มติสมัชชา ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เป้าหมายมติ : ชุมชนสามารถควบคุมปัญหายาเสพติดให้ส่งผลกระทบน้อยลงต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินในชุมชน
การขับเคลื่อนโดยองค์กร/เครือข่าย

อ้างอิงมิ -

รายงานความก้าวหน้า 

  • กระทรวงสาธารณสุข ได้มีข้อสั่งการและนโยบายที่เกี่ยวข้อง

                   1)  ข้อสั่งการการดำเนินงานด้านการบำบัดฟื้นฟูและลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด กระทรวงสาธารณสุข ปีงบประมาณ 2560 รวมถึงคู่มือการปฏิบัติงาน (Standard Operating Procedure) การดำเนินงานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยยาเสพติด ระบบสมัครใจ

                   2)  นโยบายด้านการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด  ปี 2562 เน้นชุมชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหายาเสพติด  ให้โอกาสผู้เสพยาเสพติดเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาอย่างมีมาตรฐานและเหมาะสม สามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้ตามปกติ  กระทรวงสาธารณสุข ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายดำเนินการบำบัดรักษายาเสพติดภายใต้นโยบาย “ผู้เสพคือผู้ป่วย” ให้โอกาสผู้เสพยาเสพติดเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา แทนการนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ในปีงบประมาณ 2562 เน้นให้ผู้เสพ ผู้ติดได้รับการบำบัดรักษาฟื้นฟูสมรรถภาพอย่างมีมาตรฐาน ซึ่งวิธีที่คุ้มค่าที่สุดและเป็นกระแสโลก คือการให้ชุมชนเป็นศูนย์กลางในการแก้ไขปัญหายาเสพติด (Community Based Treatment and Care : CBTx) ผู้ป่วยที่เข้ารับบริการบําบัดรักษาโดยมีส่วนร่วมของชุมชนมีอัตราการเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลหรือห้องฉุกเฉิน หรือประวัติทางอาชญากรรมลดลง และยังมีระบบทางเลือกที่เหมาะสม อาทิ การลดอันตรายจากยาเสพติด การป้องกันและแก้ไขผู้ที่มีอาการทางจิตจากการใช้สารเสพติดเพิ่มการเข้าถึงบริการระบบสาธารณสุขให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ และการเตรียมการรองรับประมวลกฎหมายยาเสพติด เพื่อเป้าหมายคือผู้เสพผู้ติดยาเสพติดได้รับการบำบัดรักษา ลดอันตรายจากยาเสพติด สามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้ตามปกติ ผลการดำเนินงานในปี 2561 พบว่า สามารถนำผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติดเข้ารับการบำบัดรักษา จำนวน 208,050 ราย จากเป้าหมาย 204,550 ราย โดยผู้เข้ารับการรักษาสามารถหยุดเสพต่อเนื่อง 3 เดือนหลังจำหน่ายการบำบัดรักษาทุกระบบ (3 Month Remission Rate) ได้ร้อยละ 95.65 จากเป้าหมาย ร้อยละ 90

               3)  สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนีแลโรงพยาบาลธัญญารักษ์ภูมิภาค ได้ดำเนินการจัดทำแนวทางการดำเนินงานการบำบัดฟื้นฟูโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนและแนวปฏิบัติที่ดี

               4) ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำแนวทางการบำบัดฟื้นฟูผู้ใช้ยาเสพติดโดยชุมชนเป็นศูนย์กลาง เป็นการดูแลผู้ใช้ยาเสพติดให้เกิดการบำบัดฟื้นฟูใกล้บ้าน หรือภายในชุมชนอย่างต่อเนื่องมีกระบวนการตั้งแต่การค้นหา คัดกรอง บำบัดฟื้นฟู การลดอันตรายจากยาเสพติด และการติดตามดูแลช่วยเหลือทางสังคม

  •  กระทรวงแรงงาน ได้ดำเนินงานภายใต้แผนงานบูรณาการ ป้องกัน และปราบปรามยาเสพย์ติด อยู่ในโครงการส่งเสริมการจัดการด้านยาเสพติดในสถานประกอบการ ซึ่งภารกิจของส่วนใหญ่หลักๆ เป็นเรื่องการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับแรงงานที่อยู่ในสถานประกอบการ และดำเนินงานให้โรงงานดำเนินงานโรงงานสีขาวแล้วก็มีมาตรฐานการแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานประกอบการ แล้วก็จะมีเรื่องของโครงการ To be number one  แล้วก็มาตรฐานการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด จะมี KPI วัดอยู่ว่าสถานประกอบการใดที่จะผ่านเกณฑ์มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานประกอบการกิจการ จะต้องมีกิจกรรมร่วมกับชุมชนในการรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดแล้วก็สร้างภูมิคุ้มกันด้านยาเสพติด

ซึ่งความคาดหวังของกระทรวงแรงงาน  คือ กลุ่มแรงงานเหล่านี้จะมีส่วนช่วยและมีส่วนร่วมในการเป็นเครือข่ายของเราในการช่วยชุมชน สังคม ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของชุมชน

กระทรวงแรงงาน ได้ดำเนินกิจกรรมมีอาสาสมัครแรงงานมีอยู่ในทุกตำบลจำนวน 1,255 ตำบล  มีอาสาสมัครครบทุกตำบลรวมถึงมีโครงการในเชิงให้แรงงาน ไปให้ความรู้และแก้ไขปัญหายาเสพติดในทุกตำบล และให้ความรู้ในเชิงป้องกันเพื่อไม่ให้มีการแพร่ระบาดของยาเสพติดในชุมชนหรือตำบล นอกจากนี้ยังเป็นการทำงานเชิงการป้องกัน เพราะเราสามารถวางคนที่เป็นอาสาสมัครของเราที่เป็นแรงงาน แล้วก็อาสาสมัครของเรามีค่าตอบแทน สามารถอบรมและให้ความรู้ และสามารถขยายไปยังกลุ่มแรงงานนอกระบบอีกประมาณ 10 กว่าล้านคน

  • สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  ได้ดำเนินการโครงการแก้ไขปัญหายาเสพติดในหมู่บ้านกองทุนแม่/ชุมชนเข้มแข็ง  ในปี 2561 ได้ดำเนินการจำนวน 85 ชุมชน โดยขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุน ป.ป.ส. และในปี 2562 อยู่ระหว่างขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุน ป.ป.ส. เพื่อดำเนินการต่อเนื่องผลการปฏิบัติในปี 2561 ที่ผ่านมา สามารถทำให้จำนวนผู้เสพ ลดลงร้อยละ 70.62 และประชาชนให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่เป็นอย่างดีในปี 2562 ได้สั่งการให้สถานีตำรวจ 1,482 สถานี จัดทำโครงการชุมชนเข้มแข็งทุกไตรมาสๆ ละ 1 ชุมชน ตลอดทั้งปี โดยขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากท้องถิ่น
  • สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้สนับสนุนโครงการพัฒนากลไกเครือข่ายภาคประชาสังคมร่วมป้องกันปัญหายาเสพติด และสร้างชุมชนสุขภาวะ พ.ศ.2560-2562  โดย ศูนย์วิชาการสารเสพติด ภาคเหนือ  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ การดำเนินงานที่ผ่านมา ได้ลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นของประชาชน เปิดเวทีรับฟัง สำรวจพื้นที่ต้นแบบ แลกเปลี่ยนกับผู้นำความคิดในภูมิภาค สังเคราะห์บทเรียนการดำเนินงานจัดการปัญหายาเสพติด และออกแบบแนวทางการขับเคลื่อน ซึ่งกำลังดำเนินการร่าง แผนยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดโดยเครือข่ายภาคประชาชน ปี 2561-2565 และได้แนวทางการ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเพื่อการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่าง  สร้างสรรค์ และคิดหารูปแบบการจัดตั้งกองทุนสนับสนุนการทำงานของเครือข่ายภาคประชาชนและได้จัดเวทีบทเรียนประชาชน “ทางออกที่สร้างสรรค์ เพื่อชีวิตที่ปลอดภัยจากยาเสพติด”  ในวันที่ 20 มิถุนายน 2562
  • สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ดำเนินการแก้ไขปรับปรุง รวบรวม สถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้งบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพ และได้จัดทำคู่มือปฏิบัติการกองทุนประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ ตามประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2561
  •   คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดได้มีประกาศ เรื่อง แผนประชารัฐ ร่วมใจ ปลอดภัยยาเสพติด พ.ศ.2561 ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2560 เพื่อเป็นกรอบแนวทางการจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ประกอบด้วย แผนป้องกันยาเสพติด แผนปราบปรามยาเสพติด แผนบำบัดรักษายาเสพติด และแผนบริหารจัดการแบบบูรณาการ
  •    ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ ได้มีคำสั่ง ที่ 3/ 2561 เรื่อง แผนป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดเร่งด่วน ปี 2561 เพื่อให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการรองรับอย่างบูรณาการ เป็นเอกภาพ
  • สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.)  ได้จัดทำ Infographic ชุด..ไขปัญหา “กัญชา” ถูกหรือผิด (ร่าง พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่...) พ.ศ. ...) เพื่อสร้างความรับรู้ความเข้าใจให้แก่ประชาชน และได้มีการนำบรรจุข้อเสนอมติสมัชชาสุขภาพฯ ในแผนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.)
  • กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้มีหนังสือ ที่ มท 0810.8/ว3683 ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2561 เรื่อง การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดขององค์กระปกครองส่วนท้องถิ่น ถึง ผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อให้การดำเนินการใช้จ่ายเงินอุดหนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นไปตามอำนาจหน้าที่และมาตรฐานของทางราชการ  และได้จัดทำแนวทางการจัดทำโครงการขอรับการสนับสนุนงบประมาณและตัวอย่างโครงการขอรับเงินอุดหนุน