มติสมัชชา ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เป้าหมายมติ : การพัฒนาระบบสุขภาพพระสงฆ์
ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ.2560

อ้างอิงมติ : -

รายงานความห้าวหน้า 

ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 ตามมติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 7/2560 เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2560 มติที่ 191/2560 เรื่องการดำเนินงานพระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ ภายใต้หลักการสำคัญคือ “ใช้หลักธรรมนำทางโลก” มีกรอบแนวทางการดำเนินงาน 3 ด้าน คือ (1) พระสงฆ์กับการดูแลสุขภาพตนเองตามหลักพระธรรมวินัย (2) ชุมชนและสังคมกับการดูแลอุปัฏฐากพระสงฆ์ที่ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย และ (3) บทบาทพระสงฆ์ในการเป็นผู้นำด้านสุขภาวะของชุมชนและสังคม

ต่อมาคณะทำงานได้แปลงแนวทางมาสู่การปฏิบัติผ่านกิจกรรม 5 เรื่อง ได้แก่ (1) การจัดทำระบบฐานข้อมูลพระสงฆ์  (2) การจัดให้มีพระคิลานุปัฏฐากประจำวัด หรือพระอาสาสมัครส่งเสริมสุขภาพประจำวัด (อสว.) (3) การดำเนินงานวัดส่งเสริมสุขภาพ (4) การถวายความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพและการเข้าถึงระบบประกันสุขภาพของพระสงฆ์ การสื่อสารเกี่ยวกับการอุปัฏฐากพระสงฆ์ให้แก่ประชาชน ทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่ และ (5) การดำเนินงานในพื้นที่ให้เห็นเป็นรูปธรรม

          ผลการดำเนินงานที่สำคัญ มีดังนี้  (1) มีพระภิกษุและสามเณรที่ได้รับการตรวจสอบสิทธิเพื่อเข้ารับบริการสาธารณสุข จำนวน 164,004 รูป (2) มีพระสงฆ์และสามเณรที่ได้รับการตรวจคัดกรองสุขภาพ มีจำนวน 81,542 รูป ผลจากการตรวจคัดกรองพบว่า กลุ่มที่เสี่ยงและป่วย ร้อยละ 26 มีแนวโน้มเป็นพระที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป และพบโรคความดันโลหิตสูงมากกว่าโรคเบาหวาน และสามารถจับคู่ 1 วัด 1 สถานพยาบาลได้ จำนวน 9,622 แห่ง (คิดเป็น ร้อยละ 91.7) เกินเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้  (3) มีพระคิลานุปัฏฐาก จำนวนทั้งสิ้น 9,588 รูป (4) มีวัดส่งเสริมสุขภาพที่ผ่านเกณฑ์การประเมินรับรอง 13,968 แห่ง (จากข้อมูลจำนวนวัดที่มีทั้งหมด 42,473 แห่ง) คิดเป็น ร้อยละ 32.89 และ (5) มีวัดร่วมพัฒนาชุมชนคุณธรรม ตามโครงการชุมชนคุณธรรมขับเคลื่อนด้วยพลัง บวร จำนวน 4,911 วัด

ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ.2566

-

สืบเนื่องจากการจัดทำธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติ  ในการดูแลสุขภาวะของพระสงฆ์ ที่คณะสงฆ์และหน่วยงานต่างๆ ร่วมกันจัดทำบนหลักการใช้ทางธรรมนำทางโลก และได้มีการประกาศใช้ต่อสาธารณะอย่างเป็นทางการในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๐ พ.ศ. ๒๕๖๐ โดยได้รับกรุณาบรรจุเป็นส่วนหนึ่งของกิจการคณะสงฆ์ภายใต้งานสาธารณะสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม ซึ่งต่อมาคณะกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม ได้ออกคำสั่งที่ ๐๑/๒๕๖๑ แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ.๒๕๖๐ โดยมีเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ เป็นประธานฯ ฝ่ายสงฆ์ และนายแพทย์ณรงค์ศักดิ์  อังคะสุวพลา เป็นประธานฯ ฝ่ายคฤหัสถ์ เพื่อกำหนดทิศทางและแผนการขับเคลื่อน ติดตาม รวมทั้งสนับสนุน ให้เกิดการดำเนินงานและผลการดำเนินงานตามธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติฯ รายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ๑ ปัจจุบันได้มีการดำเนินงานทบทวนและยกร่างธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ....โดยเป็นไปตามตามหมวด ๕ ข้อ ๓๗ ให้มีการทบทวนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์อย่างต่อเนื่อง โดยพึงให้มีการทบทวนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์อย่างน้อยทุก ๕ ปี และมีการแต่งตั้งคณะทำงานวิชาการทบทวนธรรมนูญสุขภาพ พ.ศ. ๒๕๖๐ เพื่อดำเนินงานจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ปรับปรุง และจัดเวทีประชุมสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นว่าด้วยการทบทวนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ อย่างมีส่วนร่วมแล้ว และคณะกรรมการฯในคราวการประชุมครั้งที่ ๑/๒๕๖๖ เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๖ มีมติเห็นชอบ และมอบหมายฝ่ายเลขานุการฯและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเสนอต่อคณะกรรมการมหาเถรสมาคม

มหาเถรสมาคมได้พิจารณา (ร่าง) ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ. ... จากการทบทวนของคณะกรรมการฯ และมีมติมหาเถรสมาคมครั้งที่ ๑๔  เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๖ มติที่ ๓๖๖/๒๕๖๖ คณะกรรมการมหาเถรสมาคมรับทราบธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๖ และเห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๖ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติ  ในการดูแลสุขภาวะของพระสงฆ์ ที่คณะสงฆ์และหน่วยงานต่างๆ บนหลักการใช้ทางธรรมนำทางโลก ต่อไป