ขีดกรอบ ‘ธรรมนูญระบบสุขภาพแห่งชาติฯ ฉบับ 3’ สร้างสุขภาวะไทยตอบโจทย์โลกหลังโควิด-19 | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
Audio file

   วงถกหารือกรอบแนวทาง-กระบวนการยกร่าง “ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3” ตั้งเป้าเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ชาติ-แผนงานทุกระดับ สอดรับทิศทางการสร้างสังคมสุขภาวะบนบริบทโลกยุคใหม่ ให้ทุกภาคส่วนร่วมเป็นเจ้าของ-นำไปประยุกต์ใช้เป็นรูปธรรม
 
   สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดประชุมคณะกรรมการจัดทำธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2564 ซึ่งเป็นการหารือต่อเนื่องถึงกรอบเนื้อหาและโครงสร้างในการร่างธรรมนูญระบบสุขภาพฯ ฉบับดังกล่าว รวมไปถึงกลไก กระบวนการ และกรอบเวลาในการจัดทำ ตลอดจนแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำกรอบ แนวทาง กลยุทธ์และแผนการยกร่างฯ ในด้านต่างๆ ต่อไป
 
   ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ประธานกรรมการจัดทำธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 เปิดเผยว่า การประชุมในครั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้หารือต่อเนื่องถึงกรอบความคิดการยกร่างธรรมนูญระบบสุขภาพฯ ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การได้รับฟังถึงร่างกรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 พ.ศ.2566-2570 จากตัวแทนของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อร่วมกันมองถึงความเชื่อมโยงและสอดรับกัน ในการวางเป้าหมายให้คนไทยสมบูรณ์ มีสุขภาวะที่ดี
 
   ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังได้รับทราบต่อแนวทางและข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ที่เห็นด้วยถึงแนวทางในการเชื่อมโยงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจแบบใหม่ หรือ Bio-Circular-Green Economic model (BCG model) มาอยู่ในกรอบคิดและวิธีการทำงานของธรรมนูญระบบสุขภาพฯ ฉบับนี้ พร้อมให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)
 
   นอกจากนี้ คสช. ยังให้ความสำคัญในการสร้างความเป็นเจ้าของของหน่วยงานต่างๆ ที่จะทำให้เกิดการนำธรรมนูญระบบสุขภาพฯ ไปใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งหน่วยงานของรัฐที่จะนำไปใช้และผูกพันการทำงานของตนเอง
 
   ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า องค์ประกอบสำคัญในกระบวนการร่างธรรมนูญฯ คือ ทำอย่างไรให้เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์และแผนงานของชาติในทุกระดับ รวมถึงทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันของคนในสังคม ที่จะสร้างเจตจำนง พันธะร่วม หรือความเป็นเจ้าของร่วมกัน บนบริบทปัจจุบันที่ทุกคนบนโลกจะต้องเผชิญกับสิ่งต่างๆ เหมือนกัน คือ มีสุขด้วยกัน มีทุกข์ด้วยกันทั้งหมด หรือ หนึ่งโลกหนึ่งชะตากรรมร่วม (One World One Destiny)
 
   “ส่วนหนึ่งคือ การที่จะให้ธรรมนูญฯ ฉบับนี้ เปลี่ยนจากประชาชนที่เนือยนิ่ง ให้เป็นประชาชนที่ตื่นตัว ร่วมกับทิศทางที่จะสอดรับกับบริบทของโลกในอีก 10 ปีข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นโลกในยุคหลังโควิด-19 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไปจนถึงโลกไซเบอร์ ที่มีการบูลลี่กันต่างๆ นานา เป็นต้น ซึ่งบริบทเหล่านี้ล้วนมีผลกระทบกันสุขภาพทั้งสิ้น” ดร.สุวิทย์ กล่าว
 
   ดร.สุวิทย์ กล่าวอีกว่า ผลการหารือภายในการประชุมวันนี้ ยังได้มีแนวทางที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นทิศทางการเดินหน้าสู่เป้าหมายที่ไม่ติดกับดักตัวชี้วัด การมีกลไกฟีดแบคเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของผู้คนมากขึ้น การวางตำแหน่งของธรรมนูญฯ ที่จะไม่เป็นกรอบแนวความคิดที่กว้างมากจนเกินไป หรือลงรายละเอียดมากจนทับซ้อนกับหน่วยงานเดิมที่มีอยู่ รวมไปถึงการมีพื้นที่นำร่อง หรือ Sandbox เพื่อให้เกิดจุดเริ่มต้นที่เป็นรูปธรรม
 
   สำหรับการประชุมคณะกรรมการฯ ในครั้งนี้ ยังได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 3 ชุด ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการวิชาการและยกร่างธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 มี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ เป็นประธาน คณะอนุกรรมการมีส่วนร่วมและรับฟังความเห็นในธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 มี นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ เป็นประธาน และคณะอนุกรรมการสื่อสารสังคม มี นางสุวรรณา บุญกล่ำ เป็นประธาน
 
   พร้อมกันนี้ ยังได้วางกรอบเวลาในการจัดทำธรรมนูญฯ โดยจะระดมความเห็นเพื่อเป็นข้อมูลนำเข้า ในช่วง พ.ค.-มิ.ย. 2564 กระบวนการยกร่างธรรมนูญฯ ในช่วง มิ.ย.-ต.ค. 2564 การรับฟังความเห็นต่อร่างธรรมนูญฯ ในช่วง พ.ย.-ธ.ค. 2564 จนได้ร่างธรรมนูญฯ ที่เสนอต่อ คสช. ในช่วง ม.ค.-ก.พ. 2565 และเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) และรัฐสภา เพื่อประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา ในช่วง มี.ค.-มิ.ย. 2565 ต่อไป
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) โทร.02 832 9141 / 086 373 5413

รูปภาพ
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์
ขีดกรอบ ‘ธรรมนูญระบบสุขภาพแห่งชาติฯ ฉบับ 3’
ขีดกรอบ ‘ธรรมนูญระบบสุขภาพแห่งชาติฯ ฉบับ 3’