Health in All Policies กับ นโยบายของรัฐบาลประชาธิปไตย | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

    สวัสดีครับพี่น้องภาคีเครือข่ายที่รักทุกท่าน ประเทศไทยกำลังจะเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ชนิดพลิกฝ่ามือ หลังจากผลการเลือกตั้ง ๒๕๖๖ ชี้ชัดมติมหาชนว่า ประชาชน-คนไทย ต้องการ ‘สิ่งใหม่-ทางเลือกใหม่’ ที่จะเข้ามานำพาคุณภาพชีวิตและประเทศชาติ ไปสู่ ‘มาตรฐานใหม่’ ที่ดีขึ้นกว่าเมื่อ ๘ ปีที่ผ่านมา

    
จากผลการเลือกตั้งที่ ‘พรรคก้าวไกล’ และ ‘พรรคเพื่อไทย’ กวาดคะแนนเสียง-ที่นั่งในสภาฯ ได้เป็นลำดับที่ ๑ และ ๒ รวมกว่า ๒๙๒ เสียง สะท้อนถึงการได้รับความไว้วางใจจากประชาชนที่ต้องการให้บ้านเมืองเดินหน้าไปสู่ความเป็น ‘ประชาธิปไตย’ โดยเฉพาะ ‘พรรคก้าวไกล’ ที่สร้างปรากฏการณ์ทางการเมือง ทั้งการล้มบ้านใหญ่ การแลนด์สไลด์ในกรุงเทพฯ และระดับจังหวัด ฯลฯ ตรงนี้สะท้อนว่า ‘ยุคสมัยได้เปลี่ยนไปแล้ว’ และการบ้านการเมืองในปัจจุบัน เป็นเรื่องของ ‘เยาวชน-คนรุ่นใหม่’ ในฐานะเจ้าของประเทศ

    
พี่น้องภาคีที่เคารพรักทุกท่านครับ นอกจากการแสดงความยินดีกับประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิลงคะแนนกำหนดอนาคตของประเทศแล้ว ผมต้องขอแสดงความยินดีกับพรรคการเมือง และว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทุกท่านที่ชนะการเลือกตั้งด้วย และเชื่อว่ารัฐบาลชุดใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้นคง ‘ไม่มีเวลาฮันนีมูน’ สักเท่าใด เนื่องจากยังมีภารกิจสำคัญที่เป็นสัญญาประชาคมในขณะหาเสียงและปัญหาคาราคาซังของประเทศรอการแก้ไขเป็นจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือการ ‘แก้ไขรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐’ ที่เป็นมรดกสืบทอดอำนาจของคณะก่อการรัฐประหาร จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตยตามนโยบายสำคัญของทั้ง ๒ พรรคการเมืองที่ได้รับฉันทมติจากเสียงของประชาชนในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคมที่ผ่านมา เปิดช่องจัดตั้งกลไกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เพื่อให้ได้มาซึ่งผู้แทนที่แท้จริง และจะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ซึ่งตรงนี้ถือเป็นโอกาสอันดีของพวกเรา ในการผลักดันหลักการสำคัญเข้าสู่การบัญญัติไว้ในกฎหมายสูงสุดของประเทศ นั่นคือ “ทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ” หรือ Health in All Policies (HiAP)

    
พี่น้องภาคีที่รักครับ ต้องยอมรับว่าตลอดระยะเวลาการพัฒนาประเทศไทยที่ผ่านมา เราให้น้ำหนักกับการหารายได้เข้าประเทศ มุ่งนโยบายไปที่การเติบโตทางเศรษฐกิจ จนอาจละเลยความสำคัญของการพัฒนาด้านสุขภาพและคุณภาพชีวิต ซึ่งนั่นก็เป็นความจำเป็นของประเทศกำลังพัฒนาจริงๆ

    อย่างไรก็ดี จนถึงวันนี้เรารับรู้แล้วว่าประเทศไทยเริ่มมีรายได้ที่มากเพียงพอ และจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ก็ทำให้เราได้เห็นถึงความคุ้มค่า-ผลกำไรจากการลงทุนในด้านสุขภาพ ที่ไม่เพียงแต่จะทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ยังสามารถสร้างรายได้ และนำมาซึ่งโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ให้กับประเทศ

    
Health in All Policies จึงมีความสำคัญ และยังสอดรับกับกระแสความเคลื่อนไหวระบบสุขภาพในระดับโลก ถือเป็นเป้าหมายเชิงอุดมคติที่ทุกสังคมอยากพัฒนาไปให้ถึง นั่นคือการดำเนินนโยบายสาธารณะที่ดีทุกนโยบายของรัฐ และของหน่วยงานองค์กรต่างๆ  จะต้องนำมิติด้านสุขภาพหรือคุณภาพชีวิตของประชาชนมาพิจารณาควบคู่กันไปด้วย ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ทางสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ ได้ร่วมกันพยายามผลักดันมาโดยตลอด

    
ผมจึงอยากเชิญชวนพี่น้องภาคีเครือข่ายทุกท่าน ในช่วงจังหวะเวลาของการเปลี่ยนแปลงนี้ในการร่วมกันผลักดันหลักการ Health in All Policies ให้เข้าไปบรรจุเป็นส่วนสำคัญในนโยบายของรัฐบาลประชาธิปไตยที่กำลังจัดตั้ง และอนาคตบรรจุเป็นบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่พรรคการเมืองต่างๆ จะร่วมกันจัดทำขึ้นตามนโยบายหาเสียงที่ให้ไว้กับประชาชน ซึ่งจะส่งผลให้การดำเนินนโยบายของทุกหน่วยงานภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีการคำนึงถึงในเรื่องของสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนกันมากขึ้น ดังตัวอย่างที่เคยสำเร็จมาแล้วจากรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมา ภายหลังมีการบรรจุเนื้อหาไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของแนวคิดสุขภาพปฐมภูมิ หรือการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ฯลฯ ก็ได้ส่งผลให้เกิดการนำไปอ้างอิงและขับเคลื่อนเป็นกฎหมายและโครงการต่างๆ ตามมา

    
ปัจจัยสำคัญที่เราจะผลักดันเรื่องนี้ให้สำเร็จ แน่นอนว่านอกจากการทำงานด้านวิชาการอย่างเข้มข้นแล้ว ยังจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากมิติทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นกระแสสังคม ความตื่นตัวทางสังคม ที่จะร่วมขับเคลื่อนเจตจำนงในเรื่องนี้ ให้กลายเป็นประเด็นสาธารณะก่อนที่จะเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาต่อไป

รูปภาพ
หมวดหมู่เนื้อหา