ล็อคเป้า เชื่อมโยง นโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ขับเคลื่อนมติฯ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   แม้จะยังไม่พรั่งพร้อมและยังไม่เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายเหมือนในปัจจุบัน หากแต่ความสำคัญของ “การเดิน” และการใช้ “จักรยาน” ในชีวิตประจำวัน ก็ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยในระดับสาธารณะตั้งแต่เมื่อ 7 ปีก่อน ในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5 ประจำปี 2555 ซึ่งได้มีฉันทมติร่วมกันใน มติ 5.1 การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน เรื่อยมาจนถึงขณะนี้ ชัดเจนว่าผลการขับเคลื่อนอยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจ เห็นได้จากรูปธรรมพื้นที่ตัวอย่างหรือพื้นที่ที่ใช้จักรยานเดินทางในวิถีชีวิตที่กระจายตัวอยู่ตามชุมชนทุกๆ ภูมิภาค
 
   แต่ใช่ว่าการขับเคลื่อนมติจะลุล่วงไปด้วยดีในทุกๆ ด้าน เพราะความเป็นจริงยังมีปัญหาอุปสรรคและข้อติดบางประการที่กั้นขวางการทำงาน อันเป็นที่มาของวงประชุมแลกเปลี่ยนและระดมความคิดเพื่อเสนอแนวทางขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม เรื่อง การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2562
 
   “จากประสบการณ์ 7 ปี พวกเราอยากเห็นเรื่องนี้เดินต่อไปอย่างไร” เป็นคำถามเปิดการสนทนาของ เจษฎา มิ่งสมร อนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติด้านสังคมและสุขภาวะ ในฐานะประธานการประชุม เพื่อสอบทานการขับเคลื่อนมติตั้งแต่ปี 2555 และรวบรวมข้อเสนอต่อการขับเคลื่อนจากที่ประชุม
 
   วณี ปิ่นประทีป ประธานอนุกรรมการฯ เสนอว่า เป้าหมายสุดท้ายของมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาตินี้ไม่ใช่เพื่อให้คนใช้จักรยาน แต่เป็นไปเพื่อลดความเจ็บป่วยของประชาชน และจากการลงพื้นที่ต่างๆ พบว่ามีหลายอำเภอที่ทำงานเรื่องทางจักรยานค่อนข้างดี จึงคิดว่าอาจใช้กลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) มาช่วยขับเคลื่อนด้วย
 
   ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย แสดงความเห็นว่า หลายพื้นที่มีการทำงานร่วมกับชมรมจักรยานซึ่งเป็นสิ่งทีดี แต่อยากเสนอว่าการขับเคลื่อนมตินี้ควรให้น้ำหนักการทำงานไปที่ “ผู้ใช้จักรยาน” ซึ่งเป็นคนละกลุ่มกับ “นักจักรยาน” ที่สำคัญคือต้องทำให้การใช้จักรยาน “สะดวก สบาย ปลอดภัย” กว่าการใช้รถยนต์ คนถึงจะหันมาใช้กันอย่างจริงจัง
 
   นอกจากนี้ ยังมีความคิดเห็นที่น่าสนใจอีกจำนวนมากที่ได้รับการนำเข้ามาสู่วงหารือ ไม่ว่าจะเป็นการหาเจ้าภาพหลักในการทำงาน การผลักดันเพื่อให้เกิดการตั้ง “กรมจักรยาน” ขึ้นภายในกระทรวงคมนาคม การปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ การผังเมือง ตลอดจนข้อเสนอให้ทบทวน “แผนยุทธศาสตร์เมืองจักรยาน” เพื่อให้เกิดแผนการปฏิบัติการสำหรับการขับเคลื่อน
 
   ด้าน ภารนี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการด้านผังเมือง และรองประธานจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 ประจำปี 2562 ชวนที่ประชุมมองการขับเคลื่อนในภาพใหญ่ คือไม่ใช่มุ่งเน้นที่การขับเคลื่อนเชิงมติเพียงอย่างเดียว แต่ควรมีการเชื่อมต่อไปยังมติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย ทั้งมติเรื่องพื้นที่สาธารณะ (Public space) และกิจกรรมทางกาย (PA) และชี้ให้เห็นโอกาสในการใช้พื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (EEC) เพื่อขับเคลื่นมติ ซึ่งมีข้อดีคือไม่มีข้อจำกัดหรือติดกับดักของกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง และยังสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงสอดรับกับการลงทุนด้านโครงสร้างขั้นพื้นฐานด้วย ซึ่งได้รับเสียงสนับสนุนจากที่ประชุมอย่างล้นหลาม เนื่องจากที่ผ่านมาคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกก็ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้
 
   ที่สุดแล้ว ที่ประชุมได้สรุปแนวทางการขับเคลื่อนมตินี้ออกเป็น 4 ประเด็นใหญ่ ได้แก่ 1.ไม่มองแยกส่วนเฉพาะเรื่องการเดินหรือจักรยาน แต่ต้องเชื่อมกับมติสมัชชาสุขภาพอื่นๆ ด้วย 2.สร้างให้เกิดระบบและกลไกการใช้จักรยานไปพร้อมๆ กับกลไกอื่น เช่น EEC หรือ พชอ. 3.ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานสามารถทำได้ตลอดเวลา 4.สนับสนุนกลไกต่างๆ เช่น ให้ชมรมจักรยานเป็นแกนในการส่งเสริมการเชื่อมเครือข่าย-แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างพื้นที่ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

หมวดหมู่เนื้อหา