สช. ร่วมกับภาคีเครือข่ายปั้นแบบฟอร์ม ‘แผนการดูแลล่วงหน้า’ สู่การวางเจตจำนงในวาระสุดท้ายของชีวิต จ่อใช้ในสถานบริการสาธารณสุขทุกระดับ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
Audio file

สช.จ่อคลอดแบบฟอร์มมาตรฐาน “Advance Care Plan” และคู่มือการจัดทำ วางรูปธรรมการแสดงเจตจำนง รับ-ไม่รับบริการแพทย์ในวาระสุดท้ายของชีวิต ระดมความเห็นผู้เชี่ยวชาญให้ข้อเสนอในโค้งสุดท้าย ก่อนมอบ “คสช.” เคาะประกาศใช้ตามเจตจำนง มาตรา 8 และมาตรา 12 พ.ร.บ.สุขภาพฯ ต่อไป

 

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับกรมการแพทย์ กรมอนามัย สมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย และกลุ่ม Peaceful death จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็น (ร่าง) แบบฟอร์มมาตรฐานแผนการดูแลล่วงหน้าสำหรับประเทศไทย (Thai Standard Advance Care Plan Form) และ (ร่าง) แนวทางการจัดทำแบบฟอร์มมาตรฐานแผนการดูแลล่วงหน้าสำหรับประเทศไทย (Standard operation procedures : SOP) ผ่านระบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2564  โดยมี ศ.คลินิก สุพรรณ ศรีธรรมมา     เป็นประธานการประชุม

สำหรับการวางแผนการดูแลล่วงหน้า หรือ Advance Care Plan (ACP) เป็นเครื่องมือหนึ่งในการสื่อสารในกระบวนการการดูแลแบบประคับประคอง หรือ Palliative Care โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลตรงกับความต้องการ ทั้งมิติทางร่างกาย จิตใจ และสังคม

ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวจะสอดคล้องกับสิทธิด้านสุขภาพตามมาตรา 8 และ 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ที่รับรองสิทธิผู้ป่วยในการทราบข้อมูลเกี่ยวกับบริการสุขภาพที่เพียงพอ เพื่อประกอบการตัดสินใจว่าจะรับหรือไม่รับบริการสาธารณสุข และรับรองสิทธิของผู้ป่วยการในการทำหนังสือแสดงเจตจำนงที่ัไม่รับบริการสาธารณสุข ที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตได้

สุพรรณ ศรีธรรมมา

ศ.คลินิก สุพรรณ ศรีธรรมมา ประธานคณะทำงานจัดทำแนวทางการวางแผนการดูแลล่วงหน้าสำหรับประเทศไทย เปิดเผยว่า หลังจากที่เครือข่ายต่างๆ ได้ร่วมกันผลักดันนิยามปฏิบัติการของคำที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง Palliative Care จนสำเร็จมาแล้ว ดังนั้นในการจัดทำ ACP ในครั้งนี้จะเป็นการเดินหน้าต่อไปอีกขั้นหนึ่ง เพื่อทำให้เกิดแนวทางกลางให้กับผู้เกี่ยวข้องทุกหน่วยงาน สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการจัดทำ หรือเพิ่มเติม ACP ของหน่วยงานตนเองต่อไปได้

ศ.คลินิก สุพรรณ กล่าวว่า สำหรับมาตรฐานแผนการดูแลล่วงหน้า จะประกอบด้วยแบบฟอร์มเพื่อกรอกข้อมูลความประสงค์ และ SOP หรือคู่มือแนวทางที่ให้ผู้ป่วย ญาติ รวมถึงบุคลากรการแพทย์ มีความรู้ความเข้าใจที่ตรงกัน ทำให้ผลของ ACP เป็นไปตามที่ทุกฝ่ายต้องการ ซึ่งการจัดทำแบบฟอร์มและคู่มือนี้จะไม่ใช่เพียงครั้งเดียวแล้วเสร็จ แต่จะมีการประเมินและปรับปรุงเป็นระยะให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ต่อไป

ในส่วนของ (ร่าง) แบบฟอร์มฯ จะประกอบด้วย ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ทำ การแสดงเจตจำนงหรือความปรารถนา และแผนการดูแลล่วงหน้าที่ต้องการ รวมไปถึงการมอบหมายผู้ตัดสินใจแทน ซึ่งจะทำหน้าที่เมื่อผู้ป่วยหมดความสามารถในการตัดสินใจเเล้ว เป็นต้น ส่วน SOP จะมีการให้หลักการเหตุผล วัตถุประสงค์ ตลอดจนขั้นตอนการทำ และการใช้แผนฯ เป็นต้น

“ข้อกำหนดเหล่านี้จะเป็นหลักการกลาง ที่เราสามารถนำมาเป็นแนวทางได้ แต่สุดท้ายแล้วการตัดสินใจจริงนั้นจะอยู่กับบุคลากรหน้างานที่อยู่กับผู้ป่วยและญาติ ดังนั้นเราอาจต้องบันทึกเหตุผลเพิ่มเติมไว้เพื่อให้คนมาทีหลังจะเข้าใจได้ว่าการตัดสินใจเช่นนั้นเป็นไปเพราะอะไร จึงดีใจที่การทำงาน Palliative Care ขณะนี้มีผลสัมฤทธิ์ จนกำลังเกิดคู่มือหรือแนวทางกลางในการทำงานให้ทุกฝ่ายสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้”
ศ.คลินิก สุพรรณ กล่าว

สช. ร่วมกับภาคีเครือข่ายปั้นแบบฟอร์ม ‘แผนการดูแลล่วงหน้า’

นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และคณะทำงานจัดทำแนวทางฯ กล่าวว่า กระบวนการจัดทำ (ร่าง) แบบฟอร์มฯ นี้ได้เริ่มมาตั้งแต่เดือน ต.ค. 2563 - เม.ย. 2564 เป็นเวลากว่า 5 เดือนที่คณะทำงานได้ประชุมต่อเนื่อง เพื่อร่วมกันพัฒนายกร่างแบบฟอร์มและแนวทาง โดยอ้างอิงจากการศึกษาแนวปฏิบัติ รวบรวมองค์ความรู้ รวมถึงรับฟังความคิดเห็นผ่านหลายช่องทาง

คณะทำงานได้เปิดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นผ่านเวทีสาธารณะ ทางระบบออนไลน์ รวมถึงช่องทางต่างๆ ที่เปิดให้มีการเสนอข้อมูลเข้ามาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน รวมถึงเวทีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญในวันนี้ และหลังจากนี้ก็จะรวบรวมความเห็นทั้งหมดไปปรับปรุงร่างดังกล่าวให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น นายสุทธิพงษ์ กล่าว

ด้าน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ขั้นตอนหลังจากนี้ทาง สช. จะดำเนินการนำผลสรุปสุดท้าย เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เพื่อให้ความเห็นชอบ แล้วหลังจากนั้นแบบฟอร์มมาตรฐานและแนวทางนี้ก็จะถูกประกาศใช้ในการดำเนินงาน ACP ของสถานบริการสาธารณสุขทุกระดับ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

นพ.ประทีป กล่าวว่า ขณะเดียวกันเมื่อได้แบบฟอร์มมาตรฐานและแนวทางฉบับสมบูรณ์นี้ ยังจะถูกนำไปจัดพิมพ์เป็นเล่ม และแปลเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อที่อาจารย์ บุคลากรต่างๆ จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการอ้างอิงได้ ทั้งในการนำเสนอ หรือทำวิจัยต่างๆ เพื่อให้เกิดการศึกษาได้ในระยะยาวต่อไป” นพ.ประทีป กล่าว

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม:

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สช.

โทร. 02-8329141

รูปภาพ
สช. ร่วมกับภาคีเครือข่ายปั้นแบบฟอร์ม ‘แผนการดูแลล่วงหน้า’