นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กฎบัตรออตตาวา ที่เกิดขึ้นจากการประชุมนานาชาติ ครั้งที่ ๑ เรื่อง “การสร้างเสริมสุขภาพ : การเคลื่อนสู่การสาธารณสุขแนวใหม่” เมื่อปี ๒๕๒๙ ที่กรุงออตตาวา ประเทศแคนาดา ได้นำเสนอกลยุทธ์แห่งการสร้างเสริมสุขภาพไว้ ๕ ประการ ซึ่ง ๑ ใน ๕ นั้นคือ “การสร้างนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ (Build Healthy Public Policy)”

นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ (Healthy Public Policy) นั้นมีความหมายว่า “นโยบายสาธารณะที่แสดงความห่วงใยอย่างชัดเจนในเรื่องสุขภาพ พร้อมที่จะรับผิดชอบต่อผลกระทบทางสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบายนั้น ขณะเดียวกันก็เป็นนโยบายที่มุ่งสร้างเสริมสิ่งแวดล้อมทั้งทางสังคมและกายภาพที่เอื้อต่อการมีชีวิตที่มีสุขภาพดี และมุ่งให้ประชาชนมีทางเลือกและสามารถเข้าถึงทางเลือกที่ก่อให้เกิดสุขภาพดีได้”

นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพนั้น มิได้กำหนดโดยภาครัฐเท่านั้น ใน พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ ได้เปิดช่องทางให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม ประกอบด้วยผู้คนที่มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายในสังคม ได้แก่ ฝ่ายการเมือง รัฐบาล ราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคธุรกิจเอกชน นักวิชาการ สื่อมวลชน ชุมชนและประชาชนเอง ตามหลักการ สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา

กระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ นอกเหนือจากกระบวนการที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ อันได้แก่ สมัชชาสุขภาพ การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ แล้ว ยังมีกลไกและกระบวนการอื่น ๆ อีก ได้แก่

การพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพในรูปของคณะกรรมการระดับชาติ โดยมีตั้งกลไกขึ้นมาดูแลเป็นการเฉพาะเรื่อง ซึ่งในปัจจุบันมี ๒ คณะ คือ

  • คณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ (National Commission on Human Resources for Health) ทำหน้าที่ดูแลขับเคลื่อนและผลักดันการดำเนินงานตาม “แผนยุทธศาสตร์ทศวรรษกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ – ๒๕๕๙” ที่ ครม. ให้ความเห็นชอบไว้แล้วตั้งแต่วันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๐
  • คณะกรรมการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพแห่งชาติ (National Commission on Traditional Wisdom Development for Health) ทำหน้าที่ดูแลขับเคลื่อนและผลักดันการดำเนินงานตาม “แผนยุทธศาสตร์ชาติ การพัฒนาภูมิปัญญาไท สุขภาพวิถีไท พ.ศ. ๒๕๕๐ – ๒๕๕๔” ที่ ครม.ให้ความเห็นชอบไว้แล้ว

การพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพในรูปของเครือข่าย ในปัจจุบันมีการสนับสนุนเครือข่ายนโยบายเกษตรและอาหาร โดยมีมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยื่น (ประเทศไทย) เป็นแกนประสานงาน

การพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพในรูปของการสร้างความร่วมมือกับสถาบันวิชาการ ปัจจุบันมีการสร้างความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา จำนวน ๒ แห่ง คือ

- มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีสถาบันวิจัยและพัฒนา เป็นหน่วยเลขานุการ

- มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีรศ.ดร. ชื่นฤทัย กาญจนจิตรา เป็นเลขานุการ

หมวดหมู่เนื้อหา