- 44 views
เมื่อวันที่ ๑๗ มิ.ย.๒๕๖๐ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ร่วมกันจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นการแก้ไขปรับปรุง (ร่าง) พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เป็นเวทีระดับภูมิภาคในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ โรงแรมอวานี จังหวัดขอนแก่น โดยเวทีมีทุกภาคส่วนเข้าร่วมแสดงความเห็น รวมถึงภาคประชาชนทั้งกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขปรับปรุง (ร่าง) พ.ร.บ.จำนวนมากกว่า ๕๐๐ คน
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการประชาพิจารณ์ (ร่าง) พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....เปิดเผยว่า การจัดเวทีรับฟังความเห็นมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนที่ตื่นรู้ที่สนใจ (ร่าง) พ.ร.บ. ได้มาแสดงความคิดเห็นอันเป็นประโยชน์ โดยคณะอนุกรรมการฯ จะทำหน้าที่รวบรวมความเห็นทั้งหมดเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ. ที่มี รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ เป็นประธาน เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาปรับปรุงร่างกฎหมายต่อไป
“การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๓ จากที่ทำมาแล้ว ๒ ครั้ง ที่ภาคใต้และภาคเหนือ ทำให้เห็นว่าประชาชนมีความตื่นรู้และสนใจในเรื่องของ (ร่าง) พ.ร.บ.จำนวนมาก มีการแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวางทั้งที่ผ่านแบบฟอร์มรับการแสดงการคิดเห็น และผ่านทางระบบออนไลน์ที่ทางคณะผู้จัดงานได้จัดเตรียมอำนวยความสะดวกระบบคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตไว้ให้”
สำหรับการเคลื่อนไหวของกลุ่มและเครือข่ายคนรักหลักประกันสุขภาพที่รวมกลุ่มกันกว่า ๑๐๐ คน ชูป้ายคัดค้าน และแสดงความคิดเห็นที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขปรับปรุง (ร่าง) พ.ร.บ.นั้น เป็นสิทธิที่พึงกระทำได้เพราะเป็นการเคารพทั้งความเห็นเหมือนและเห็นต่าง ซึ่งทางคณะอนุกรรมการยืนยันว่าจะนำทุกความคิดเห็นที่ทางกลุ่มและเครือข่ายฯ ที่ได้นำเสนอ รวบรวมส่งยังคณะกรรมการพิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ. ต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม การแสดงคัดค้านก็ต้องมีขอบเขต ไม่ขัดขวางหรือกระทำการจนไม่สามารถดำเนินการจัดประชุมตามขั้นตอนได้ ควรคำนึงถึงการเปิดใจรับฟังและสิทธิการแสดงความคิดเห็นของคนอื่นๆ เช่นกัน
นางปรียานุช ป้องภัย ตัวแทนจากกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า ตนและทางกลุ่มไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขปรับปรุง (ร่าง) พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เนื่องจาก พ.ร.บ.ที่ปรับปรุงให้สิทธิและอำนาจแก่กระทรวงสาธารณสุขในฐานะผู้ให้บริการ โดยไม่มีการถ่วงดุลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)ในฐานะผู้ซื้อบริการ จึงอาจจะทำให้ประชาชนต้องสูญเสียสิทธิ์ในการเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุขที่จำเป็น รวมถึงการจัดการซื้อยาและเวชภัณฑ์ก็อาจจะมีการทุจริตกันมากขึ้น
“ทางกลุ่มคิดว่าที่มาของเนื้อหาของ (ร่าง) พ.ร.บ. ไม่มีความชอบธรรมเพียงพอ องค์ประกอบของคณะกรรมการไม่มีความสมดุล เพราะมีภาคประชาชนเพียงแค่ ๒ คนที่ไม่สามารถออกเสียงคัดค้านเพื่อปกป้องสิทธิประชาชนด้วยกันเองได้ ดังนั้น จึงอยากให้มีการยุติกระบวนการรับฟังความคิดเห็น และกลับไปเริ่มต้นการยกร่างพิจารณาแก้ไขปรับปรุงร่าง พ.ร.บ. เสียใหม่ให้มีความชอบธรรมมากกว่านี้”
ด้าน นางสาวเบญญาภา มะโนธรรม ผู้แทนจากศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับการแก้ปรับปรุง (ร่าง) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....ให้มีความทันสมัยขึ้น ครอบคลุมทุกหน่วยของผู้ให้บริการทั้งโรงพยาบาลของรัฐ เอกชน และวิชาชีพด้านสาธารณสุขอื่นๆ อาทิ การแพทย์แผนไทย เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสได้เข้าถึงการบริการมากขึ้น ไม่เพียงแต่ต้องพึ่งการใช้บริการของโรงพยาบาลรัฐบาลเพียงอย่างเดียว
“เหตุที่เกิดการคัดค้านของกลุ่มประชาชน อาจเพราะขั้นตอนและระยะของการปรับปรุง (ร่าง) พ.ร.บ.ถือว่าสั้นมาก เมื่อเทียบกับ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ ที่มีการเวทีรับฟังความคิดเห็นหลายร้อยเวที ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมทุกขั้นตอน ตกผลึกความคิดเห็น ใช้เวลา ๓-๔ ปี กว่าเสร็จสิ้น และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปรับปรุงใน (ร่าง) พ.ร.บ. หัวใจสำคัญ คือ เหตุผลและเนื้อหา ที่จะทำให้ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุข ได้รับประโยชน์มากขึ้น ไม่ใช่เพียงคิดถึงจำนวนและองค์ประกอบการของคณะกรรมการพิจารณา(ร่าง)ฯ หรือออกข้อบังคับตามมาตรา ๔๔ ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)เท่านั้น”
นางสาวเบญญาภา กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตามตนยังมีบางประเด็นของการปรับปรุงแก้ไข (ร่าง) พ.ร.บ. ที่ไม่เห็นด้วย คือ องค์ประกอบของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่นอกจากจะมีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องครอบคลุมทั้งผู้ให้บริการ และผู้ซื้อบริการแล้ว ตัวแทนจากภาคประชาชนในผู้รับบริการไม่ควรลดน้อยลงไปกว่าเดิม และอย่างน้อยครอบครบเครือข่าย ๙ ด้าน อาทิ ด้านผู้สูงอายุ เด็ก คนพิการ ผู้ใช้แรง สตรี เป็นต้น
ทั้งนี้ ในวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๖๐ จะมีการจัดเวทีการรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ ๔ ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายระดับภูมิภาค ในพื้นที่ภาคกลาง ณ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ หลังจากนั้นก็จะเป็นการสรุปและรวบรวมความคิดเห็นที่เกิดขึ้นในทุกเวทีเสนอไปยังคณะกรรมการพิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่มี รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ เป็นประธานต่อไป
กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143