มติสมัชชา ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เป้าหมายมติ : มาตรการแรงจูงใจให้แก่ภาคชุมชน ประชาสังคมและเอกชนสร้างสรรค์พื้นที่สาธารณะเพื่อสุขภาวะในพื้นที่
10.3 สนับสนุนและสร้างแรงจูงใจให้แก่ภาคชุมชน ประชาสังคมและเอกชน ในการริเริ่มสร้างสรรค์พื้นที่สาธารณะเพื่อสุขภาวะในพื้นที่ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกรูปแบบ

อ้างอิงมติข้อ  10. ขอให้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกรูปแบบ ประสานกับหน่วยงานและภาคีที่เกี่ยวข้อง เจ้าของพื้นที่ภาครัฐซึ่งรวมถึงรัฐวิสาหกิจและเอกชนในการ

รายงานความก้าวหน้า

1. กลุ่ม We!Park (Public Space We! Can)

We!Park คือ เครือข่ายที่ตั้งใจชวนทุกคน มาช่วยกันสร้างพื้นที่สาธารณะสีเขียวที่มีคุณภาพและยั่งยืน ในรูปแบบของ Pocket Park หรือสวนขนาดเล็ก ภายใต้โครงการ Green Bangkok 2030 โดยสามารถนำพื้นที่นอกอาคาร ภายในอาคาร บนอาคาร หรือส่วนหนึ่งส่วนใดที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือมีการใช้งานน้อย ที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย สามารถเปิดเป็นพื้นที่สาธารณะให้คนในเมืองเข้ามาร่วมใช้งานได้อย่างน้อย 10 ปี หรือถาวร มาพัฒนา ด้วยการค้นคว้าวิจัยและเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายเพื่อให้พื้นที่สาธารณะนั้นเป็นไปตามความต้องการของคนในพื้นที่ โดยคำนึงถึงการจัดพื้นที่ให้เป็นพื้นที่สาธารณะ (Public Space for All) ออกแบบตามหลัก Universal Design สามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม อยู่ในระยะที่เดินถึง ใช้ประโยชน์ร่วมกันได้อย่างหลากหลาย เป็นพื้นที่สุขภาวะ ให้คุณค่าเชิงนิเวศ และเป็นพื้นที่มีความยั่งยืน ภายใต้แนวคิด Win-Win Solution ที่ทำให้ทุกภาคส่วนในสังคม ตั้งแต่ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ สถาบันการศึกษา สมาคมวิชาชีพ จนถึงประชาชน ได้รับผลประโยชน์โดยพร้อมเพรียงกัน  เพราะที่ว่างมีศักยภาพจัดกิจกรรมพัฒนาพื้นที่ว่างให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียว

      กลยุทธ์ของ we!park เริ่มจากหาพื้นที่ว่างที่ไม่ถูกใช้ประโยชน์ โดยอาจเป็นพื้นที่เศษเหลือจากการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ พื้นที่ใต้ทางด่วน พื้นที่ใต้สะพาน ไปจนถึงพื้นที่รกร้าง ซึ่งเจ้าของพื้นที่ดินยินดีมอบให้เป็นสาธารณะประโยชน์ (ไม่จำเป็นต้องบริจาคให้ถาวร แต่เป็นลักษณะให้ยืมพื้นที่ในช่วงเวลาหนึ่ง) จากนั้น จะลงไปศึกษาพื้นที่ มีการดึงคนรุ่นใหม่อย่างนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ เข้ามาทำกระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมกับชุมชน (Participatory Design)  เมื่อได้ข้อสรุป ก็จัดหางบประมาณมาปรับปรุงพื้นที่รกร้างให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียวสาธารณะที่ออกแบบโดยชุมชน โดยมีภาครัฐหรือเอกชนเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ เช่น กทม. ก็เป็นพาร์ตเนอร์หลักที่ช่วยในเรื่องงบประมาณบำรุงรักษา

       ที่ผ่านมาได้พัฒนาพื้นที่รกร้างจนกลายเป็นลานกีฬาพัฒน์ ทั้งที่ใต้ทางด่วนย่านอุรุพงษ์และชุมชนคลองจั่น เป็นลานกีฬาที่ผ่านกระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วม เมื่อคนรู้สึกเป็นเจ้าของ เพราะตรงกับความต้องการจริงๆ เมื่อเข้ามาใช้ เขาก็จะช่วยกันดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง หรือขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาพื้นที่บริเวณหลังวัดหัวลำโพงด้านหลังร้านกาแฟ Too Fast To Sleep ย่านอ่อนนุชบริเวณหลังโครงการ T77 ซึ่งทั้ง 2 พื้นที่ได้รับบริจาคจากภาคเอกชน ย่านเอกมัยที่เป็นพื้นที่เศษเหลือจากการทำสะพานข้ามคลองแสนแสบ พื้นที่เอกชนอย่าง River City พื้นที่ย่านราชประสงค์ และพื้นที่ย่านอโศก

2. กลุ่มสถาปนิก ใจบ้านสตูดิโอ (JaiBaan Studio) เกิดขึ้นจากกลุ่มสถาปนิกที่เชื่อมั่นว่า งานออกแบบที่ดี สามารถก่อประโยชน์ได้ ทำให้คุณภาพชีวิตของคนดีขึ้นได้ จึงควรต้องถูกกระจายสู่ทุกคนในสังคม ไม่ใช่เพียงกลุ่มคนกระจุกเดียวที่มีฐานะดีจึงมีโอกาสเข้าถึงได้ จึงได้ใช้ ‘พื้นที่สาธารณะ’ นำกระบวนการออกแบบเข้าสู่ชุมชน จนเกิดเป็นโปรเจกต์สร้างสรรค์จำนวนมากที่กำลังสร้างความเคลื่อนไหวน่าสนใจ และเป็นส่วนสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเมืองเชียงใหม่ให้ดีขึ้น
ในขณะนี้ อาทิ สวนผักคนเมืองเชียงใหม่ ที่พวกเขาเข้าไปเปลี่ยนพื้นที่ทิ้งขยะกลางเมืองเชียงใหม่ให้กลายเป็นสวนผักเลี้ยงปากท้องผู้คน โปรเจกต์ Imagine Maekha ที่ชวนชุมชนคลองแม่ข่ามาร่วมแสดงจินตนาการที่อยากให้เกิดขึ้นในพื้นที่ของตน จนนำไปสู่ไอเดียการออกแบบของชุมชนร่วมกับภาครัฐพัฒนาพื้นที่คลองแม่ข่าให้ดียิ่งขึ้น เป็นต้น