‘ธรรมนูญสุขภาพตำบลปลอดขยะ’ ต.ย่านยาว อ.คีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี นวัตกรรมการผลิตร่วมทางสังคม | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ปลอดขยะ


ผู้เขียน/เรียบเรียง: พฤกษา สินลือนาม*

ผู้ให้ข้อมูล: สุจิตรา สังข์เพชร

“ย่านยาว” เป็นตำบลเล็กๆ ในพื้นที่ อ.คีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี ประกอบด้วย ๑๐ หมู่บ้าน มีประชากร ๓,๗๘๘ คน ในแต่ละเดือนมีปริมาณขยะเกิดขึ้นมากกว่า ๓๐ ตัน ซึ่งขยะเหล่านี้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรคต่างๆ อีกทั้งสร้างภาพที่ไม่พึงประสงค์แก่ประชาชนในตำบล และผู้ที่สัญจรผ่านไปมา จึงเป็นเหตุผลของการร่วมกำหนดภาพฝันร่วมของพื้นที่โดยมีโจทย์สำคัญคือ “ปัญหาขยะแก้ไขได้ เพียงร่วมมือกัน”

ย้อนไปเมื่อปี ๒๕๖๓ ผู้นำชุมชน ต.ย่านยาว ได้เข้าร่วมพัฒนาศักยภาพกระบวนการนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมผ่านธรรมนูญสุขภาพพื้นที่ ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เมื่อเกิดปัญหาแกนนำชุมชนจึงได้นำกระบวนการดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ โดยเริ่มจาก

ขั้นตอนที่ ๑ การร่วมริเริ่ม (Co – initiator) ภาคประชาชนโดยกลุ่มแกนนำชุมชนเห็นความสำคัญของปัญหาที่เกิดจากปริมาณขยะจำนวนมากในตำบล จึงปรึกษากับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ผู้ใหญ่บ้าน นายกองค์การบริหารส่วนตำบล และผู้ช่วยสาธารณสุขอำเภอ เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหา และรวมกลุ่มตั้ง “คณะทำงานธรรมนูญตำบลย่านยาว” ซึ่งมาจากสามภาคส่วน คณะทำงานชุดนี้มีบทบาทในการร่วมกำหนดแผนงาน วางเป้าหมาย สนับสนุนให้ชุมชมมีส่วนร่วมต่อการจัดทำธรรมนูญสุขภาพพื้นที่ ประสานหน่วยงานต่างๆ ให้เกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกัน ตลอดจนปฏิบัติการ เสนอแนะให้คำปรึกษา และจัดทำธรรมนูญสุขภาพพื้นที่ให้บรรลุผลตามเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้

ขั้นตอนที่ ๒ การร่วมออกแบบ (Co – design) ทุกภาคส่วนในตำบลเข้าร่วมหารือ โดยมีความเห็นร่วมกันในการนำ “ธรรมนูญสุขภาพพื้นที่” มาเป็นเครื่องมือสำหรับแก้ไขปัญหาขยะที่เกิดขึ้น มีการสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วนเข้าร่วม “ร่างธรรมนูญตำบลปลอดขยะ” ร่วมตัดสินใจโดยจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างธรรมนูญสุขภาพ และปรับแก้กระทั่งเป็นที่พอใจของทุกฝ่าย จึงประกาศใช้ “ธรรมนูญสุขภาพตำบลปลอดขยะ ต.ย่านยาว” เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๖๓ ในงานประเพณีลอยกระทง ณ วัดสถิตคีรีรมย์ โดยประชาชนทุกคน ภาครัฐ ภาควิชาการในตำบลรับรู้ และนำไปสู่การปฏิบัติร่วมกัน

ขั้นตอนที่ ๓ ผลผลิตของการผลิตร่วมกัน (Co – production Output) หลังประกาศใช้ธรรมนูญสุขภาพ ทุกภาคส่วนในตำบลนำไปปฏิบัติตามด้วยความเต็มใจ และเคร่งครัดแม้สิ่งเหล่านี้จะเป็นเพียงข้อตกลงร่วมของชุมชนไม่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายก็ตาม เช่น มีการจัดทำทะเบียนคัดแยกขยะ จัดตั้งจุดรับซื้อขยะรีไซเคิล ทำปุ๋ยหมักอินทรีย์ กลุ่มสตรีประดิษฐ์ของใช้จากขยะ มีการจัดตั้งธนาคารขยะร่วมกับโรงเรียนบางพระ เป็นต้น หนึ่งในปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นหลังดำเนินงานตามธรรมนูญสุขภาพ คือปริมาณขยะลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๕ ปริมาณขยะที่ทางองค์การบริหารส่วนตำบลต้องกำจัดเหลือเพียง ๑๐.๕ ตัน ซึ่งลดลงจากก่อนมีธรรมนูญสุขภาพสุขภาพกว่า ๒๐ ตัน และยังส่งผลกระทบต่อด้านต่างๆ ดังนี้

ด้านนโยบาย ธรรมนูญสุขภาพตำบลปลอดขยะ ต.ย่านยาว ถูกผลักดันเข้าสู่การเป็นแผนพัฒนาท้องถิ่นตำบลย่านยาว และเป็นพื้นที่ศึกษาเรียนรู้ของอำเภอ

ด้านสุขภาพ ประชาชนมีสุขภาวะที่ดีขึ้น ไม่พบผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกในพื้นที่ ต.ย่านยาว ตลอดระยะเวลา ๒ ปี

ด้านเศรษฐกิจ อบต. ย่านยาว ลดค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะ ประชาชนลดรายจ่ายสำหรับการซื้อปุ๋ยเคมี เพิ่มรายได้ครัวเรือนจากการขายขยะรีไซเคิล

ด้านสังคม ทุกภาคส่วนในพื้นที่ได้ร่วมพูดคุย หารือ สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกลุ่มคนต่างๆ ในตำบล นอกจากนี้ยังสร้างความเข้มแข็งให้ประชาชนในพื้นที่มีความเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง

สิ่งที่เกิดขึ้นจากกระบวนการ “ธรรมนูญสุขภาพตำบลปลอดขยะ ต.ย่านยาว” นี้สอดคล้องกับแนวคิด “การผลิตร่วม” (Co - production) ซึ่งเป็นการจัดการที่ประกอบด้วยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่าย ได้แก่ การมีส่วนเกี่ยวข้องของพลเมือง ผู้ใช้บริการ ผู้บริโภค อาสาสมัคร และหรือหน่วยงานระดับชุมชน ร่วมผลิตบริการสาธารณะและได้ประโยชน์จากบริการสาธารณะนั้น ตลอดจนสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง และไม่อาจปฏิเสธได้ว่าธรรมนูญสุขภาพตำบลปลอดขยะ ต.ย่านยาว อ.คีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี” เป็นนวัตกรรมการผลิตร่วมทางสังคม ที่ถูกนำไปขยายผลต่อในพื้นที่ต่างๆ ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี และเขต ๑๑ ต่อไป