- 5736 views
สช.และภาคีเครือข่ายร่วมจัดเสวนาขจัดการเลือกปฏิบัติ มุ่งสู่ความเป็นธรรมระหว่างเพศ พร้อมร่วมกันประกาศปฏิญญาปกป้องสิทธิ-เสรีภาพ “กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ” สร้างความเท่าเทียมกันในสังคม เสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพิ่มการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้ครอบคลุมมากขึ้น
เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2564 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และภาคีเครือข่าย จัดเวทีเสวนาโต๊ะกลม “การขจัดการเลือกปฏิบัติ เพื่อความเป็นธรรมระหว่างเพศ” ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Side Event) ของการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 14 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงความก้าวหน้า แนวทางการดำเนินงาน รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 เรื่อง วิถีเพศภาวะ: เสริมพลังสุขภาวะครอบครัว
ทั้งนี้ ตัวแทนจากแต่ละภาคส่วนที่เข้าร่วมภายในงาน ซึ่งประกอบทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เครือข่ายภาคประชาสังคม ตัวแทนจากพรรคการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ได้มีการร่วมกันประกาศหมุดหมายและปฏิญญาเพื่อการขับเคลื่อนประเด็น “การขจัดการเลือกปฏิบัติ เพื่อความเป็นธรรมระหว่างเพศ” ซึ่งจะปกป้องสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล โดยขจัดการเลือกปฏิบัติหรือการไม่ยอมรับวิถีทางเพศสภาพ ที่ยังคงมีอยู่หลากหลายในสังคมไทย เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา เปิดเผยว่า เรื่องของวิถีทางเพศสภาพนั้นเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนและมีความสำคัญ ซึ่งแม้ขณะนี้คนทั่วไปบางส่วนอาจยังไม่ตระหนักหรือมองข้าม หากแต่ประเด็นเหล่านี้จะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในอนาคตจะต้องเกิดความตระหนักรู้ และการยอมรับความแตกต่างด้านเพศภาวะ เพราะสิ่งเหล่านี้ส่งผลโดยตรงต่อเรื่องของสิทธิ ความเท่าเทียมกันในสังคม
“ความเสมอภาคเป็นสิ่งสำคัญในการรับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ซึ่งความเสมอภาคจะต้องมาพร้อมกับความเป็นธรรมของคนในสังคม และคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ โดยสิ่งเหล่านี้ทุกฝ่ายอาจต้องเข้ามาช่วยกันคิด ช่วยกันผลักดัน สร้างความตระหนักและเปลี่ยนเจตคติของสังคม ซึ่งลำพังหน่วยงานราชการอาจมีข้อจำกัด โดยเฉพาะความเคยชิน กรอบทัศนคติ รวมถึงประเด็นทางกฎหมาย ที่พรรคการเมืองอาจสามารถเข้ามาเป็นตัวเร่งในการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้” นพ.พลเดช กล่าว
นายแทนคุณ จิตต์อิสระ เลขานุการคณะทำงานทางการเมืองประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า วันนี้อยากให้เป็นการสถาปนาศาสนาเสรีเพศ ซึ่งจะมีนัยยะเพื่อการเปลี่ยนทัศนคติของผู้คนในสังคม ให้เปิดใจและทำความเข้าใจถึงความแตกต่างทางเพศ ว่าเหมือนกับความแตกต่างทางศาสนา ที่ผู้อื่นจำเป็นจะต้องเข้าใจและให้ความเคารพซึ่งกันและกัน เช่นเดียวกับที่จะต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเด็ก ผู้หญิง ผู้สูงวัย กลุ่มความหลากหลายทางเพศ กลุ่มชาติพันธุ์ หรือแม้แต่ผู้ที่เคยต้องโทษ ซึ่งมักจะถูกตีตราไปตลอดชีวิต
นายกิตตินันท์ ธรมธัช สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การถูกเลือกปฏิบัติที่สังคมเราประสบอยู่มีพื้นฐานหลักมาจาก 4 ข้อ คือ 1. ความไม่รู้ ไม่ตระหนัก 2. ความเกลียดชัง เกลียดกลัว 3. ทัศนคติความเชื่อ 4. กฎระเบียบ นโยบาย มาตรการต่างๆ รวมถึงกฎหมายที่ให้การปกป้องสิทธิและเสรีภาพเฉพาะเพศหลักเท่านั้น แม้การผลักดันสิ่งเหล่านี้จะมีความก้าวหน้าขึ้นมาเรื่อยๆ หากแต่ปัจจุบันเรายังคงพบปัญหาการถูกเลือกปฏิบัติ แม้กรอบรัฐธรรมนูญเองจะห้ามไว้
“ตลอด 3 ปี ทางสมาคมฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนที่นำไปสู่กระบวนการยุติธรรมมากกว่า 70 เคส จากการถูกเลือกปฏิบัติของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นในการเข้ารับบริการสาธารณสุข การทำงาน การบริจาคเลือด การเข้าใช้บริการสถานที่ต่างๆ หรือการแต่งกายตามเพศสภาพ จึงอยากให้ทุกคนทำความเข้าใจถึงกรอบความคิดเรื่อง SOGIESC เพราะหากทุกคนยอมรับหลักนี้ ก็จะไม่มีใครถูกตราว่าเบี่ยงเบนทางเพศ และไม่ต้องมีการเลือกปฏิบัติอีก” นายกิตตินันท์ กล่าว
นายณัฐพงษ์ รอบคอบ ตัวแทนเครือข่ายคนรุ่นใหม่ กล่าวว่า ทุกปีทั่วโลกจะมีกิจกรรม Pride Month ที่สนับสนุนความหลากหลายทางเพศ ซึ่งภาคธุรกิจเองก็ได้ใช้โอกาสนี้ในการส่งเสริมการขาย มอบสินค้าหรือบริการที่ตอบโจทย์กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งหากภาครัฐเองมีมุมมองที่จะส่งเสริมด้านเศรษฐกิจ อาจสามารถสนับสนุนให้คู่รักเพศเดียวกันเดินทางมาจัดงานแต่งงานที่ประเทศไทย ส่งเสริมเศรษฐกิจการจัดงาน การท่องเที่ยว และอื่นๆ อีกมากมายที่เกี่ยวเนื่อง
“เศรษฐกิจ LGBT มีมูลค่ามหาศาล แต่ในไทยเองแม้แต่สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB) ที่ผลักดันธุรกิจ MICE หรือกระทรวงการท่องเที่ยวฯ เองก็เงียบกริบ มองไม่เห็นเรื่องพวกนี้ อย่างไต้หวันมีการจัดกิจกรรมสำหรับ LGBT มีคนต่างชาติเข้าร่วมมากมาย สร้างรายได้เข้าประเทศไม่รู้เท่าไร ส่วนไทยบอกเป็นสวรรค์ของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่ทุกวันนี้กฎหมายเองก็ยังคงไม่รองรับ” นายณัฐพงษ์ กล่าว
ขณะที่ นางเรืองรวี พิชัยกุล สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา กล่าวว่า ไม่เพียงกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่สำหรับเพศหญิงเองก็เป็นฝ่ายที่เผชิญกับการถูกตีตรา เลือกปฏิบัติ หรือเป็นเหยื่อของความรุนแรงมาเป็นระยะเวลายาวนาน ด้วยกรอบความคิดและภาพคาดหวังของคนในสังคม ที่มองแบบเหมารวมว่าเพศหญิงจะต้องมีบทบาทหน้าที่อย่างไร ดังนั้นระบบวัฒนธรรมเรื่องสถาบันครอบครัวควรจะต้องรื้อใหม่ ว่าสามารถเป็นใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมีพ่อและแม่เท่านั้นในครอบครัว
นางเรืองรวี กล่าวว่า เรื่องของเพศภาวะจะเป็นฐานของการต่อสู้ในมิติของสิทธิและความเสมอภาค ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มีปัญหาเรื่องนี้เยอะมาก มีการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ล้าหลัง เมื่อเทียบกับฉบับปี 2540 และปี 2550 จึงเชื่อว่าหลังจากนี้จำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องมาร่วมกันในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ด้าน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า เรื่องวิถีเพศภาวะ เป็นหนึ่งในประเด็นที่มีความสำคัญ และถูกจัดให้เป็นกิจกรรม Side Event ที่มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันของสังคม รวมถึงสร้างกระแสและผนึกกำลังภาคีเครือข่ายต่างๆ ที่จะนำไปสู่งานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 14 ซึ่งเตรียมจะจัดขึ้นในวันที่ 15-16 ธ.ค.นี้ อันจะเป็นการแสวงหาฉันทมติต่อการสร้างนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพและสุขภาวะแบบมีส่วนร่วมต่อไป
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม:
กลุ่มงานสื่อสารสังคม สช.
โทร. 02-8329141