‘หมอประเวศ’ แนะใช้ชุมชนเป็นฐานการพัฒนา 10 มิติ สร้างเศรษฐกิจภูมิคุ้มกัน | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   ศ.นพ.ประเวศ วะสี แนะสร้างชุมชนเข้มแข็งเป็นฐานการพัฒนา 10 มิติ สร้างระบบเศรษฐกิจภูมิคุ้มกันและระบบเศรษฐกิจชุมชนฐานการเกษตรพลังบวก หวังแก้วิกฤตชาติและวิกฤตโลก ชี้เป็นการปฏิวัติสัมพันธภาพจากแนวดิ่งเป็นแนวราบ
 
   วันที่ 7 มกราคม 2562 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดงานมหกรรมชุมชนสุขภาวะ ครั้งที่ 1 ณ ลานอเนกประสงค์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคารบี) เพื่อสะท้อนความเข้มแข็งของชุมชนจากทั่วประเทศและขยายความสำเร็จไปยังภาคส่วนอื่นๆ
 
   ในพิธีเปิด นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า งานนี้เป็นการสานต่อเจตนารมณ์ในบันทึกความร่วมมือ 33 องค์กรในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 6/2556 ที่มีมติแผนยุทธศาสตร์ร่วมแห่งชาติว่าด้วยระบบสุขภาพชุมชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงผลงานของชุมชนเข้มแข็ง-ชุมชนสุขภาวะที่หลากหลายของภาคีเครือข่ายระดับชาติ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเครือข่าย ข้ามเครือข่ายและพื้นที่ สร้างแรงบันดาลใจในการดำเนินงานของพลเมืองอาสาที่มีจิตสาธารณะ และพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายที่สนับสนุนชุมชนเข้มแข็ง–ชุมชนสุขภาวะ
 
    “งานมหกรรมชุมชนสุขภาวะครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อประสานความร่วมมือจากภาคีทุกภาคส่วนที่เคยร่วมลงนามแสดงเจตนารมณ์สนับสนุนชุมชนเข้มแข็ง และเป็นการแสดงผลงานของชุมชนจากภาคีเครือข่ายระดับชาติและระดับจังหวัดที่สอดคล้องกับมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ สร้างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเครือข่ายและพื้นที่” นพ.พลเดช กล่าว
 
   โดยในวันแรกของการจัดงาน ได้มีปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ‘สร้างภูมิคุ้มกันชุมชนบนฐานเศรษฐกิจการเกษตร’ โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี ซึ่งกล่าวถึงชุมชนเข้มแข็งว่าจะเป็นเครื่องมือแก้วิกฤตโลก เนื่องจากปัจจุบันโลกกำลังเสียสมดุลใน 3 มิติ คือ การเสียสมดุลในตัวมนุษย์ การเสียสมดุลทางสังคม และการเสียสมดุลด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งการเสียสมดุลทั้ง 3 มิตินี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการมีชุมชนที่เข้มแข็ง
 
   “ชุมชนคือระบบการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลระหว่างคนกับคน และคนกับสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้นจึงเป็นเครื่องมือกู้วิกฤตของชาติ ประเทศไทยก็ได้ชื่อว่ามีความเหลื่อมล้ำสูง เพราะการพัฒนาไม่ถือเอาการอยู่ร่วมกันเป็นตัวตั้ง แต่ถือการแข่งขันเสรีหรือการแย่งชิงอย่างเสรีเป็นตัวตั้ง” ศ.นพ.ประเวศ กล่าว
 
   ศ.นพ.ประเวศ กล่าวอีกว่า เหตุที่ชุมชนเข้มแข็งเป็นเครื่องมือกู้วิกฤตชาติและวิกฤตโลก เป็นเพราะชุมชนเป็นฐานสำคัญของการพัฒนาใน 10 มิติหรือพลัง 10 ประกอบด้วย ประการที่หนึ่ง-ฐานทางศีลธรรม ชุมชนเป็นการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลของศีลธรรม ขณะที่สังคมข้างบนไม่สามารถทำได้เพราะเป็นเรื่องของอำนาจ กฎหมาย และมายาคติต่างๆ
 
   ประการที่สอง-ฐานทางจิตใจ การอยู่ร่วมกันทำให้เกิดความอบอุ่น ประการที่สาม-ฐานทางสังคม เพราะในชุมชนมีความเสมอภาค เป็นมิตร และมีการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำ ประการที่สี่-ฐานทางเศรษฐกิจ เพราะเศรษฐกิจชุมชนเป็นเศรษฐกิจจริงที่อยู่บนการทำมาหากิน เชื่อมโยงกับชีวิต ต่างจากเศรษฐกิจข้างบนที่เป็นมายาคติ ไม่มีเศรษฐกิจจริงรองรับ ทำให้ผันผวนได้ง่าย
 
   ประการที่ห้า-ฐานทางวัฒนธรรม ที่หมายถึงวิถีชีวิตร่วมกันของกลุ่มชนที่สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อม ประการที่หก-ฐานทางอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ เนื่องจากการจัดการโดยอำนาจรัฐรวมศูนย์ไม่สามารถจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นธรรมและยั่งยืนได้ แต่ชุมชนที่เข้มแข็งสามารถทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้นได้ ประการที่เจ็ด-ฐานของประชาธิปไตยทางตรง นักวิชาการไปเรียนประชาธิปไตยจากต่างประเทศแล้วไม่เข้าใจประชาธิปไตยชุมชนที่มีความเสมอภาค ภราดรภาพ ร่วมมือกัน ทุกคนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องของส่วนรวม และเป็นประชาธิปไตยทางตรงที่มีคุณภาพกว่าประชาธิปไตยทางอ้อม
 
   ประการที่แปด-ฐานของระบบความยุติธรรม ที่มีกระบวนการแนวราบ ในชุมชนมีผู้เฒ่า ปราชญ์ชาวบ้าน ครู ช่วยดูแล เมื่อชุมชนเข้มแข็ง คดีความก็จะน้อยลง ประการที่เก้า-ฐานของระบบสุขภาพ ระบบชุมชนเป็นระบบสุขภาพที่ใหญ่ที่สุด สามารถดูแลคนได้ด้วยราคาถูกกว่า คุณภาพดีกว่า และรองรับผู้สูงอายุได้ทั้งหมด และประการสุดท้าย-ฐานภูมิคุ้มกัน ซึ่งการอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนจะเป็นภูมิคุ้มกันจากวิกฤตในประเทศและวิกฤตโลก ซึ่งพลังทั้ง 10 ประการนี้จะก่อให้เกิดระบบเศรษฐกิจแบบภูมิคุ้มกัน-ระบบเศรษฐกิจชุมชนฐานการเกษตรพลังบวก
 
   “คนทั่วโลกลำบากเพราะใช้ระบบเสรี แย่งชิงเสรี ประเทศไทยไม่ควรเอาอย่าง เพราะพื้นฐานไม่เหมือนกัน ระบบเศรษฐกิจชุมชนบนฐานเกษตรพลังบวก บวกหมายความว่าใครจะทำอะไรเพิ่มเติมก็ได้ แต่พื้นฐานคือมีบ้าน มีข้าวกิน ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง เป็นภูมิคุ้มกัน ถ้าคนไทยทั้งหมดมีตรงนี้จะมีความสุข คุณภาพชีวิตดี ดูแลลูกได้ แล้วระบบเศรษฐกิจภูมิคุ้มกันกับเศรษฐกิจมหภาคก็จะเกื้อกูลกัน” ศ.นพ.ประเวศ กล่าว
 
   “เราร่วมกันเดินทางไกลเพื่อคนจนมาสี่สิบกว่าปีแล้ว เดินได้ไกลมากขึ้นเรื่อยๆ เดินด้วยสันติ ใช้ความรู้ การมีส่วนร่วม ถักทอกัน จะเกิดพลังยิ่งกว่าการปฏิวัติ เป็นกระบวนการปฏิวัติสัมพันธภาพ เปลี่ยนสัมพันธภาพจากทางดิ่งเป็นทางราบ เรียนรู่ร่วมกัน มีไมตรีจิตต่อกัน” ศ.นพ.ประเวศสรุป
 
   ภายในงานยังมีกิจกรรมอีกหลากหลายและบูธนิทรรศการจากภาคีเครือข่ายระดับจังหวัดกว่า 80 บูธที่ร่วมกันนำเสนอประเด็นต่างๆ เช่น ประเด็นสุขภาพ ประเด็นพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิต ประเด็นเศรษฐกิจฐานราก เป็นต้น โดยงานจะมีการจัดต่อเนื่องจนถึงวันที่ 9 ม.ค. นี้ โดยมีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ วันที่ 8 ม.ค.62 จะมีการเสวนา “พลังพลเมืองอาสา สร้างสังคมสุขภาวะ” โดยทีมวิทยากร พลเมืองอาสา กรณี 13 หมูป่า ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย, การแสดงพิธีการแสดงความมุ่งมั่นขององค์กรภาคีความร่วมมือเพื่อสานต่อภารกิจชุมชนสุขภาวะ, เสวนา ปาบึก ขึ้นบก รับมืออย่างไร ให้ปลอดภัยที่สุด โดยทีมรับมือภัยพิบัติภาคใต้ และ วันที่ 9 ม.ค.62 พบกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ เสวนา จากอดีตสู่อนาคต “ธรรมนูญสุขภาพตำบล : ธรรมนูญชุมชนสุขภาวะ”, พิธีสมโภชธรรมนูญสุขภาวะ – ธรรมนูญตำบล และพิธีปิดงานมหกรรมชุมชนสุขภาวะ ครั้งที่ 1 เป็นต้น
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ