- 2388 views
ตัวแทนจากหลายหน่วยงานร่วมวางแผนอนาคต เตรียมรับมือการเปิดประเทศ-เพื่อนบ้านระบาดหนัก หวังฟื้นเศรษฐกิจพร้อมควบคุมโรคระบาด หนุนชุมชนท้องถิ่นเป็นพระเอกประสานความร่วมมือทุกส่วน ระดมสมองวางมาตรการแก้ปัญหาตนเอง แสดงพลังผ่าน ‘สมัชชาสุขภาพจังหวัด’ ที่จะจัดทั่วประเทศเดือน พ.ย.นี้
29 ก.ย.2563 ที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส มีเวทีพูดคุยเกี่ยวกับการรวมพลังพลเมืองตื่นรู้สู้โควิด-19 ระลอกใหม่ในหัวข้อ ‘สมัชชาจังหวัด: ทุกภาคส่วนร่วมกำหนดอนาคต ฝ่าวิกฤตโควิด ฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ไม่เป็นพิษต่อสุขภาพ’ ดำเนินรายการโดยนางณาตยา แวววีรคุปต์ ทั้งนี้ แผนงานพลเมืองตื่นรู้ ช่วยชาติสู้ภัยโควิด-19 เป็นความร่วมมือของภาคี 26 องค์กรจากทั้งภาครัฐ ท้องถิ่น ภาคประชาชน โดยมีสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เป็นผู้ประสานงานหลัก เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม โดยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 และสร้างความตระหนักรู้ในประชาชน ขณะนี้กำลังดำเนินการต่อเนื่องเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนท่ามกลางการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดระลอกสอง
เปิดเวทีโดยนำเสนอการวิจัยของ ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย กรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคว่า วิกฤตโควิด-19 ไม่ได้กระทบภาคการเงินดังเช่นวิกฤตเศรษฐกิจในอดีต หากแต่กระทบภาคการผลิตจริงซึ่งส่งผลต่อการจ้างงานโดยตรง สำหรับมาตรการปิดประเทศของไทยนั้น ส่งผลต่อการท่องเที่ยวซึ่งสร้างรายได้ คิดเป็น 22% ของจีดีพี และมีธุรกิจเกี่ยวข้องจำนวนมาก นอกจากนี้ ห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศก็น่าจะเปลี่ยนแปลงในระยะยาว หลายประเทศเริ่มปรับตัวและต้องการหาแหล่งวัตถุดิบหรือการผลิตที่จัดการควบคุมได้ในสภาวะโรคระบาด “กลุ่มที่โดนกระทบมากที่สุดคือ คนจนเมือง และที่แย่ที่สุดคือกลุ่มที่มีภาวะพึ่งพิง เช่น คนแก่ คนที่มีโรคประจำตัว คนพิการ หรือคนตกงาน พวกเขาต้องการการคุ้มครองทางสังคม” ดร.สีลาภรณ์ระบุพร้อมนำเสนอทางแก้ปัญหาในการสร้างสมดุลระหว่างความเสี่ยงด้านสุขภาพกับความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจด้วยเสาหลัก 4 ด้าน คือ 1. การเตรียมความพร้อมในระบบสาธารณสุข 2.สร้างมาตรการและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ 3. มีมาตรการทางสังคมรองรับกลุ่มเปราะบาง 4.สร้างสมดุลระหว่างความเติบโตกับความสามารถในการล้มแล้วลุกได้ไว
นายสุขสันต์ จิตติมณี รองผู้อำนวยการสถาบันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์ที่น่ากังวลตอนนี้คือ ตัวเลขผู้ติดโควิด-19 ในเมียนมาซึ่งมีพรมแดนติดกับไทยเพิ่มขึ้นสูงมาก โดยในเดือนสิงหาคมพบผู้ป่วย 305 ราย แต่ล่าสุดมีผู้ป่วยกว่า 5,400 ราย เสียชีวิตในสัปดาห์ที่ผ่านมา 137 ราย ฉะนั้น เรื่องการเฝ้าระวังตามแนวชายแดนจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ขณะนี้ กรมควบคุมโรควางเกณฑ์ไว้ว่า การพบเชื้อนั้น มีโอกาสเจอได้เรื่อยๆ แต่ต้องจำกัดวงการระบาดให้ได้ สำหรับประชาชนควรอยู่ในระดับที่ตระหนักในเรื่องนี้และป้องกันตนเองอยู่เสมอ แต่ไม่ควรตระหนกหากไทยมีการพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ สำหรับการเปิดประเทศนั้นเชื่อว่าพื้นที่กักกันของรัฐและระบบต่างๆ เพียงพอที่จะรองรับ รวมถึงภาคประชาชนก็มีความเข้มแข็ง สถานประกอบการต่างก็ให้ความร่วมมือและให้ข้อมูลแก่ภาครัฐอย่างดี ทำให้การสืบสวนโรคที่ผ่านมาครอบคลุมทุกกรณีในเวลาอันรวดเร็ว
นพ.สำเริง แหยงกระโทก ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 28 ก.ย.ที่ผ่านมา ทุกคนต่างเห็นตรงกันว่า ความร่วมมือแนวราบของ 26 องค์กรที่มาช่วยกันทำงานระดับพื้นที่ได้สร้างความร่วมมืออย่างไม่เป็นทางการ ทั้งในระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล มีผลในการหยุดยั้งโควิด-19 พอสมควร จึงเห็นว่าควรจัดสมัชชาสุขภาพในทุกจังหวัดอีกครั้ง โดยก้าวไปอีกขั้นคือ การเป็นพลเมืองตื่นรู้สู้เศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ โดยเฉพาะการระดมสมองในการตอบโจทย์ด้านเศรษฐกิจว่าจะสร้างการจ้างงานและแบ่งปันทรัพยากรกันอย่างไร
นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า แผนงานรวมพลังพลเมืองตื่นรู้เป็นการร่วมมือกันตั้งแต่นโยบายจนถึงพื้นที่ เน้นการรับมือโรคระบาดในช่วงแรกและช่วงต่อมาคือ การฟื้นฟูคุณภาพชีวิต โดยมีโจทย์สำคัญในการสร้างความสมดุลระหว่างการเปิดเศรษฐกิจและการควบคุมการระบาด “การมีมาตรการภาครัฐเป็นมาตรการกลางนั้นดี แต่การออกแบบรายละเอียดจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้พื้นที่เป็นผู้ออกแบบ เราต้องเชื่อมั่นศักยภาพในท้องถิ่นว่าเขาออกแบบกันเองได้ว่าอยากเห็นจังหวัดเขาเป็นอย่างไร ควรเดินอย่างไร ไปไม่ได้ตรงไหน เมื่อพวกเขากำหนดเองความสมดุลจะเกิดระหว่างมาตรการทางด้านสุขภาพและเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง” นพ.ปรีดากล่าวพร้อมหยิบยกข้อมูลการดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคมมานำเสนอว่า มีการจัดเวทีสมัชชาสุขภาพพลเมืองตื่นรู้ ช่วยชาติ สู้ภัยโควิด-19 ไปแล้วใน 53 จังหวัด โดยมีหน่วยงานหรือกลุ่มต่างๆ 1,539 แห่ง ที่ร่วมทำแบบสอบถาม ซึ่งพบว่า การดำเนินงานดังกล่าวได้สร้างเวทีที่ทำให้เกิดร่วมมือกันของทุกกลุ่มในพื้นที่ แทบทุกพื้นที่เกิดธรรมนูญหรือมาตรการทางสังคม ทำให้รับมือกับสถานการณ์โควิดได้ดี อีกทั้งยังมีเครือข่ายที่จะทำงานต่อเนื่อง
นายปฏิภาณ จุมผา จากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ยืนยันว่า ชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ มีความแข็งแรงเป็นต้นทุนสำคัญของประเทศ โดยขณะนี้มีแกนนำขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ในพื้นที่อยู่ราว 250,000 คน มีกองทุนสวัสดิการซึ่งเป็นการออมของประชาชน 1 ส่วน รัฐสมทบ 1 ส่วน ท้องถิ่นสมทบ 1 ส่วน อยู่ราว 6,027 กองทุน มูลค่ารวม 17,000 ล้านบาท ในวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา ประชาชนก็ได้นำเงินส่วนนี้ไปบริหารจัดการเพื่อการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค เช่น การทำหน้ากาก-เจล ทำครัวกลางชุมนุม ฯลฯ เชื่อว่าในการรับมือระลอกใหม่นั้น ข้อมูล ประสบการณ์ ความรู้และทักษะที่มีจะเพียงพอต่อการแก้ปัญหา โดยเฉพาะแรงงานที่อพยพจากกรุงเทพฯ กลับภูมิลำเนาซึ่งแต่ละพื้นที่มีอยู่ราว 20% ในจำนวนนี้ 12% คิดจะปักหลักในท้องถิ่นไม่กลับเข้ากรุงเทพฯ อีกจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนท้องถิ่น
สำหรับเรื่องเศรษฐกิจ นายปฏิภาณกล่าวว่า ที่ผ่านมา พอช.ขับเคลื่อนแผนธุรกิจเพื่อชุมชนมาตั้งแต่ปี 2561 ปัจจุบันมีชุมชนที่ดำเนินการอยู่ 1,779 ตำบลครอบคุลมใน 3 คลัสเตอร์ คือ การผลิต (เกษตรอินทรีย์, วัตถุดิบธรรมชาติ) การแปรรูป การตลาด (ตลาดสีเขียว, ตลาดชุมชน) การบริการ (การท่องเที่ยวโดยชุมชน) โดยจะเน้นใช้ “ทุน” ในพื้นที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากเพื่อดูแลชุมชน
นายกิตติพงษ์ เกิดฤทธิ์ ผู้อำนวยการกองสาธารสุขท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ในระดับจังหวัดมีนโยบายหลายอย่างที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน เช่น การจ้างงานคนในจังหวัด มาตรการลดดอกเบี้ย การใส่ผ้าไทยของข้าราชการ และหากเกิดระลอกสองขึ้น ในโครงการเงินกู้ที่รัฐบาลอัดฉีดนั้นมีการเขียนโครงการจ้างอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่นเพื่อดูแลคนที่มีภาวะพึ่งพิง กลุ่มเปราะบาง โดยใช้อาสาสมัครที่มาจากการคัดเลือกของพื้นที่ โดยภายในเดือนหน้า ท้องถิ่นจะมีผู้บริบาล 15,148 คนเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงประมาณ 60,000 คน
ขณะที่ กัลยทรรศน์ ติ้งหวัง หนึ่งในผู้แทนจากพื้นที่ ภาคประชาชนจังหวัดสตูล กล่าวว่า การจับมือของหลายหน่วยงาน ทำให้การสร้างความร่วมมือในพื้นที่ทำได้ง่ายขึ้น ที่ผ่านมาประชาชนสามารถขอรับงบสนับสนุนจากองทุนท้องถิ่นมาดำเนินงานได้ มีพื้นที่กลางในการพูดคุยและเริ่มต้นด้วยการเก็บข้อมูลส่วนกลางเพื่อให้ทราบสถานการณ์และผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงหลายอย่าง เช่น 1.จำนวนคนตกงานและผลกระทบด้านรายได้ของอาชีพต่างๆ 2.ในช่วงหลังประชาชนเริ่ม “การ์ดตก” อย่างมีนัยสำคัญ หลายพื้นที่เริ่มไม่มีการใส่แมส 3.คนที่อยู่ได้ในทางเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่เกิดจาการรวมกลุ่มในชุมชน เช่น กลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มอาชีพ แม้กระทั่งการรวมกลุ่มเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร และในขั้นตอนต่อไปคณะกรรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ที่มีนายอำเภอประธานก็จะได้ขยายผลจากตัวอย่างของพื้นที่นำร่องที่ไปยังพื้นที่อื่นๆ
กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147