ร่างแผนปฏิบัติการฯ เสนอ คมส. ขับเคลื่อนกฎเหล็กป้องกันภัยแร่ใยหิน | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   คณะทำงานขับเคลื่อน มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน มีการประชุมครั้งที่ ๒/๒๕๕๙ เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๕๙ ณ ห้องประชุมสุชน ๑ ชั้น ๒ อาคารสุขภาพแห่งชาติ จังหวัดนนทบุรี
 
   คณะทำงานชุดนี้ มี ศ.นพ.พรชัย สิทธิศรัณย์กุล เป็นประธาน พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน โดยได้หารือกันถึง การปรับปรุง (ร่าง) แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน และความคืบหน้าการดำเนินการของหน่วยงานที่รับผิดชอบ
 
   ศ.นพ.พรชัย กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบ ให้จัดกลุ่มการดำเนินการ ตาม (ร่าง)แผนปฎิบัติการฯ ดังกล่าว ออกเป็น ๒ กลุ่ม กลุ่มแรก เป็นการขับเคลื่อนทางกฎหมาย ระเบียบ และนโยบายของหน่วยงานต่าง ๆ เช่น การกำหนดค่ามาตรฐานความปลอดภัยใยหินในบรรยากาศการทำงาน ๐.๑ เส้นใย/ซีซี
 
   การปรับปรุง พ.ร.บ.โรงงานอุตสาหกรรม พ.ศ.๒๕๓๕ ไม่ให้มีการใช้แร่ใยหินเป็นวัตถุดิบ พร้อมเพิ่มประเด็นการควบคุม การรื้อถอนซ่อมแซมอาคาร ที่มีวัสดุแร่ใยหิน ใน พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ๒๕๕๔ เป็นต้น
 
   กลุ่มที่สอง คือกระบวนการสร้างความตระหนักรับรู้ให้แก่ประชาชน ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การศึกษาวิจัยโรคที่เกิดจากแร่ใยหิน การจัดทำสื่อเผยแพร่ ผ่านช่องทางต่าง ๆ รวมถึงการสื่อสาร ผ่านภาคีเครือข่ายระดับพื้นที่ สร้างความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการรื้อถอนอาคารที่เหมาะสม ปลอดภัย จากการสัมผัสวัสดุก่อสร้างที่มีแร่ใยหินผสมอยู่ โดยแต่ละกิจกรรม ต้องมีการระบุกลุ่มเป้าหมายใช้ชัดเจน ทั้งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง กลุ่มผู้ผลิต กลุ่มผู้ใช้ และผู้บริโภค
 
   “เราต้องยอมรับว่า ข้อเรียกร้องและการต่อสู้ที่ผ่านมา เพื่อผลักดันให้ยกเลิกการใช้แร่ใยหินในประเทศไทย อาจจะเป็นเรื่องยาก เนื่องจากมีข้อจำกัดทางการค้า และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาเกี่ยวข้องด้วย โดยเฉพาะกับ ประเทศรัสเซีย ที่เป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกแร่ใยหินรายใหญ่ ดังนั้น แนวทางของร่างแผนปฏิบัติการฯ คือทำอย่างไรให้สังคมตระหนักรับรู้ถึงอันตราย และป้องกันการกระทำใด ๆ ให้เกิดความปลอดภัยจากแร่ใยหินมากที่สุด”
 
   ศ.นพ.พรชัย กล่าวว่า ข้อสรุปของการหารือครั้งนี้ จะนำเสนอต่อ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพฯ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพสังคมและสุขภาวะ มี รศ.วิทยา กุลสมบูรณ์ เป็นประธาน เพื่อนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุม คณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) ที่มีศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานต่อไป
 
   ขณะที่หน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญ เกี่ยวข้องกับการใช้แร่ใยหิน สมศรี สุวรรณจรัส ผู้อำนวยการสำนักควบคุมวัตถุอันตราย กรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ถือเป็นหน่วยงานหลักในการออกระเบียบ กฎหมาย ในการควบคุมวัตถุอันตราย ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีการนำเสนอเรื่อง การกำหนดการยกเลิกการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบแต่ละรายการ เสนอต่อคณะรัฐมนตรีชุดก่อน ซึ่งสุดท้ายไม่ได้มีการพิจารณาเนื่องจากสถานการณ์ทางการเมือง
 
   ร้อยตรี ไพโรจน์ คนึงทรัพย์ รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ให้ข้อเสนอแนะว่า หากแนวทางการยกเลิกไม่สามารถดำเนินการได้ อาจจะใช้ กลไกด้านเศรษฐศาสตร์ มาดำเนินการ เช่น มาตรการภาษีเพื่อเพิ่มต้นทุนของการใช้แร่ใยหิน ขณะเดียวกันก็ออกมาตรการสนับสนุน เพื่อจูงใจให้เอกชนหันมาใช้วัสดุอื่นทดแทนควบคู่ไปด้วย
 
   นี่คือความก้าวหน้าของ มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๓ “มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน” ที่ใช้เวลาขับเคลื่อนมานานถึง ๖ ปี และยังคงต้องให้กำลังใจ คณะทำงานฯ เพื่อผลักดันกันต่อไป
 

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ