- 62 views
วงเสวนาเขตสุขภาพที่ 12 สะท้อนผลกระทบจากโควิดในพื้นที่ “ภาคใต้” พบเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจหนักที่สุดในประเทศ เนื่องจากพึ่งพาการท่องเที่ยว เสนอกระตุ้นการแก้ไขระยะยาว เสริมสร้างเศรษฐกิจครัวเรือน ติดองค์ความรู้-วินัยทางการเงิน พร้อมแก้ปัญหาการว่างงาน เพิ่มโอกาสเข้าถึงการศึกษา-พัฒนาทักษะแรงงาน
เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2564 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย จัดเวที “Kickoff กขป.เขต 12 พลเมืองตื่นรู้ สานพลังรับมือโควิด-19 ด้วยมาตรการ 4 ต. 2 ป.” ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Side Event) ของการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 14 เพื่อนำเสนอสถานการณ์การแพร่ระบาด ผลกระทบ รวมถึงกรณีศึกษาและมาตรการรับมือโควิด-19 ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 12 ซึ่งประกอบด้วย 7 จังหวัด ได้แก่ ตรัง พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
นายธีระพร ศรีรัตน์ ผู้อำนวยการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานภาคใต้ เปิดเผยว่า วิกฤตโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจยาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ และกระทบกับแต่ละภาคส่วนแตกต่างกัน โดยสำหรับภูมิภาคในประเทศไทยนั้น พื้นที่ภาคใต้จะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจรุนแรงมากที่สุดเมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ เนื่องจากรายได้ของพื้นที่เหล่านี้พึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลัก โดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ
ทั้งนี้ จากการประเมินทางเศรษฐกิจ คาดว่าปีนี้ประเทศไทยจะมีการเติบโตประมาณ 0.7% และ 3-4% ในปีถัดไป อย่างไรก็ตามกว่าที่เศรษฐกิจจะกลับมาปกติอีกครั้ง หรือเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด คาดว่าน่าจะเป็นปี 2566 เป็นต้นไป ซึ่งยังใช้เวลาอีกนาน ดังนั้นสิ่งสำคัญขณะนี้จึงเป็นนโยบายการช่วยเหลือในด้านต่างๆ โดยเฉพาะมาตรการของภาครัฐ ทั้งการให้ความช่วยเหลือเยียวยา หรือกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย ไม่ว่าจะเป็นโครงการคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน ฯลฯ ที่ช่วยพยุงสถานการณ์ไปได้มาก
“ถ้าไม่มีมาตรการช่วยเหลือเหล่านี้ออกมาแก้ปัญหา ผลกระทบน่าจะหนักกว่านี้อีกมาก ซึ่งในส่วนของ ธปท.เองเราก็ออกมาตรการให้กับภาคธุรกิจและประชาชนทั่วไปที่มีรายได้ลดลง ทั้งการพักชำระหนี้ ลดอัตราดอกเบี้ย ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ตลอดจนการเพิ่มสภาพคล่อง เงินกู้ Soft Loan สินเชื่อเพื่อการฟื้นฟูต่างๆ ซึ่งข่าวดีคือช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ เราเห็นจุดต่ำสุดของเศรษฐกิจผ่านมาแล้ว จึงเชื่อว่าจากไตรมาส 4 นี้ไปจะค่อยๆ ฟื้นตัว หากไม่มีการระบาดของสายพันธุ์โอไมครอนระลอกใหม่อีก” นายธีระพร กล่าว
นายธีระพร กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามสิ่งที่เราจะต้องเผชิญหลังจากนี้ คือหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วง 2 ปีทีผ่านมา และสิ่งน่ากลัวคือส่วนใหญ่แล้วเป็นหนี้ที่ไม่ก่อรายได้ ฉะนั้นจุดนี้ต้องกลับมาคิดกันถึงในระยะยาว ทั้งการให้ความรู้ทางการเงิน การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม รวมถึงวินัยทางการเงินของประชาชน ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นสิ่งสำคัญในการเผชิญกับวิกฤตการณ์ เช่นเดียวกับการเข้าสู่โลกยุคดิจิทัล ที่มาพร้อมกับภัยทางการเงินและการหลอกลวงรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งประชาชนเองจำเป็นจะต้องเรียนรู้และเท่าทัน
นางจณิสตา จุลสุวรรณ์ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคใต้ กล่าวว่า แม้เดิมจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้จะมีปัญหาทางสังคมอยู่เดิม หากแต่สถานการณ์โควิดก็ได้เพิ่มความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการว่างงาน ซึ่งโครงสร้างประชากรในภาคใต้จำนวนมากเป็นวัยแรงงาน แต่ขณะนี้กำลังขาดโอกาสการใช้กำลังเพื่อพัฒนาให้เกิดประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ว่างงานเนื่องจากภาคบริการที่ปิดตัวลง หรือแรงงานที่อพยพกลับจากประเทศเพื่อนบ้าน และกลับมาพึ่งพิงครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น
นางจณิสตา กล่าวว่า ขณะเดียวกันก็ยิ่งเกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม คนจนก็ยากจนมากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ที่มีปัญหาความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึง ซึ่งเห็นชัดเจนว่ามีกลุ่มเด็กด้อยโอกาสที่ขาดอุปกรณ์เครื่องมือในการเรียนออนไลน์ ที่จะยิ่งทำให้เด็กยากจนขาดโอกาสและหลุดออกจากระบบ ซึ่งเชื่อว่าภายหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ภาพความเหลื่อมล้ำภายใต้ระบบการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงไป จะยิ่งสะท้อนผ่านคุณภาพของคนที่เห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
“ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้เราจึงจะต้องมาวางแผนแก้ไขร่วมกัน เรื่องแรกคือปัญหาการว่างงาน จะต้องสนับสนุนให้เกิดเศรษฐกิจครัวเรือนที่เข้มแข็งมากขึ้น ทั้งอาศัยภาคการเกษตรในการรองรับ พัฒนาคนเพื่อเตรียมพร้อมรองรับรูปแบบการทำงานในอนาคต Upskill หรือ Reskill ใหม่ๆ ให้เป็นแรงงานที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งรัฐควรเน้นการส่งเสริมให้แรงงานมีอาชีพที่หลากหลายมากขึ้น พึ่งพาตนเองได้ และสอดคล้องรูปแบบตลาด สังคมวิถีใหม่ พร้อมทั้งเร่งยกระดับระบบการศึกษา ที่ให้ทุกคนได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพเท่าเทียมกัน” นางจณิสตา กล่าว
ขณะที่ นพ.สุเทพ เพชรมาก ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เขตสุขภาพที่ 12 กล่าวว่า แม้โควิด-19 ในพื้นที่ภาคใต้ จะเผชิญกับภาวะวิกฤตหนักจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เคยอยู่หลักร้อย ได้ทะลุขึ้นมาเป็นกว่า 2 แสนคนในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามนี่เป็นสถานการณ์ตัวอย่างของการบูรณาการที่ดี และร่วมมือกันของทุกภาคส่วนในการขยายระบบบริการเพื่อรองรับ จนสามารถเพิ่มจำนวนเตียงจากราว 1 หมื่น มาเป็นกว่า 4 หมื่นเตียง หรือเตียงไอซียูจากราว 100 เตียง มาเป็นกว่า 400-500 เตียง
นพ.สุเทพ กล่าวว่า การดำเนินการนี้สอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปเขตสุขภาพ ที่มีหลักการระดมทรัพยากรในพื้นที่มาร่วมกันทำงาน และในเชิงของนโยบายที่จะต้องเหมาะสมกับพื้นที่เป็นหลักมากขึ้น ซึ่ง สธ. เองก็จะต้องทำงานบนความร่วมมือภายนอกกระทรวงมากขึ้น ทั้งภาคเอกชน ประชาชน และท้องถิ่น ขณะที่การควบคุมโรคก็จะต้องเปลี่ยนจากการใช้โรงพยาบาลเป็นฐาน ให้ใช้ชุมชนเป็นฐานมากขึ้น เพื่อที่จะสามารถอยู่ร่วมกับโควิดได้ต่อไป
“แต่สิ่งที่ยังต้องช่วยกันต่อไปคือเรื่องของวัคซีน ซึ่งขณะนี้ในพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ยังให้ความร่วมมือในการฉีดค่อนข้างน้อย แม้จะมีวัคซีนให้เลือกครบทุกสูตร ไม่ว่าจะเป็นซิโนแวค แอสตร้าเซนเนก้า โมเดอนา หรือไฟเซอร์ ยังต้องช่วยกันให้ความเข้าใจอีกมากเพื่อให้การฉีดครอบคลุม รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อที่จะป้องกันโรคต่อไปให้ได้ เพราะเราเห็นบทเรียนแล้วจากในหลายประเทศ ที่เริ่มกลับมาระบาดใหม่อีกครั้ง” นพ.สุเทพ ระบุ
ด้าน นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า วิกฤตสุขภาพไม่ได้มีผลแค่เรื่องของการเจ็บป่วยเพียงอย่างเดียว หากแต่ยังเป็นเรื่องทางสังคม เศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตด้านต่างๆ อย่างไรก็ตามกลไกหนึ่งคือคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) จะเป็นกลไกในการเชื่อมร้อยความร่วมมือของแต่ละภาคส่วน มาหนุนเสริมการทำงานและแก้ไขปัญหา รวมทั้งการสนับสนุนเชิงนโยบาย
“Side Event นี้เป็นกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 14 ที่ดำเนินคู่ขนาน ไปในแต่ละพื้นที่ เพื่อถอดบทเรียนผลกระทบ ความร่วมมือ รวมถึงการจัดทำข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับปัญหาด้านสุขภาพ สุขภาวะของประชาชน รวมทั้งการสร้างความตระหนักและกระตุ้นให้สังคมรับรู้ถึงกิจกรรมการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ หรือเรื่องราวดีๆ ที่เป็นบทเรียนที่เกิดขึ้น” นพ.ปรีดา กล่าว
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม:
กลุ่มงานสื่อสารสังคม สช.
โทร. 02-8329141