ปรับขบวนครั้งใหญ่! กู้วิกฤต ‘มลพิษอากาศ’ ปูพรม ‘สมัชชาสุขภาพฯ’ ทั่ว ปท. | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
Audio file

   สภาพปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ได้สร้างผลกระทบรุนแรงต่อคนไทยทั่วทุกภูมิภาค ล่าสุดตัวเลขค่าฝุ่นละอองที่ จ.เชียงใหม่ สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ติดอันดับ TOP 5 ของโลก
 
   แม้ว่าต้นเหตุของการเกิดมลพิษสัมพันธ์กันในหลายมิติ ตั้งแต่ผลกระทบข้ามชาติ เรื่อยมาจนถึงนโยบายการคมนาคมในประเทศ แน่นอน ทุกความซับซ้อนจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบ
 
   ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการวางแนวทางแก้ไข PM 2.5 มาอย่างต่อเนื่อง และเรื่องนี้จำเป็นต้องทำต่อไปอย่างไม่หยุดหย่อน ในระหว่างที่ภาครัฐดำเนินการไป ภาคเอกชน-ประชาสังคม ก็มีความพยายามจัดการปัญหาอย่างน่าสนใจ
 
   ในอดีตประเทศไทยใช้มาตรการแบบเข้มงวดในการแก้ปัญหานี้ คือการบังคับใช้กฎหมายอย่างรุนแรง หากแต่ข้อเท็จจริงที่เกิดจากการทำงานของ นายณัฐพงศ์ โพธิ์วัฒนะชัย สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่า นั่นไม่ใช่คำตอบที่ถูกควรเสมอไป
 
   นายณัฐพงศ์ สรุปบทเรียนผ่านการทำงานว่า ในช่วงแรกที่นำกฎหมายเข้ามาใช้แก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ พบว่า จ.เชียงใหม่ เพียงจังหวัดเดียวมีการดำเนินคดีชาวบ้านกว่า 1,600 คน ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของปัญหาที่ดินทำกัน ความเหลื่อมล้ำด้านอาชีพ ฯลฯ แต่ปัญหาก็ไม่ได้ลดระดับความรุนแรงลง และไม่เกิดการมีส่วนร่วมในการยับยั้งปัญหาอย่างแท้จริง
 
   กระทั่งสุดท้าย มีภาคประชาสังคมเข้าใจปัญหา เกิดการบูรณาการนำร่องแก้เรื่องที่ดิน ซึ่งส่งผลให้สามารถแก้ปัญหาหมอกควันตามมา
 
   “เราอย่าใช้กฎหมายมานำการแก้ไขปัญหา เพราะสุดท้ายจะไม่เกิดการมีส่วนร่วม แต่จะต้องนำภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าเอกชน หรือประชาสังคม มาช่วยภาครัฐดำเนินการ” นายณัฐพงศ์ ระบุถึงทิศทางการดำเนินงาน ซึ่งเครื่องมือ “สมัชชาสุขภาพ” ภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ตอบโจทย์ในด้านนี้
 
   สสส. จึงได้ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) นำ “สมัชชาสุขภาพ” ซึ่งเป็นเครื่องมือในการชักชวนคนภาคส่วนต่างๆ มาพูดคุยและหา “ฉันทมติ” ร่วมกันว่า จะแก้ปัญหานั้นๆ อย่างไร ด้วยวิธีการใด โดยได้ปูพรมพร้อมกันในหลายจังหวัดทั่วประเทศ
 
   เมื่อปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา มีการจัดการประชุมสมัชชา PM2.5 จ.สงขลา “พลเมืองตื่นรู้...ร่วมใจรับมือ PM2.5 จ.สงขลา ด้วยแนวทาง Green & Health” ขึ้น บนหลักการพิจารณา 4 แหล่งกำเนิดสำคัญ ได้แก่ หมอกควันข้ามพรมแดน การเผาไหม้ในที่โล่ง การจราจร และการประกอบอุตสาหกรรม
 
   ผศ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ บอกว่า จากการระดมความเห็นร่วมกันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใน จ.สงขลา พบว่าข้อเสนอนั้นแบ่งออกได้เป็นสองส่วน 1. ปัจจัยภายนอก เป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องอาศัยการจัดการในระดับประเทศ 2. ข้อเสนอในระดับพื้นที่ ที่สามารถใช้กลไกระดับจังหวัด หรือการเกิดข้อตกลงร่วมในระดับพื้นที่ ซึ่งสามารถเดินหน้าได้ทันทีโดยไม่ต้องรอคำสั่งจากทางรัฐบาล
 
   “ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับการชื่นชมจากนานาชาติ ไม่ว่าจะในเรื่องของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือเรื่องจัดการโควิด-19 ที่สามารถเดินหน้าได้ด้วยบทบาทสำคัญจากพวกเราคนไทยทุกคน ทุกหมู่บ้าน ทุกชุมชน ที่เข้ามาช่วยกัน ทำให้เราจัดการแต่ละเรื่องผ่านไปด้วยดี ฉะนั้น ทำอย่างไรที่จะให้ภาพเดียวกันนี้เกิดขึ้นกับการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ซึ่งทั้งหมดไม่เกินพลังของเรา เพียงแต่จะต้องเริ่มเดินหน้าในวันนี้ จะมัวแต่รอให้ใครมาช่วยไม่ได้” ผศ.วีระศักดิ์ กล่าว
 
   สำหรับการทำงานของ จ.สงขลา ใช้กระบวนการสมัชชาจังหวัดฯ กำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยมีเจ้าภาพในแต่ละประเด็นขับเคลื่อนภารกิจของตน ตัวอย่างเช่น มีข้อเสนอโดยสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 16 (สงขลา) จะเป็นเจ้าภาพบูรณาการ การจัดหาอุปกรณ์และอบรมเจ้าหน้าที่เพื่อกวดขันตรวจจับรถยนต์ควันดำ ขณะที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และเทศบาลนครหาดใหญ่ จะขยายบริการรถบัสไฟฟ้าเข้าสู่เขตเมืองชั้นใน รวมไปถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่จะร่วมกันกวดขันและส่งเสริมในเรื่องการใช้ทางเท้า จักรยาน และขนส่งมวลชน
 
   ในส่วนของมลภาวะทางอากาศที่มาจากภาคอุตสาหกรรม มีข้อเสนอถึงการเก็บข้อมูลพื้นฐานด้านสุขภาพของประชาชนในแต่ละพื้นที่อย่างน้อย 5 ปีครั้ง เพื่อเปรียบเทียบผลกระทบทางสุขภาพจากการสร้างหรือการประกอบอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงเรื่องของการทำผังเมืองเพื่อให้โรงงานอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง ห่างไกลจากพื้นที่ชุมชน ฯลฯ
 
   นายธนัญชัย วรรณสุข ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 16 (สงขลา) กล่าวว่า จากการรวบรวมข้อเสนอต่างๆ พบว่า บางประเด็นสามารถร่วมกันทำได้เลย เช่น ในส่วนของตำรวจจราจรที่มีกำลังคนแต่ขาดเครื่องมือ ขณะที่ขนส่งกลับมีเครื่องมือแต่ไม่มีบุคลากร เป็นต้น สิ่งเหล่านี้สามารถนำมารวมกันได้ทันที ฉะนั้น นอกจากการดำเนินงานของราชการในแนวตั้งแล้ว การสอดประสานร่วมกันในแนวนอน ก็จะเป็นส่วนที่ช่วยถักทอการแก้ไขปัญหาให้แน่นมากยิ่งขึ้น
 
   นอกจาก จ.สงขลา แล้ว เครื่องมือสมัชชาสุขภาพเพื่อแก้ไขปัญหา PM2.5 ยังถูกนำไปใช้ที่ จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 5 มี.ค.64 มีการประชุมสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ภายใต้ชื่อ “สถานการณ์ ผลกระทบ แนวโน้ม และแนวทางการรับมือ PM2.5 ของชาวโคราช” ขณะที่ จ.อุดรธานี ก็ได้เปิดเวทีสมัชชานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมจังหวัดอุดรธานี พ.ศ.2564 “อุดรธานี อากาศดีอย่างยั่งยืน” เมื่อวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยมี นายสยาม ศิริมงคล ผวจ.อุดรธานี เป็นประธาน
 
   เวทีดังกล่าว เป็นไปเพื่อกำหนดบทบาทและทิศทางการแก้ไขปัญหาของ จ.อุดรธานี ด้วยการสานพลังของคนอุดรฯ เข้าด้วยกัน
 
   นายสยาม บอกว่า มลภาวะทางอากาศเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นอย่างมาก ทุกคนไม่ว่ายากดีมีจน ล้วนได้รับผลกระทบแทบทั้งสิ้น แม้ว่าที่ผ่านมา มีความพยายามในการแก้ไขปัญหาในทุกระดับ รัฐบาลได้กำหนดให้ปัญหา PM2.5 เป็นวาระแห่งชาติ แต่ข้อเท็จจริงกลับพบว่า คุณภาพอากาศยังไม่ดีขึ้นเท่าที่ควร และมักจะทวีความรุนแรงในช่วงเดือนมกราคม - มีนาคมของทุกปี
 
   สำหรับการแก้ไขปัญหา จะอาศัยการดำเนินงานของภาครัฐเพียงลำพังไม่ได้ ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชนและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ก่อให้เกิดมลพิษ ซึ่งต้องปรึกษาหารือให้เกิดทางออกซึ่งเป็นที่ยอมรับและเกิดประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย จึงเป็นที่มาของการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมในครั้งนี้
 
   “เราใช้สมัชชาสุขภาพฯ เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน และภาควิชาการ ได้ปรึกษาหารือ และร่วมกันพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมขึ้นมา ซึ่งแตกต่างจากนโยบายภาครัฐที่เน้นการสั่งการจากบนลงล่าง ที่บางครั้งก็ประสบปัญหาในการปฏิบัติ เนื่องจากความไม่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่” นายสยาม ระบุ
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147