ รวมทั้งรัฐบาลชุดปัจจุบัน เล็งเห็นคุณค่าและเข้ามาใช้ประโยชน์
 
   แม้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและสภาพัฒน์เอง ซึ่งเป็นฝ่ายวางแผนพัฒนาประเทศก็มอบหมายให้สมัชชาสุขภาพ ช่วยขับเคลื่อนเวทีสร้างการรับรู้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกจังหวัด
 
   ในอีกสถานะหนึ่ง สมัชชาสุขภาพได้ค่อยๆกลายเป็น”บ้านหลังใหญ่”ของขบวนการประชาธิปไตยทางตรงและประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมไปโดยปริยาย ที่นี่จึงเป็นที่ที่จะเกิดการพบปะ แลกเปลี่ยนเรียนรู้และมีปฏิสัมพันธ์กัน ระหว่างขบวนของการเมืองภาคพลเมืองและการเมืองระบบตัวแทน รวมทั้งพรรคการเมืองและภาคราชการทั้งหลาย โดยมีประเด็นนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพเป็นตัวตั้ง
 
   ทิศทางข้างหน้าของสมัชชาสุขภาพ คือการแต่งเติมเสริมต่อบ้านหลังใหญ่หลังนี้ ให้มั่นคงแข็งแรงด้วยด้วยหลักการแนวคิดและกระบวนการสร้างสรรค์นโยบายสาธารณะในรูปแบบของ มติสมัชชา(NHAขาขึ้น)ที่มีความ”ศักดิ์สิทธิ์” สร้างกระบวนการขับเคลื่อนมติสมัชชา(NHAขาเคลื่อน)ที่มี”ผลสัมฤทธิ์” และสร้างกระบวนการประเมินและแสดงผลการขับเคลื่อน(NHAขาประเมิน)ที่มี”ประสิทธิภาพ”.

 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ