ถกโครงสร้างกรุยทาง สถาปนาองค์ความรู้ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   คณะกรรมการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพแห่งชาติเปิดประชุมนัดที่ 2 อภิปรายเข้มข้น “กรอบคิด-โครงสร้าง” การสถาปนาองค์ความรู้ท้องถิ่นด้านสุขภาพ พร้อมนำเสนอความคืบหน้าเข้าสู่เวทีวิชาการในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 ประจำปี 2562 ช่วงปลายปีนี้
 
   การประชุมคณะกรรมการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพแห่งชาติ นัดที่ 2 ของปี 2562 เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2562 ซึ่งมี นพ.วิชัย โชควิวัฒน เป็นประธาน ได้เริ่มต้นขึ้นด้วยการไว้อาลัยแก่ ผศ.ภญ.สำลี ใจดี กรรมการผู้ล่วงลับ ก่อนจะเข้าสู่การรายงานผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการจัดการความรู้ภูมิปัญญาไท สุขภาพวิถีไท
 
   คณะอนุกรรมการฯ ได้จัดทำโครงสร้างและวางกรอบแนวทาง “การสถาปนาความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ” โดยการถอดองค์ความรู้จากหมอพื้นบ้าน-การแพทย์พื้นบ้าน เป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่ 1.ภูมิปัญญาในการดูแลสุขภาพตัวเอง ครอบครัว ชุมชน และ 2.ภูมิปัญญาการบำบัดรักษาของหมอพื้นบ้าน โดยจะดำเนินการทบทวนเอกสาร วรรณกรรม คัมภีร์การแพทย์พื้นบ้านต่างๆ ตลอดจนการกำหนดหัวข้อองค์ความรู้ที่จะสถาปนา และพัฒนาโครงการเพื่อขอสนับสนุนแหล่งทุนในการถอดความรู้จากหมอพื้นบ้านต่อไป
 
   ที่ประชุมได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นเพื่อเติมเต็มความสมบูรณ์ โดย นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานกรรมการ ได้เพิ่มเติมว่า วิธีคิดในส่วนที่ 2 คือการบำบัดรักษาที่ถูกกำหนดขึ้นจากปรัชญาทางการแพทย์ จำเป็นต้องพูดถึง “ที่มา” ขององค์ความรู้ซึ่งเชื่อมโยงกับศาสนาด้วย
 
   นอกจากนี้ วงประชุมยังมีข้อสังเกตที่น่าสนใจ โดยเฉพาะกฎหมายวิชาชีพจรรยาบรรณจะกลายเป็นข้อจำกัดของหมอพื้นบ้านหรือไม่ เพราะหมอพื้นบ้านเป็นผู้สูงอายุที่มีองค์ความรู้มากมาย แต่ล้วนไม่สามารถเข้าถึงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และใบประกอบวิชาชีพ ฉะนั้นการใช้กฎหมายเป็นกรอบอาจจะสร้างอุปสรรคให้กับหมอพื้นบ้านได้ การมีกฎหมายจะต้องเป็นไปเพื่อก่อประโยชน์ ไม่ขัดขวาง แต่มีเพื่อส่งเสริมและกำกับดูแล ทั้งนี้ ในกระบวนการสถาปนาความรู้จะต้องมีกลไกการตรวจสอบและพัฒนา พร้อมกันนี้ต้องกำหนดขอบเขตให้ชัดว่า อะไรคือ “การแพทย์พื้นบ้าน” อะไรคือ “การแพทย์แผนไทย” เพื่อไม่ให้การแพทย์พื้นบ้านถูกกลืนหายไป
 
   รศ.ดร.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ กรรมการ แสดงความคิดเห็นว่า กระบวนการที่ได้มาขององค์ความรู้แต่ละเรื่องก็มีความแตกต่างกัน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ องค์ความรู้จะต้องมีความถูกต้องและปลอดภัย โดยควรมีกระบวนการรับรองเพื่อให้เกิดการยอมรับ
 
   “การสถาปนาและพัฒนาองค์ความรู้ต้องมีความถูกต้องและปลอดภัย โดยในส่วนของการพัฒนาองค์ความรู้ คือการพัฒนาจากของเก่าที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้น จนเป็นที่ยอมรับ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของความเคารพว่าเป็นองค์ความรู้เดิมของเขา” รศ.ดร.ภญ.จิราพร กล่าว
 
   ถัดจากนั้น ที่ประชุมได้รับฟังความก้าวหน้าใน 4 ประเด็น ได้แก่ 1.กฎกระทรวงและประกาศตามมาตรา 64 และร่างระเบียบ ตามมาตรา 65 พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 2.พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย พ.ศ. 2562 3.แผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย (พ.ศ. 2560-2564) และ 4.การศึกษา “แนวทางป่าชุมชนกับการอนุรักษ์ ปกป้อง และการใช้สมุนไพรอย่างยั่งยืน”
 
   ช่วงท้ายของการประชุม ที่ประชุมได้หารือถึง “การจัดเวทีวิชาการ” ในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 ประจำปี 2562 เบื้องต้นกรรมการเห็นพ้องต้องกันว่าควรถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านี้เข้าสู่เวทีระดับชาติและจำเป็นต้องมีความต่อเนื่อง โดยที่ประชุมเห็นชอบให้ดำเนินการจองห้องเพื่อนำเสนอใน 2 หัวข้อ ได้แก่ 1.การสถาปนาความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นสุขภาพ (Institutionalization of Knowledge) และ 2.ผลการศึกษา “แนวทางป่าชุมชนกับการอนุรักษ์ ปกป้อง และการใช้สมุนไพรอย่างยั่งยืน”
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

หมวดหมู่เนื้อหา