สช.เปิดบ้านต้อนรับ มสธ. “ร่วมหารือการสื่อสารนโยบายสาธารณะ” | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปัจจุบันคนต้องการ การสื่อสารที่รวดเร็ว สั้น กระชับ เนื้อหาสร้างสรรค์ กลุ่มเป้าหมายชัดเจน เลือกช่องทางสื่อให้เหมาะสม สามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งโลกดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้คน ขณะเดียวกันภาคส่วนต่างๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธาณะมากขึ้น ทำอย่างไรจะทำให้นโยบายสาธารณะถูกสื่อสารถึงผู้มีอำนาจตัดสินใจ เช่น ผู้บริหารองค์กร ผู้บริหาร/นักการเมืองท้องถิ่น เป็นต้น รวมทั้งทำอย่างไรประชาชนกลุ่มเป้าหมายจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากนโยบาย
 

ปรีดา แต้อารักษ์


วันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ สำนักขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะระดับพื้นที่ (สนพ.) และกลุ่มงานสื่อสารทางสังคม (กส.) ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้เปิดวงปรึกษาหารือกับสาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช (มสธ.) เรื่อง แนวทางความร่วมมือการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมระดับพื้นที่และการสื่อสารนโยบายสาธาณธารณะ/การสื่อสารทางการเมือง โดยมี นายแพทย์ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เป็นผู้แทน สช. ต้อนรับคณะ
 

ปรีดา แต้อารักษ์


นายแพทย์ปรีดา แต้อารักษ์ กล่าวว่า สช. เป็นพื้นที่กลางการพัฒนานโยบายสาธารณะ มีเครื่องมือสำคัญ คือ ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพ สมัชชาสุขภาพ การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ และสิทธิหน้าที่ด้านสุขภาพ ทั้งนี้ การทำงานต้องอาศัยการสื่อสารกับผู้กำหนดนโยบาย/ผู้บริหารท้องถิ่น และภาคีเครือข่ายที่ทำงานร่วมกัน

ดร.กานต์ บุญศิริ ประธานกรรมการประจำสาขาวิชานิเทศศาสตร์ (คณบดี) มสธ. กล่าวว่า นโยบายที่ดีจะประสบความสำเร็จได้ การสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญ การศึกษาสภาพปัญหา ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เป็นสิ่งสำคัญ มีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการสื่อสาร เมื่อกลุ่มเป้าหมายหลากหลายเราจะสามารถใช้สื่อสารได้หลายช่องทาง
 

ปรีดา แต้อารักษ์


ดร.หฤทัย ปัญญาวุธตระกูล รองประธานกรรมการประจำสาขาวิชานิเทศศาสตร์ มสธ. กล่าวว่า สช. มีประเด็นนโยบายสาธารณะที่หลากหลายตามบริบทพื้นที่ เรียกว่ามีของเยอะ ปัญหาคือไม่รู้จะเลือกอะไรมาสื่อสาร หากนำทุกอย่างมาสื่อสาร จะไม่ได้ผล จึงควรต้องเลือกประเด็นสำคัญมาสื่อสาร พร้อมทั้งได้เสนอแนะแนวทางการสร้างเครือข่ายแบบมีส่วนร่วม
 

จารึก ไชยรักษ์


บทสรุปส่งท้ายของการปรึกษาหารือ โดยนายจารึก ไชยรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะระดับพื้นที่ ได้สรุปแนวทางการทำงานร่วมกันในระยะแรกว่าเป็นการทำงานร่วมกันตามแผนการดำเนินงานที่สอดคล้องกันของสองหน่วยงาน ประกอบด้วย (๑) การสื่อสารเพื่อการขับเคลื่อนประเด็นรองรับสังคมสูงวัย (๒) การเสริมสร้างศักยภาพนักสื่อสารสุขภาวะและการออกแบบหลักสูตรการสื่อสารร่วมกัน (๓) การให้มุมมองและข้อเสนอแนะต่อการสื่อสารและการขับเคลื่อนงานของ สช. (๔) การสื่อสาร เรื่อง พินัยกรรมชีวิต หรือ หนังสือแสดงเจตจำนงตามมาตรา ๑๒ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ และ (๕) การใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มในการสื่อสารเพื่อการขับเคลื่อนสังคม/เปลี่ยนแปลงสังคม

 

รูปภาพ
มสธ.