๔ ปี ‘คสช.’ บอร์ดสุขภาพประเทศไทยกับการเปลี่ยนผ่านสังคม ด้วยกระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

       สวัสดีครับพี่น้องภาคีเครือข่ายที่รักทุกท่าน ห้วงเวลานี้ถือว่าเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ‘เปลี่ยนผ่านประเทศไทย’ ว่าการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากเสียงข้างมากของประชาชนเมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคมที่ผ่านมา จะผ่านไปได้ด้วยความราบรื่น สร้างความหวัง สานพลังคนไทยทุกช่วงวัยให้เดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงและสุขสงบ หรือตรงข้ามจะเข้าสู่ความขัดแย้งที่หนักหน่วง และเผชิญหน้าต่อเนื่องยาวนานมากขึ้นนับตั้งแต่การปฏิวัติปี ๒๕๔๙ และปี ๒๕๕๗ ซึ่งพี่น้องภาคีจะต้องติดตามและมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนผ่านสถานการณ์นี้ พาประเทศให้ปลอดภัยไปด้วยกันให้ได้

       
นอกจากนี้ ในห้วงเวลานี้ยังเป็นจังหวะก้าวสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ และนโยบายด้านสุขภาพของประเทศ เนื่องด้วยเป็นช่วงปลายวาระดำรงตำแหน่งของ “คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ” หรือ “คสช.” ชุดที่ ๔ ที่จะหมดวาระลงในวันที่ ๖ ธ.ค. ๒๕๖๖

       
นั่นจึงถือเป็นช่วง ‘เปลี่ยนผ่าน’ ที่สำคัญ ซึ่งช่วงเดือนกรกฎาคมต่อเนื่องถึงสิงหาคมนี้ อยู่ระหว่าง ‘กระบวนการสรรหา’ ผู้ที่มีคุณสมบัติและศักยภาพ เพื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็น คสช. ชุดถัดไป

       
สำหรับกลไก คสช. ถูกกำหนดขึ้นตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีคณะกรรมการจากหลากหลายหน่วยงาน ทำหน้าที่เสนอแนะหรือให้คำปรึกษาเกี่ยวกับนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพของประเทศต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งในทางหนึ่ง เราก็อาจเปรียบได้ว่ากลไกนี้เป็นบอร์ดสุขภาพของประเทศ ที่มีบทบาทสำคัญต่อการวางทิศทางในการสร้างสุขภาวะ ผ่านเครื่องมือต่างๆ เช่น ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ฯลฯ
       
       
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาของ คสช. ชุดปัจจุบัน ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) เป็นประธานแทนนายกรัฐมนตรี และกรรมการจากหลายภาคส่วนกว่า ๔๐ คน ได้ร่วมกันทำงานและขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ภายใต้โจทย์สถานการณ์ที่ท้าทายไปแล้วมากมาย หนึ่งในเรื่องใหญ่ที่สุดคือการฝ่าฟันมหาวิกฤต “โควิด-19” ซึ่งเป็นภัยคุกคามด้านสุขภาพที่สำคัญ และยังสร้างผลกระทบอันใหญ่หลวงไปทั่วโลกและประเทศไทยจวบจนทุกวันนี้

       
อย่างไรก็ตามด้วยความร่วมมือของ คสช. ทุกคนและภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ ภายใต้การขับเคลื่อนแผนงาน “รวมพลังพลเมืองตื่นรู้ ช่วยชาติสู้ภัยโควิด-19” ได้ทำให้เกิดมาตรการหรือข้อตกลงรวมหรือธรรมนูญสู้ภัยโควิดของประชาชนและชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อหนุนเสริมมาตรการหลักของภาครัฐให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยพลิกฟื้นสถานการณ์ พร้อมสร้างพื้นที่ต้นแบบขึ้นมามากมาย ซึ่งกลายเป็นบทเรียนการมีส่วนร่วมอันล้ำค่าและถูกนำมาต่อยอดถึงในปัจจุบัน

       
แม้จะเป็นห้วงเวลากว่า ๓ ปีของวิกฤตด้านสุขภาพ แต่กลไก คสช. ก็ยังได้สร้างให้เกิดผลงานที่มีความสำคัญระดับประเทศและพื้นที่มากมาย เช่น การจัดทำและประกาศใช้ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๖๕, การจัดทำธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ฉบับที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๖๖ รวมถึงการจัดทำหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ที่เกิดจากนโยบายสาธารณะ (HIA) พ.ศ. ๒๕๖๔ เป็นต้น

       
เช่นเดียวกับวาระใหญ่ประจำปีของเราอย่าง “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” ที่มีการจัดรวม ๔ ครั้งในช่วงปี ๒๕๖๒ - ๒๕๖๕ ของ คสช.ชุดปัจจุบัน เกิดเป็น ๑๒ มติ เพื่อรับมือกับปัญหาสำคัญของประเทศ ตัวอย่างหนึ่งเช่น มติหลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ที่เป็นนโยบายสำคัญของหลายพรรคการเมืองด้วยเช่นกัน

       
พี่น้องภาคีเครือข่ายที่รักทุกท่านครับ โจทย์งานด้านสุขภาพเหล่านี้ยังมีสถานการณ์ท้าทายอีกมากมายที่รอคอยอยู่ข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นผลพวงที่คงเหลือจากการระบาดของโควิด-19 ความเหลื่อมล้ำ สังคมสูงวัย การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี สภาพสังคม ตลอดจนภูมิรัฐศาสตร์ รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บริบทเหล่านี้จึงต้องการผู้ที่มีวิสัยทัศน์ องค์ความรู้ สามารถมองภาพกว้างและเห็นความเชื่อมโยงของระบบสุขภาพและระบบอื่นๆ ไปข้างหน้าได้ ภายใต้กลไกของบอร์ดสุขภาพประเทศ

      
ด้วยสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ที่อยู่ระหว่างความไม่ชัดเจนของการจัดตั้งรัฐบาลของกลุ่มพรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมากอย่างเด็ดขาดจากประชาชน และ ๒๕๐ เสียงของวุฒิสมาชิกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ประกอบกับกระแสประชาชนทุกช่วงวัยที่ตื่นตัวและต้องการปฏิรูประบบที่ฉุดรั้งการพัฒนาประเทศมาเป็นเวลายาวนาน การมี คสช. ชุดใหม่ที่มีศักยภาพและเป็นตัวแทนของภาคส่วนต่างๆ ทั่วประเทศตามที่ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ กำหนดไว้ ทำหน้าที่เป็นกลไกพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม จึงสอดคล้องทั้งต่อสถานการณ์ของประเทศและความต้องการการปฏิรูประบบสุขภาพของประชาชน

      
จึงอยากเชิญชวนพวกเราภาคีเครือข่ายเข้ามาร่วมผลักดันและขับเคลื่อนงาน ภายใต้กลไกและเครื่องมือต่างๆ ในกระบวนการนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ไปพร้อมกันกับ คสช. ชุดปัจจุบัน และชุดถัดไปที่จะเข้ามาร่วมสานงานต่อหลังจากนี้ครับ

รูปภาพ