สช.ชวนภาคีสางปัญหา ‘ความรุนแรงจากอาวุธปืน’ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
Audio file

        สวัสดีครับพี่น้องภาคีเครือข่ายที่รักทุกท่าน ... เหตุการณ์คนร้ายใช้อาวุธปืนก่อเหตุกราดยิงในศูนย์เด็กเล็ก จ.หนองบัวลำภู เมื่อวันที่ ๖ ต.ค. ๒๕๖๕ จนมีเด็กเล็กและผู้เสียชีวิตอื่นรวมกว่า ๓๘ ราย ตลอดจนอีกหลายเหตุการณ์ในอดีต อาทิ การใช้อาวุธสงครามกราดยิงในศูนย์การค้า จ.นครราชสีมา เมื่อปี ๒๕๖๓ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต ๓๑ ราย ทำให้สังคมตั้งคำถามว่า จะหยุดความรุนแรงและเสียหายที่เกิดขึ้นในสังคม โดยเฉพาะจากอาวุธปืนได้อย่างไร

        ในเรื่องนี้ หากพิจารณาสาเหตุหรือพื้นฐานของปัญหาจะพบว่ามีอยู่ด้วยกัน ๔ ประเด็นใหญ่ได้แก่ ๑. ปัญหาการครอบครองอาวุธปืนทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมายที่มีเป็นจำนวนมาก รวมถึงการมีอาวุธปืนผ่านช่องทางต่างๆ ที่มีช่องว่างอย่างมาก ๒. ปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติด ถึงแม้จะมีข่าวการจับกุมยาเสพติดอยู่เสมอ แต่ประชาชนในสังคมไทยก็รับรู้ได้ว่ามียาเสพติดระบาดอย่างแพร่หลายเกือบทุกหย่อมหญ้า ๓. ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อครอบครัวและสังคม ๔. ปัญหาที่เกิดจากทัศนคติที่ไม่ถูกต้อง ทำให้กระบวนการตัดสินใจของปัจเจกบุคคล ลงมือก่อความรุนแรงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

         ประเทศไทยของเรามีผู้ครอบครองปืนเป็นจำนวนมาก โดยข้อมูลจากองค์กรวิจัย Small Arms Survey (SAS) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พบว่า มีคนไทยมากกว่า ๑๐.๓ ล้านคนครอบครองอาวุธปืน ซึ่งเป็นปืนที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายราว ๖.๒ ล้านกระบอก ขณะที่อีกกว่า ๔.๑ ล้านกระบอกเป็นปืนเถื่อน มากไปกว่านั้นยังพบว่าประเทศไทยเป็นประเทศต้นๆ ของโลก ที่มีการทำร้ายหมู่จากอาวุธปืน ข้อมูลนี้เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงขนาดของปัญหาที่กำลังขยายตัวจึงจำเป็นต้องเร่งแก้ไขอย่างรีบด่วนครับ

         สำหรับมิติทางกฎหมายในเรื่องนี้ มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการครอบครองอาวุธปืน ตาม พ.ร.บ. อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ ซึ่งเป็นกฎหมายที่บังคับใช้มายาวนานกว่า ๗๕ ปี ซึ่งมีหลายมิติที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่าสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันหรือไม่

         พี่น้องภาคีเครือข่ายทุกท่านครับ นอกเหนือจากมาตรการเฉพาะหน้าในการเยียวยาครอบครัวของผู้ได้รับความสูญเสียแล้ว ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนความเศร้าสลดจาการสูญเสีย และใช้ความตื่นตัวของภาคส่วนต่างๆ ที่ต้องการแก้ปัญหาความรุนแรงนี้ เป็นพลังในการจัดทำนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมบนพื้นฐานของข้อมูลและความรู้ และก่อตัวเป็นพันธสัญญาร่วมในการขับเคลื่อนเชิงระบบอย่างต่อเนื่อง

         เพราะความรุนแรงที่เกิดขึ้นนี้เกินกว่าจะกล่าวโทษใคร หรือทิ้งให้เป็นปัญหาภาระของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง กระบวนการสานพลัง สร้างพันธสัญญาร่วมนี้ เป็นบทบาทโดยตรงของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ตาม พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐

         จังหวะก้าวหลังจากนี้ สช.จะชักชวนทุกฝ่ายเข้ามาร่วมจัดทำนโยบายและขับเคลื่อนแก้ไขปัญหานี้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมจัดทำกระบวนการทางวิชาการและการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย เพื่อให้เกิดข้อเสนอเชิงระบบอย่างรอบด้านในการควบคุมการใช้อาวุธปืน และการลดความรุนแรงอื่นๆ ในสังคมไทย  เข้าสู่การพิจารณาและขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องของสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น หรือสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในเดือนธันวาคมปีนี้

         นอกเหนือจากมิติทางกฎหมายที่ถือเป็นอำนาจแข็งแล้ว การแก้ไขปัญหานี้จำเป็นต้องใช้อำนาจอ่อนร่วมด้วย คือการผสานความร่วมมือของหลายฝ่ายเข้ามาช่วยกันจัดทำนโยบายฯ และร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายให้เกิดเป็นรูปธรรม

         การเปิดพื้นที่ ร่วมคิด ร่วมทำ ของ สช. ในครั้งนี้ จะมุ่งเน้นไปที่การแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ ทบทวนวรรณกรรม งานวิจัย ประสบการณ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้เกิดเป็นข้อเสนอที่สามารถนำไปสู่การแก้ไขเชิงระบบ โดยข้อเสนอที่ได้จะไม่ใช่การสั่งการว่าใครต้องทำอะไร แต่จะเป็นข้อมูลเชิงวิชาการที่ฉายภาพให้เห็นมิติต่างๆ ที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังของปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะจากอาวุธปืนที่มีอยู่เกลื่อนเมือง

        ข้อเสนอที่ผ่านกระบวนการสมัชชาฯ ทั้งหมดนี้ จะกลายเป็นนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ที่จะแก้ปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืน เพราะนี่จะเป็นนโยบายที่ทุกภาคีในประเทศไทยที่เห็นปัญหาร่วมกัน ร่วมกันจัดทำ และร่วมกันขับเคลื่อน

        ปัญหาความรุนแรงโดยเฉพาะจากอาวุธปืนที่เกิดขึ้นกับเด็กเล็ก เยาวชน สตรี กลุ่มเปราะบาง และประชาชนนับวันจะรุนแรงและถี่มากขึ้น จะต้องแก้ไขด้วยกระบวนการที่ทุกภาคส่วนมาร่วมกันคิด มาเสนอทางออก ผลักดันให้เป็นนโยบายของประเทศ และต้องขับเคลื่อนร่วมกัน ต้องใช้วิชาการและความมุ่งมั่น รวมทั้งการสานพลังของทุกภาคส่วน ไม่ปล่อยทิ้งปัญหา ไม่เกิดเป็นอารมณ์ช่วงครั้งคราว ไม่ชี้กล่าวโทษใคร แต่ต้องลงมือทำไปด้วยกันครับ

 

รูปภาพ
หมวดหมู่เนื้อหา