“ประชาธิปไตย กับ การมีส่วนร่วม” | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   ภายหลังมีประกาศพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 ลงราชกิจจานุเบกษา
 
   การคาดการณ์ว่าจะมีการเลือกตั้งได้อย่างเร็วที่สุดในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ทำให้กระแสการเลือกตั้งทั่วไปที่ขาดหายไปเกือบ 5 ปี เริ่มกลับมาสู่ความคึกคักอีกครั้ง
 
   การหย่อนบัตรเลือกตั้งผู้แทนเข้าไปทำหน้าที่ใช้อำนาจอธิปไตยหรือบริหารจัดการอำนาจรัฐในระดับต่างๆ นับเป็นรูปแบบเชิงสัญลักษณ์ที่สำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยซึ่งนิยมใช้กันทั่วโลก
 
   คนไทยเองก็คุ้นชินกับการเลือกตั้งผู้แทนมาตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 แม้ว่าช่วงเวลาที่ผ่านมาจะมีการก่อกบฏ 7 ครั้งและการรัฐประหารถึง 12 ครั้งเข้ามาคั่นเป็นระยะ
 
   ย้อนเวลากลับไปที่เหตุการณ์วิกฤติประชาธิปไตยเมื่อปี 2535 อันเป็นต้นเหตุให้นายมารุต บุนนาค ประธานรัฐสภาในขณะนั้น ต้องตั้งกลไกคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย (คพป.) ขึ้นมา โดย ศ.นพ.ประเวศ
วะสี เป็นประธานและมีกรรมการ รวม 58 คน
 
   คพป.ทำงานท่ามกลางความสับสนวุ่นวายทางการเมืองแสนสารพัด ในที่สุดได้ผลิตผลงานวิจัยส่งมอบให้ประธานรัฐสภาเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2538 โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) ได้ตีพิมพ์เผยแพร่เป็นหนังสือ “ข้อเสนอกรอบความคิดในการปฏิรูปการเมืองไทย “ พร้อมกับงานวิจัยเป็นชุด รวม15 เล่ม
 
   ลักษณะการปฏิรูปการเมืองของ คพป. มีสาระสำคัญ 4 ประเด็นคือ 1) การปฏิรูปทางการเมืองต้องแก้ไขปัญหาของระบบการเมืองทั้งระบบไม่ใช่จุดใดจุดหนึ่ง 2)สร้างความสุจริตและประสิทธิภาพทางการเมือง
3)ต้องยกร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จในคราวเดียวกัน 4) มุ่งปรับปรุงระบบรัฐสภาที่ล้าสมัยให้เป็นระบบรัฐสภาแบบทันสมัยและมีเหตุผล (rationalized parliamentary system)
 
   ผลสะเทือนจากข้อเสนอการปฏิรูปการเมืองในครั้งนั้น ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ปี2550 และปี 2560 มีการเพิ่มสิ่งที่เรียกว่า “ระบบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม”(participatory democracy) เข้ามาอยู่เคียงคู่กับ “ระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทน”(representative democracy)
 
   อาจกล่าวได้ว่า พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 เป็นกฎหมายที่เกิดขึ้นอย่างสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญทุกประการในแง่นี้ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จึงเป็นกลไกที่ถูกออกแบบให้ทำหน้าที่สำคัญในการพัฒนาและขับเคลื่อนกระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมอย่างที่เป็นอยู่
 
   สช.เป็นหน่วยงานขนาดเล็กที่มีภารกิจต้องทำงานเชื่อมโยงกับทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสังคม คุณภาพชีวิต สุขภาพและสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุนี้เอง สช.จึงไม่ใช่หน่วยงานที่สังกัดหรืออยู่ในกำกับของกระทรวงสาธารณสุขอย่างที่ข้าราชการสาธารณสุขและคนทั่วไปเข้าใจ แต่เป็นหน่วยงานอิสระที่อยู่ในกำกับโดยตรงของนายกรัฐมนตรี
 
   
 
   ด้วยนิยามสุขภาพมิติกว้าง ที่หมายถึงสุขภาวะทั้ง 4 มิติ คือ ร่างกาย จิตใจ สังคมและปัญญา เมื่อรวมกับเครือข่ายที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับ “ปัจจัยทางสังคมที่กำหนดสุขภาพ”(social determinants of health) ยิ่งทำให้ประเด็นงานของ สช.นับวันจะขยายกว้างออกไปนอกแวดวงทางการแพทย์และสาธารณสุขทุกที
 
   สำหรับการพัฒนาระบบประชาธิปไตยและคุณภาพของพลเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญปัจจุบัน สช.มองเป็นองค์ประกอบสามระดับ ได้แก่
 
   1.ระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทน อันหมายถึงการที่ประชาชนเลือกตั้งผู้แทนประเภทต่างๆ ทั้งระดับชาติ ระดับท้องถิ่นหรือระดับอื่นๆ เพื่อให้ไปทำหน้าที่ใช้อำนาจรัฐแทนตน อย่างที่รู้จักคุ้นเคยกันดี
 
   2.ระบบประชาธิปไตยทางตรงหรือประชาธิปไตยชุมชน หมายถึงการที่ประชาชนลุกขึ้นมากำหนดเจตนารมณ์ในการแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาชุมชนท้องถิ่นของตน คือชุมชนเข้มแข็งนั่นเอง
 
   3.ระบบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม เป็นระบบที่อยู่ระหว่างกลางและเป็นตัวเชื่อมระหว่าง 1 และ 2 ซึ่ง สช.ได้บุกเบิกแนวคิดการสานพลังตามทฤษฎีสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา รวมทั้งพัฒนาเครื่องมือที่เรียกว่า สมัชชาสุขภาพ ธรรมนูญสุขภาพ สิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพ และการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพขึ้นมารองรับ
ซึ่งกำลังได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง

 
   ในห้วงเวลาที่ปี่กลองทางการเมืองในระบบประชาธิปไตยตัวแทนกำลังออกแขกโหมโรง สช.ก็ยิ่งต้องเร่งเสริมสร้างเครือข่ายประชาธิปไตยทางตรงและประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมอย่างเข้มข้น
 
   เพื่อ เตรียมพร้อมสำหรับการทำงานร่วมกันระหว่างประชาธิปไตยทั้งสามระบบ อย่างสร้างสรรค์และสมศักดิ์ศรี ในอนาคตอันใกล้
 

รูปภาพ