ประเด็นคานงัดจังหวัด : Local Reform Agenda | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   สช. เป็นองค์กรที่ถือกำเนิดและพัฒนาการมาตามลำดับ มีภารกิจหลักคือการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบสุขภาพของประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันได้ขยายบทบาทจากระบบสุขภาพสู่การปฏิรูปสังคม สุขภาวะ อันเกี่ยวข้อง เชื่อมโยงและครอบคลุมไปถึงทุกปัจจัยที่กำหนดสุขภาพ(social determinants of health)
 
   ในช่วงปี2553-2556 สช. เคยรับมอบหมายภารกิจสำคัญของบ้านเมืองตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.2553 โดยได้ตั้งสำนักงานปฏิรูป (สปร.) ขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยเลขานุการให้กับคณะกรรมการปฏิรูปที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธานและคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปที่มี ศ.นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน
 
   สปร. มีผลงานวิชาการมากมายที่ผู้คนรู้จักและถูกนำไปใช้อ้างอิงต่อๆ กันไป แต่น่าเสียดายที่คนทั่วไปน้อยคนนักที่จะรู้ว่า สปร. เป็นเพียงหน่วยงานเฉพาะกิจที่อยู่ภายใต้ร่มของ สช. ทำให้ผลงาน สปร. ดังกล่าวมิได้ช่วยเสริมสร้างแบรนด์ของ สช. เท่าที่ควร
 
   ปัจจุบัน สช. ยังคงเดินหน้าสนับสนุนงานปฏิรูปประเทศต่อไปโดยผ่านกระบวนการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมบนพื้นฐานทางปัญญา (4PW) ทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่ โดยต่อไปในช่วงทศวรรษที่ 2 สช. จะหันไปเน้นการสร้างรูปธรรมความสำเร็จในระดับพื้นที่ให้มากขึ้น
 
   ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา สช. ปรับวิธีการทำงานใหม่โดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง เครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดกับเครือข่ายภาคประชาสังคมและชุมชนท้องถิ่นทุกสายงานในพื้นที่ ช่วยกันระดมความคิดเพื่อกำหนดประเด็นงานพัฒนาที่สำคัญที่สุดของจังหวัดออกมาชัดๆ ไม่เกิน 3 ประเด็น โดยเรียกมันว่า ประเด็นคานงัดของจังหวัด เพื่อที่จะนำไปสู่ข้อตกลงการทำงานร่วมกันระหว่างเครือข่ายแต่ละจังหวัดกับ สช. ในการพัฒนาและขับเคลื่อนกระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องและครบวงจร
 
   จนถึงขณะนี้ มีจำนวน 66 จังหวัดและพื้นที่กรุงเทพฯ อีก 6 โซนที่สามารถร่วมกันกำหนดประเด็น คานงัดของพื้นที่ตนได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ประเด็นเหล่านี้คือ Local Reform Agenda ที่เครือข่ายพหุภาคีหรือประชารัฐในพื้นที่เป็นผู้กำหนด และ สช. กับองค์กรพันธมิตรระดับชาติจะร่วมกันสนับสนุนการขับเคลื่อนของพวกเขา
 
   ในภาพรวม ประเด็นคานงัดจังหวัดมีจำนวน 206 ประเด็นหรือเฉลี่ย 2.8 ประเด็น/จังหวัด โดยแบ่งเป็นของภาคเหนือ 46, ภาคกลาง 58, ภาคอีสาน 40, ภาคใต้ 44 และกทม. 18 ประเด็น. ส่วนในด้านเนื้อหาสาระ สามารถให้ภาพใหญ่ๆ ได้ว่า เป็นประเด็นด้านเศรษฐกิจ 12 เรื่อง, ด้านสังคม 69, ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 49 และด้านสุขภาพ 76 เรื่อง
 
   ตัวอย่างประเด็นด้านเศรษฐกิจ เช่น เกษตรอินทรีย์ ท่องเที่ยวชุมชน เศรษฐกิจพอเพียง แรงงานต่างชาติ เขตเศรษฐกิจพิเศษ ตัวอย่างประเด็นด้านสังคม เช่น ท้องวัยเรียน ยาเสพติด สังคมสูงวัย เด็กปฐมวัย ปฏิรูปการศึกษา ตัวอย่างประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ขยะชุมชน จัดการลุ่มน้ำขนาดเล็ก ที่อยู่อาศัยชุมชนเมือง ทางจักรยาน พิบัติภัยธรรมชาติ การจัดการทรัพยากรดิน-น้ำ-ป่า ตัวอย่างประเด็นด้านสุขภาพ เช่น อุบัติเหตุทางถนน รณรงค์ลดเหล้า ธรรมนูญสุขภาพ การแพทย์พื้นบ้าน สารเคมีการเกษตร สันติภาพสันติสุข
 
   ประเด็นคานงัดทั้งหมดจะเป็นจุดเริ่มต้นตามวงจรของกระบวนการ 4PW กล่าวคือเป็นขั้นของ การริเริ่มนโยบาย จากนี้ไปพวกเขาจะร่วมกัน พัฒนาเป็นแผนงาน โครงการ และขับเคลื่อนปฏิบัติการ ไปจนกระทั่งถึงการประเมินผล
 
   นี่คือการขับเคลื่อนการปฏิรูปพื้นที่ของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน ที่รัฐบาลและป.ย.ป. น่าสนใจติดตาม
 
   เพราะทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เป็นทั้งฐานทุนสำหรับการพัฒนาประเทศในระยะยาวและการปฏิรูปพื้นที่ในระยะเปลี่ยนผ่าน รวมทั้งการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าของประชาชนและชุมชนท้องถิ่น นะครับ
 

รูปภาพ