- 59 views
ผู้ช่วย รมต.ศธ.ฯ ร่วมสะท้อนภาพการแก้ไขปัญหา “บูลลี่-บุหรี่ไฟฟ้า” ภายในรั้วโรงเรียน ผ่านการยกเลิกแยกห้องน้ำครู-นักเรียน พร้อมชูแนวทางการสร้างความสุข ลดภาระครู ดูแลสุขภาวะที่รอบด้านของผู้เรียน ด้าน สช. ชูเครื่องมือ “ธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษา” เปิดโอกาสแต่ละโรงเรียนกำหนดนโยบาย-ออกแบบมาตรการที่เหมาะสม บนการมีส่วนร่วมที่รอบด้าน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาระบบสุขภาพสถานศึกษา
เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2567 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการ “รับมือการ Bully ในโรงเรียน” ภายในกิจกรรมการประชุมครูประจำเดือน พฤษภาคม 2567 ของโรงเรียนศึกษานารี โดยมี นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และโฆษกประจำกระทรวงฯ ร่วมปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ นโยบายสู่การปฏิบัติ “เติมเต็มความสุขให้กับครูและนักเรียน”
นายสิริพงศ์ กล่าวว่า นโยบายของ ศธ. ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการสร้างความสุขในสถานศึกษาตามสโลแกน ‘เรียนดี มีความสุข’ ซึ่งหมายความว่าการเรียนคงจะดีไปไม่ได้ หากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนไม่มีความสุข และถ้าเด็กจะมีความสุขได้ อันดับแรกก็ต้องเริ่มต้นจากความสุขของคุณครูก่อน โดยทาง ศธ. เองก็รับรู้ถึงปัญหาและพยายามปรับปรุงในส่วนต่างๆ ที่ถูกสะท้อนว่าทำให้ครูไม่มีความสุข ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความเจริญก้าวหน้า วิทยฐานะ งานเอกสาร หรือครูเวรที่ได้ดำเนินการยกเลิกไปแล้ว เป็นต้น
โฆษก ศธ. กล่าวว่า อีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่พบว่าทั้งครูและนักเรียนอยากให้มีการพัฒนาปรับปรุงมากที่สุด นั่นคือเรื่องของ ‘ห้องน้ำ’ ซึ่งหลังจากที่ ศธ. มีนโยบายยกเลิกการแบ่งแยกห้องน้ำครูและนักเรียนไปแล้ว กลับกลายเป็นเรื่องที่มีดราม่าจำนวนมาก จึงอยากอธิบายให้มองว่าเรื่องนี้เป็นการบริหารจัดการทรัพยากรที่เรามีอยู่จำกัด ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของงบประมาณ รวมถึงการสอดส่องดูแล เพราะสิ่งที่จะเกิดขึ้นทันที อย่างเด็กที่แอบสูบบุหรี่ก็จะไม่กล้า รวมไปถึงพฤติกรรมการรังแก หรือ ‘บูลลี่’ (Bully) ที่น่าจะลดน้อยลงไปด้วย
“สถานที่หนึ่งที่เกิดการบูลลี่กันบ่อยที่สุดนั่นก็คือ ห้องน้ำ เพราะเวลาจะรังแกกันก็ต้องไปในจุดที่ลับตาคนที่สุด ซึ่งปัญหาเรื่องของการบูลลี่ ภาวะซึมเศร้า หรือสุขภาพจิต ก็เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงมากขึ้นในปัจจุบัน ดังนั้น ศธ. ในยุคนี้ก็จะต้องให้ความสำคัญกับสุขภาวะในทุกด้าน เพราะไม่ว่ากายหรือจิตทุกอย่างล้วนเชื่อมโยงกัน โดยทาง ศธ. ได้มีคณะทำงานขึ้นมาดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ และยังลงนามความร่วมมือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เพื่อชวนกันทำเรื่องธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษาด้วย” นายสิริพงศ์ ระบุ
นายสิริพงศ์ กล่าวว่า ธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษา จะเป็นความตกลงหรือความเข้าใจร่วมของแต่ละโรงเรียนที่จัดทำขึ้นมา เพื่อเป็นข้อตกลงร่วมกันว่าจะมีการดำเนินการในแต่ละเรื่องอย่างไรบ้าง เช่น ระเบียบทรงผมนักเรียน หรือแม้แต่การแต่งกายชุดลูกเสือ ที่หลายโรงเรียนอาจยังไม่ทราบว่า ศธ. ได้ให้อำนาจโรงเรียนเป็นผู้ตัดสินใจเองได้ว่าจะบริหารจัดการสิ่งเหล่านี้อย่างไร รวมถึงอีกปัญหาใหญ่ที่หลายโรงเรียนเจออยู่ อย่างเรื่องของ ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ ที่เข้ามาระบาดในหลากหลายรูปแบบ ก็ควรจะต้องมีการพูดคุยเพื่อหารือกันว่าจะมีการวางมาตรการอย่างไร
“ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไปมาก แม้เราจะพยายามหาหลักสูตรทางวิชาการ หรือองค์ความรู้มากมายมาเติมให้เด็ก ไม่มีอะไรการันตีว่าเขาจะนำเอาความรู้ไหนไปใช้ประโยชน์จริงได้ หน้าที่เราทำได้แค่เพียงเตรียมความพร้อมให้กับเขา แต่สิ่งที่จะติดตัวเขาไปและได้ใช้อย่างแน่นอนคือทักษะ Soft Skill ซึ่งสิ่งเหล่านี้เริ่มต้นได้ที่โรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคุณธรรมจริยธรรม พฤติกรรมที่พึงปฏิบัติต่อผู้อื่น รวมถึงความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาวะทางจิต เป็นต้น ส่วนครูเองเราก็จะพยายามบริหารเพื่อลดภาระงานที่เป็นอุปสรรคลง ทำให้ความสุขของครูเกิดขึ้น เพื่อที่จะแบ่งปันความสุขเหล่านั้นไปสู่นักเรียนได้ต่อไป” โฆษก ศธ. ระบุ
ด้าน นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อขับเคลื่อน ‘ธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษา’ ระหว่าง ศธ. และ สช. เป็นการขับเคลื่อนตามกรอบของธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2565 ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) และรัฐสภา เพื่อส่งเสริมการพัฒนาระบบสุขภาพสถานศึกษา โดยบูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายหน่วยงานต่างๆ ให้ผู้เรียนมีความรอบรู้ มีทักษะและพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า หัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษา เพื่อให้เกิดระบบสุขภาพที่พึงประสงค์ทั้ง 4 มิติ คือ กาย จิต ปัญญา และสังคม สำหรับสถานศึกษา บนการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นครู นักเรียน ผู้ปกครอง รวมไปถึงท้องถิ่น ชุมชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ เพื่อกำหนดออกมาเป็นเป้าหมายที่ทุกฝ่ายให้การยอมรับร่วมกัน และสามารถนำไปใช้ดำเนินการเพื่อนำไปสู่เป้าหมายหลักนั่นคือ ‘เรียนดี มีความสุข คุณภาพชีวิตดี’ ได้
“ตัวอย่างเช่นของโรงเรียนศึกษานารี ที่ขณะนี้มีการพูดถึงกันในประเด็นหลักสองเรื่อง คือปัญหาสุขภาพจิต การบูลลี่ กับเรื่องของบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงต่อไปในวันข้างหน้าที่อาจมีสถานการณ์ปัญหาใหม่ๆ เกิดขึ้น ก็สามารถนำเอาประเด็นเหล่านี้มาเป็นตัวตั้ง และจัดให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมภายในโรงเรียน โดยมาร่วมกันคิด แลกเปลี่ยนหารือ และนำไปสู่การได้ข้อเสนอ เพื่อกำหนดเป็นมาตรการที่สำคัญในการแก้ไขหรือเฝ้าระวังไม่ให้เกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้น ผ่านเครื่องมือธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษา” นายสุทธิพงษ์ ระบุ
นายสุทธิพงษ์ กล่าวอีกว่า ไม่เพียงแต่เรื่องของสุขภาพจิตและบุหรี่ไฟฟ้าเท่านั้น แต่ยังมีประเด็นด้านสุขภาพที่สำคัญอีกมาก ที่สามารถเชื่อมโยงกับธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษาได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี อาหารในโรงเรียน การใช้ยาสมเหตุผล การจัดการปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน การส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ความปลอดภัยในการใช้สื่อ การจัดระบบนิเวศการเรียนรู้ในศูนย์เด็กเล็กเพื่อลดปัญหาฟันผุ เป็นต้น
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม:
กลุ่มงานสื่อสารสังคม สช.
โทร. 02-8329141