สร้างเสริมสุขภาวะระยะสุดท้ายของชีวิตที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันมากขึ้นสะท้อนถึงความเป็น ‘สังคมอารยะ’ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

#นิตยสารสานพลัง

 

1

 

นับตั้งแต่ปี ๒๕๕๐ ที่ พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ มีผลบังคับใช้ และก่อกำเนิดองค์กรสานพลังอย่าง สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ขึ้นมา จนถึงวันนี้เป็นเวลามากกว่า ๑๗ ปี ที่มีการขับเคลื่อนเรื่อง ‘สิทธิตายดี’ และสุขภาวะในระยะท้าย ตามมาตรา ๑๒ มาอย่างต่อเนื่องอย่างเข้มข้น

มาจนถึงวันนี้ ดอกผลได้ผลิออก-เบ่งบาน ประเทศไทยและคนจำนวนมากคุ้นชินกับคำว่า ‘การดูแลแบบประคับประคอง’ (Palliative Care) ในความหมายที่กว้างขึ้น ครอบคลุมถูกต้องและเป็นมิตร มีทัศนคติเชิงบวกกับชีวิตระยะสุดท้าย รวมทั้งเรื่อง ‘การตาย’ ผู้ที่ขับเคลื่อนในเรื่องนี้จึงได้รับมากกว่า ‘บุญ’ คือถึงขั้นเป็น ‘กุศล’ จากการได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการคลี่คลายความทุกข์ทรมานทางกาย อันจะนำไปสู่การปลดปล่อยความขุ่นหมองจิตใจ และจิตสงบ ปล่อยวาง จนถึงวินาทีที่จิตสุดท้ายดับในสังสารวัฏอันยาวนานที่ไม่รู้จุดเริ่มต้นและมองไม่เห็นจุดสิ้นสุด นี่จึงถือเป็นภารกิจที่ยังประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ ซึ่งหนึ่งในผู้ที่เป็นแกนประสานหนุนเสริมการทำงานสำคัญ คือ สุทธิพงษ์ วสุโสภาพล รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.)

 

นิตยสารสานพลังฉบับนี้ จึงขอชักชวนทุกท่านพูดคุยกับ ‘สุทธิพงษ์’ ถึงระบบนิเวศน์ของมาตรา ๑๒ แห่ง พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ทั้ง การดูแลแบบประคับประคอง การวางแผนการดูแลล่วงหน้า (Advance Care Planning: ACP) หนังสือแสดงเจตนา (Living Will) ตลอดจนก้าวต่อไปหลังจากนี้

 

สุทธิพงษ์ เริ่มการสนทนาว่า โดยธรรมชาติแล้วประชาชนทุกคนล้วนมีสิทธิในการจัดการกับชีวิต มีสิทธิในการออกแบบการดูแลสุขภาพของตนเองได้อยู่แล้ว แต่กฎหมายมาตรา ๑๒ ได้เขียนขึ้นมาเพื่อ ‘รับรองสิทธิ’ ให้กับประชาชนสามารถแสดงเจตนา “ไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้” เมื่อถึงเวลาต้องจากไป ก็จะให้จากไปตามภาวะที่เป็น

 

--- ๓ วงกลม ที่ซ้อนกันอยู่ ---

เมื่อบุคคลมีสิทธิโดยธรรมชาติและมีกฎหมายรับรองแล้ว ถัดมาจึงเป็นระบบการบริหารจัดการ หรือ ‘กระบวนการดูแลในระยะท้ายของชีวิต’ ซึ่ง สุทธิพงษ์ อธิบายเป็นภาพของวงกลม ๓ วงที่ซ้อนกันอยู่

 

วงรอบนอกที่ครอบคลุมหลายเรื่องทั้งหมด

คือ การดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) อันว่าด้วยการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีแบบองค์รวม ครอบคลุมทุกมิติของสุขภาพ (ร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ) ที่มุ่งเน้นการเพิ่มคุณภาพชีวิต โดยจะคำนึงถึงความต้องการและความปรารถนาของผู้ป่วยและครอบครัวร่วมด้วยเสมอ อีกทั้ง เป็นการดูแลควบคู่ไปกับการรักษาการเจ็บป่วยที่ดำเนินอยู่ด้วย

 

วงกลมถัดลงมา

คือ การวางแผนการดูแลล่วงหน้า (Advance Care Planning: ACP) เป็นกระบวนการวางแผน / ออกแบบการดูแลเอาไว้ล่วงหน้าในขณะที่ยังมีสติสัมปชัญญะดีอยู่ เพื่อเตรียมความพร้อมหากชีวิตก้าวเข้าสู่ระยะสุดท้ายที่ไม่สามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเอง บุคคลรอบข้างก็จะสามารถจัดการดูแลให้ได้ตามเจตนาที่แสดงเอาไว้ ซึ่งจะมีรายละเอียด เช่น จุดประสงค์ ความต้องการดูแลรักษาในระยะสุดท้าย บุคคลที่มอบให้เป็นตัวแทนในการตัดสินใจ ฯลฯ

 

วงกลมในสุด

คือ หนังสือแสดงเจตนา (Living Will) ซึ่งจะเป็นการเขียนบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรที่แสดงถึงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขในวาระสุดท้าย เช่น ปฏิเสธการเจาะคอ การใช้เครื่องช่วยหายใจ ฯลฯ โดยเมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนานั้นแล้ว จะพ้นจากความรับผิดทั้งปวง ขณะเดียวกันยังใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารเจตนาไว้ให้ครอบครัวและญาติพี่น้องได้รับรู้ด้วย

 

สุทธิพงษ์ สรุปว่า ทั้งหมดนี้จะไม่ส่งผลกับเพียง ‘คนไข้’ เท่านั้นที่จะได้รับการดูแลตามสิทธิและความประสงค์ที่ต้องการ แต่ยังส่งผลไปถึงการดำเนินชีวิตของครอบครัว ญาติพี่น้อง สังคม ไปจนถึงภาพใหญ่ในระดับ ‘ประเทศ’ ที่จะสามารถลดจำนวนทรัพยากรและงบประมาณที่ถูกใช้ไปกับการ ‘ยื้อชีวิต’ ในระยะสุดท้ายที่อาจไม่เป็นผลที่ดีขึ้นได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสังคมไทยที่กำลังเผชิญกับปัญหา “โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)” เช่น โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง ฯลฯ ซึ่งเป็นกลุ่มโรคที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตมากเป็นอันดับ ๑ และยิ่งมีผู้ป่วยเป็นโรคในกลุ่มนี้มากขึ้นเรื่อยๆ

ขณะเดียวกันประเทศไทยก็เดินหน้าเข้าสู่ “สังคมสูงวัย” ที่มีจำนวนผู้สูงอายุเกินกว่าร้อยละ ๒๐ และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ด้วย ทว่าในอีกด้านหนึ่ง วิทยาการความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ กลับยิ่งเพิ่มความสามารถให้กับการยื้อชีวิตผู้ป่วยได้มากขึ้น

สิ่งเหล่านี้ยังตามมาด้วยค่าใช้จ่ายมากมาย ซึ่งสถานการณ์ทั้งหมดนี้คือความสำคัญจำเป็นที่สิทธิตามมาตรา ๑๒ และ “ACP” จะเข้ามาช่วยลดความรุนแรงของปัญหาได้

 

 

2

 

--- สช. กับการสร้างสุขภาวะดีระยะท้ายเพื่อคนไทย ---

สำหรับ สช. หนึ่งในบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาวะในระยะท้ายของชีวิต คือการจัดให้เกิดกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม ที่เชื่อมโยงกับทุกมิติสุขภาพและภาคส่วนต่างๆ ในสังคมมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น

ตัวอย่างเช่น ที่ได้มีการหารือร่วมกับภาคีเครือข่ายองค์กร ที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันให้ ACP มีมาตรฐานหรือแนวทางกลางร่วมกันจนกระทั่งเกิดเป็น มาตรฐานการวางแผนการดูแลล่วงหน้าสำหรับประเทศไทย (Thai standards for advance care planning) พ.ศ. ๒๕๖๕ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้มีการนำไปปรับใช้กับหน่วยงานของตนเองผ่านเครือข่ายระบบบริการต่างๆ มากขึ้น

ไม่เพียงเท่านั้น ล่าสุด สช. ยังมีบทบาทเป็นกลไกกลางเชื่อมร้อยหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมการแพทย์ กรมอนามัย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับ ThaID (ไทยดี) เพื่อพัฒนาต่อยอด Living Will กลายมาเป็นหนังสือแสดงเจตนาอิเล็กทรอนิกส์ หรือ “e-Living Will” ที่ทำให้ข้อมูลความประสงค์ของผู้ป่วยได้เข้าไปสู่ระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าถึงและนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ได้มากยิ่งขึ้น

ในมิติการพัฒนาองค์ความรู้ สช. สร้างความเข้าใจให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง ผ่านการทำงานร่วมกับเครือข่ายสถาบันวิชาการ สถานบริการสุขภาพ โรงเรียนแพทย์  เครือข่ายประชาสังคมและเอกชน  เพื่อพัฒนาความรู้ด้านการดูแลระยะท้ายให้เกิดเป็นทางเลือกที่หลากหลาย ตลอดจนส่วนสำคัญสุดท้าย บทบาทการสื่อสารสร้างการรับรู้ ให้เกิดความเข้าใจสู่สังคมในวงกว้าง

“หัวใจสำคัญที่เราอยากสื่อสารให้สังคมเข้าใจคือ การดูแลแบบประคับประคองในระยะท้ายไม่ได้หมายถึงการไม่ดูแลรักษา แต่เป็นการดูแลตามมาตรฐานการรักษาทุกอย่าง เพื่อให้ชีวิตในระยะท้ายไม่ทุกข์ทรมาน ไม่เป็นภาระของญาติพี่น้อง รวมทั้งให้เกิดความรับรู้ เข้าใจ และยอมรับกันมากขึ้น เพราะสังคมเรายังมีมายาคติ ความเชื่อบางอย่าง ที่ยังต้องการสื่อสารสร้างความเข้าใจและการยอมรับอีกมากและต่อเนื่อง” สุทธิพงษ์ สะท้อนถึงภารกิจ