“แพร่งทางแยก” | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   เมื่อจะเดินทางไกล ไม่ว่าจะเลือกใช้เส้นทาง วิธีการหรือยานพาหนะแบบใด การตั้งทิศให้ถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก
 
   ยิ่งถ้าเป็นการเดินทางซึ่งไกลมากและใช้ระยะเวลายาวนาน ก็มักต้องมีการแวะเพื่อหยุดพักระหว่างทาง หรือ เปลี่ยนเส้นทาง เปลี่ยนยานพาหนะตามความเหมาะสม เพื่อนร่วมทางย่อมเปลี่ยนหน้าไปบ้าง
 
   ในตอนที่ยังอยู่ห่างไกลจากจุดหมายปลายทางมากๆ การเลือกแนวทาง วิธีการ หรือเพื่อนร่วมทางอาจไม่เป็นประเด็นให้ต้องขบคิดมากนัก เพราะยังไม่มีอะไรที่แตกต่าง
 
   แต่เมื่อเราเริ่มเข้าใกล้จุดหมายปลายทางมากขึ้น จะยิ่งต้องการความละเอียดและพิถีพิถันในการตัดสินใจเลือกเส้นทางเดินที่แม่นยำและเฉพาะเจาะจง เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ
 
   แพร่งทางแยก (Bifurcation) เป็นสภาวะเมื่อเส้นทาง วิธีการหรือแนวทางที่กำลังดำเนินอยู่ ได้มาถึงจุดที่ต้องเลือกว่าจะไปต่อทางไหนดี ระหว่างสองทางเลือกหรือบางทีก็มากกว่านั้น
 
   ณ ที่นั่น และในขณะนั้น จำเป็นต้องอาศัยข้อมูล ความรู้จริงและประสบการณ์ เพื่อการประเมิน ชั่งน้ำหนักและตัดสินใจอย่างถูกต้อง ซึ่งจะนำพาเราไปสู่จุดหมายปลายทางที่ง่าย เร็วและสั้นที่สุดด้วย
 
   สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) จัดตั้งขึ้นตามพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ถึงปีนี้เราได้ทำหน้าที่นำพากระบวนการนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ในขอบเขตทั่วประเทศ มาครบสิบปีแล้ว
 
   เมื่อผมได้เข้ามาดูแล สช.ในช่วงที่กำลังเป็นรอยต่อการทำงานสู่ทศวรรษที่สองพอดี ผมได้เรียนรู้จากสถานการณ์จริง ทั้งในระดับโครงสร้างส่วนบนและในระดับการขับเคลื่อนของชุมชนท้องถิ่นและภาคประชาสังคมในภาคสนาม
 
   ผมได้พบเห็นแพร่งทางแยกสำคัญ ที่ขบวนภาคพลเมืองกำลังเดินทัพทางไกลผ่าน หรือเผชิญหน้าอยู่ในหลายจุด ซึ่งบ้างมีความคลุมเครือ บ้างก็ชัดเจนแล้ว และบางส่วนกำลังปรับเปลี่ยน อาทิ
 
   1 ทางแพร่งระหว่าง การมุ่งผลักดัน”นโยบายสาธาธารณะของรัฐ” (Public policy by state) กับ การเร่งสร้างสรรค์ ”นโยบายสาธารณะโดยสังคม”(Public policy by social)
   2 ทางแพร่งระหว่าง การสร้างหน่วยงานรัฐในกำกับนายกรัฐมนตรีแบบ สช.ให้เป็นองค์อำนาจแบบแข็ง (Hard power) กับ การเป็นองค์กรเสริมพลังอำนาจแบบอ่อน(Soft power)
   3 ทางแพร่งระหว่าง การขับเคลื่อนภารกิจ สช.โดยพึ่งพาอำนาจจากเบื้องบน(Top down) กับ การมุ่งสานพลังภาคีเครือข่ายในแนวราบ ขับเคลื่อนสังคมฐานล่างและการจัดตนเอง(Bottom up)
   4 ทางแพร่งระหว่าง การรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง สร้างสช.เป็นองค์กรที่ใหญ่โต(Centralize) กับ การมุ่งกระจายบทบาทให้กลไกเครือข่ายระดับพื้นที่ สร้างความแข็งแรงขึ้นมาจากข้างล่าง(Decentralize)
   5 ทางแพร่งระหว่าง การรอคอยส่วนราชการภูมิภาคมาเป็นหัวรถจักรขับเคลื่อนงานสมัชชาสุขภาพจังหวัดและธรรมนูญสุขภาพพื้นที่ (Passive ) กับ การหันไปผนึกกำลัง”ท้องถิ่น-ชุมชน-ประชาสังคม” เพื่อขึ้นมาแสดงบทบาทนำด้วยตนเอง(Pro-active)
 
   เหล่านี้เป็นต้น
 

รูปภาพ