ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ โอกาสและความหวังอนาคตประเทศไทย | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
Audio file

งานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 14 ปิดม่านลงอย่างชื่นมื่นหลังได้ฉันทมติ 3 ระเบียบ ก่อนจะส่งไม้ต่อให้ “ชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ” ประธาน คจ.สช. คนใหม่ เป็นแม่ทัพจัดสมัชชาสุขภาพ ครั้งที่ 15-16 พร้อมประกาศวาระสุขภาพแห่งชาติ ประจำปี 2565-2566 “ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ โอกาสและความหวังอนาคตประเทศไทย”
 

ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ


เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2564 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 14 พ.ศ. 2564 ณ หอประชุมใหญ่ บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ภายใต้ประเด็นหลัก (ธีม) “พลังพลเมืองตื่นรู้ ... สู้วิกฤตสุขภาพ” เป็นวันสุดท้าย โดยมีผู้เข้าร่วมผ่านทาง on-site และช่องทาง online ของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เป็นจำนวนมาก

งานสมัชชาสุขภาพฯ วันสุดท้าย มีกิจกรรมสำคัญคือพิธีส่งมอบงานจากคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) ครั้งที่ 13-14 ไปยัง คจ.สช. ครั้งที่ 15-16 พ.ศ. 2565-2566 โดยมี นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธาน คจ.สช. ครั้งที่ 15-16 เป็นผู้รับมอบงาน พร้อมทั้งมีการประกาศประเด็นหลัก (Theme) ของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15-16 คือ “ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ โอกาสและความหวังอนาคตประเทศไทย” ซึ่งถือเป็นวาระแห่งชาติทางสุขภาพประจำปี 2565-2566 ที่ สช. คจ.สช. ขอเชิญชวนภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนร่วมกันพัฒนานโยบายสาธารณะและขับเคลื่อนมติต่อไป
 

ชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ


นายชาญเชาวน์
เปิดเผยว่า ประเด็นหลักของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15-16 นี้ไม่ได้ถูกคิดขึ้นมาเอง หากแต่มีที่มาจากการรับฟังความคิดเห็นจากพี่น้องประชาชนทุกภาคส่วนในระหว่างกระบวนการจัดทำธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่นานนี้ โดยจากกระบวนการรับฟังที่ผ่านมาพบว่าผู้คนในสังคมได้ร่วมกันมองเห็นถึงโอกาสและความหวังของการพัฒนาประเทศภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ไปสู่อนาคตร่วมกัน


นายชาญเชาวน์ กล่าวว่า ตลอดกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ มีประเด็นหลักคือ “พลังพลเมืองตื่นรู้ สู้วิกฤตสุขภาพ” ที่ทำให้เราได้ตระหนักถึงพลังของความร่วมมือซึ่งสร้างความมั่นใจว่าเราจะสามารถข้ามผ่านวิกฤตโควิดนี้ไปด้วยกันได้ โดยต่อจากนี้เราจะพูดถึงเรื่องโอกาสและความหวังที่มีร่วมกันในการพัฒนาและสร้างอนาคตของประเทศไทย

“ความเป็นธรรมด้านสุขภาพอยู่กับเรา อยู่ในครอบครัว อยู่ในชุมชน อยู่ในประเทศ อยู่ในอาหารที่เรากิน อยู่ในน้ำที่เราดื่ม อยู่ในอากาศที่เราหายใจ เรามั่นใจว่านโยบายด้านสุขภาพและสุขภาวะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน และจะเชื่อมโยงกับนโยบายอื่นของประเทศในทุกมิติ ไม่ว่าสังคม เศรษฐกิจ หรือการเมือง ซึ่งเราจะร่วมกันจัดสมัชชาสุขภาพเชิงประเด็น เชิงพื้นที่ทั่วแผ่นดินตลอด 2 ปีต่อเนื่อง แล้วในเดือน ธ.ค.ของแต่ละปีที่เป็นงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ จึงจะมาสรุปบทเรียนและตกผลึกไปร่วมกัน ว่ามีอะไรที่ทำสำเร็จ หรือยังไม่สำเร็จ เพื่อมาตรวจสอบและก้าวไปด้วยกัน” นายชาญเชาวน์ กล่าว
 

ประทีป ธนกิจเจริญ


ด้าน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึงมิติใหม่ในการจัดงานสมัชชาสุขภาพฯ ครั้งที่ 15-16 ตอนหนึ่งว่า จากการหารือของ คจ.สช. ชุดใหม่ เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการวางกรอบการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15-16 เพื่อให้บรรลุสู่เป้าหมายตามประเด็นหลักเอาไว้ 4 ข้อ คือ 1. เน้นเป็นประเด็นระดับประเทศ และหน่วยงานหรือองค์กรระดับชาติเป็นเจ้าภาพหลัก 2. ใช้กระบวนการสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น จนได้ข้อเสนอที่มีความพร้อมทางวิชาการ และมีเครือข่ายหน่วยงานหรือองค์กรพร้อมร่วมขับเคลื่อนชัดเจน 3. บูรณาการในการพัฒนานโยบาย (ขาขึ้น) และขับเคลื่อนเชิงระบบ (ขาเคลื่อน) รวมทั้งเชื่อมการขับเคลื่อนร่วมกับสมัชชาสุขภาพในพื้นที่ 4. จัดกิจกรรมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติด้วยวิธีการที่ยืดหยุ่น ทันสถานการณ์ ต่อเนื่องทั้งปีและเปิดกว้าง

“หลังจากช่วงที่ผ่านมาเราเผชิญกับวิกฤต ปัญหา และภาวะแทรกซ้อน ที่ต้องมีการรวมพลังกัน ต่อจากนี้เรากำลังจะเดินหน้าไปสู่การสร้างความเป็นธรรม ที่จะเป็นเรื่องของการแสวงหาโอกาส และการสร้างอนาคตประเทศไทยไปพร้อมกัน ผ่านการขับเคลื่อนงานสมัชชาสุขภาพตลอดทั้งปี และงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในปลายปีที่จะมาร่วมกันหาฉันทมติ รวมถึงกล่าวถ้อยแถลงที่จะขับเคลื่อนร่วมไปด้วยกันอีกครั้ง กับพี่น้องสมาชิกสมัชชาสุขภาพ และภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ” นพ.ประทีป กล่าว
 

ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ


อนึ่ง ตลอด 2 วันของการจัดงานสมัชชาสุขภาพฯ ครั้งที่ 14 ที่ประชุมได้มีฉันทมติและร่วมกันรับรองข้อมติใน 3 ระเบียบวาระ ได้แก่ 1. การสร้างเสริมสุขภาวะสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนในวิกฤตโควิด-19 2. การคุ้มครองการเข้าถึงบริการสุขภาพของกลุ่มประชากรเฉพาะในภาวะวิกฤตอย่างเป็นธรรม 3. การจัดการการสื่อสารอย่างมีส่วนร่วมในวิกฤตสุขภาพ โดยขั้นตอนหลังจากนี้จะนำเสนอมติสมัชชาฯ เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) พิจารณา เพื่อส่งต่อให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับข้อมติดำเนินการต่อไป
 

ความหวังอนาคตประเทศไทย

 

ความหวังอนาคตประเทศไทย


 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม:

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สช.

โทร. 02-8329141

 

 

รูปภาพ
ปิดม่านสมัชชาสุขภาพ