Ecosystem สร้างเสริมสุขภาวะ ‘ระยะสุดท้ายของชีวิต’ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
1

 

 

ก่อนถึงปลายทาง ก่อนที่วาระสุดท้ายของชีวิตจะมาถึง ก่อนที่ร่างกายของทุกชีวิตจะแสดง ‘ไตรลักษณ์’ จนประจักษ์แก่ดวงจิต 

ใช่หรือไม่ว่า เราจำนวนไม่น้อยหลงลืมไปว่า เราจะต้องตายเป็นแน่แท้ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง

ตลอดประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ เราพึ่งพิงองค์ความรู้และส่งต่อประสบการณ์จากรุ่นสู่รุ่น เราคิดค้นเทคโนโลยี พัฒนาวิทยาการ ก่อกำเนิดเป็นวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมทางการแพทย์ที่รุดหน้า ช่วยประวิงเวลาและลดความทุกข์ทรมานจากโรคร้ายได้มากขึ้น

ทว่ากฎแห่งธรรมชาติก็ยังคงสมบูรณ์อยู่เช่นนั้น ไม่มีสิ่งใดลบเลือนความจริงอันเป็นสัจจะไปได้ เมื่อมีเกิดย่อมมีดับ ไม่ว่าใครก็มิอาจอยู่เหนือ ‘ความตาย’ ไปได้

ในสมัยพุทธกาล วันหนึ่งพระพุทธเจ้าตรัสถามพระอานนท์ว่า “เธอรำลึกและพิจารณาถึงความตายมากเท่าใด?”

พระอานนท์กราบทูลตอบว่า “ข้าพเจ้ารำลึกถึงความตายวันละเจ็ดหน พระเจ้าข้า”

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ไม่พอหรอก” พระองค์ตรัสต่อว่า “ตถาคตนึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออก” ใช่หรือไม่ว่า แม้ ‘ความตาย’ จะเป็นสัจจะของชีวิต แต่น้อยเหลือเกินที่จะมีใครหวนระลึกถึงความตาย และยิ่งน้อยกว่านั้น คือการ ‘เตรียมความพร้อม’ ก่อนที่จะตาย

ทุกวันนี้ กฎหมายของประเทศไทย นั่นคือ พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ให้สิทธิกับคนไทยสามารถ ‘ออกแบบ’ ชีวิต และ ‘เตรียมความพร้อม’ ในระยะท้ายของตัวเองได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ได้แล้ว ซึ่งนอกเหนือจากมาตรา ๑๒ ที่ให้สิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์รับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในระยะสุดท้ายของชีวิตตน (Living Will) 

ประเทศไทยยังมีสิ่งที่เรียกว่า การวางแผนการดูแลล่วงหน้า (Advance Care Planning : ACP) ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อม ที่จะนำไปสู่การดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) อย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับนโยบายแห่งรัฐที่เกื้อหนุน และโครงสร้างขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นสถานชีวภิบาล หน่วยบริการทุกระดับ กำลังคนด้านสาธารณสุขในระดับพื้นที่ ฯลฯ 

สามารถพูดได้ว่า ระบบนิเวศ (Ecosystem) ของการสร้างเสริมสุขภาวะระยะสุดท้ายของชีวิตของประเทศไทย มีความครบถ้วน นี่เป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนควรรู้ จำเป็นต้องทำความเข้าใจ และหยิบฉวยไปใช้ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนออกเดินทางไกล ไปในสังสารวัฏที่ยังมองไม่เห็นจุดสิ้นสุด

 

--- กฎหมายให้ ‘สิทธิ-อำนาจ’ ในการตัดสินใจ ---

2

 

ในช่วง ‘วาระสุดท้ายของชีวิต’ ร่างกายมนุษย์ย่อมเสื่อมถอยลงทั้งทางกายภาพ และความนึกคิด เมื่อเข้าสู่การรักษาพยาบาลในยามเจ็บป่วย อำนาจการตัดสินใจต่อ ‘ร่างกาย-ชีวิต’ ของผู้ป่วยในช่วงสุดท้าย จึงมักตกอยู่กับคนใกล้ตัว ครอบครัว-ญาติ

แน่นอนว่า ในการตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งๆ ย่อมมีเหตุผลเบื้องหลังการกระทำอยู่ไม่น้อย การชี้ชะตาผู้ป่วย อาจอยู่บนเงื่อนไขของทั้งความรัก ความกตัญญู ไปจนถึงข้อกฎหมาย ผลประโยชน์ ทรัพย์สินเงินทอง มรดก ฯลฯ

ขณะเดียวกัน ในฟากฝั่งของแพทย์ผู้รักษา ย่อมต้องทำอย่างถึงที่สุดเพื่อให้ผู้ป่วยหายจากโรคหรือรอดชีวิต การเจาะคอ ใส่เครื่องช่วยหายใจ หรือการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ ฯลฯ จึงถูกนำออกมาใช้อย่างเต็มอัตรา ถึงแม้ว่าจะมีหลายครั้งที่เทคโนโลยีเหล่านั้นเป็นไปเพียงเพื่อยื้อความตาย ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้ป่วย (Medical Futility) เลยก็ตาม

แต่ถึงอย่างไร เมื่อมีการใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นแล้ว ย่อมมี ‘ราคาที่ต้องจ่าย’ ตามมา โดยเฉพาะการรักษาในช่วงระยะสุดท้ายของชีวิตที่สนนราคาแพงมาก เมื่อเทียบกับการดูแลแบบประคับประคอง เพื่อให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายจากไปอย่างสงบ อย่างมีสุขภาวะที่ดี

ผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (TDRI) ในปี ๒๕๕๙ พบว่า ค่ารักษาพยาบาลในเดือนสุดท้ายก่อนเสียชีวิต ในผู้ป่วยมะเร็งสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า (UC) เฉลี่ยอยู่ที่ราว ๔๕,๐๐๐-๓.๔ แสนบาท แต่หากเป็นการดูแลในเดือนสุดท้ายที่บ้านอย่างมีมาตรฐานที่ผู้ป่วยมั่นใจได้ ทั้งเรื่องอุปกรณ์ที่จำเป็น วัสดุสิ้นเปลือง ค่าตอบแทนและการเดินทางของบุคลากรและผู้ดูแล จะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ราว ๒๗,๐๐๐ บาทเท่านั้น

การรักษาเพื่อยื้อชีวิตผู้ป่วยระยะสุดท้าย นอกจากจะสร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้ป่วยแล้ว ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ตามมายังกลายเป็นภาระให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งครอบครัว ญาติ บุคลากรทางการแพทย์ ระบบบริการสาธารณสุข ตลอดจนประเทศชาติในภาพรวมอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยได้มีการรับรองสิทธิของบุคคลในการตัดสินใจเกี่ยวกับการรับบริการสาธารณสุขเอาไว้ใน พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ โดย “มาตรา ๘” ได้รับรองหลักการของความยินยอมที่ได้รับการบอกกล่าว หรือ Informed consent ที่บุคคลมีสิทธิยอมรับหรือปฏิเสธการรักษาพยาบาลภายใต้คำแนะนำของผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุข และ “มาตรา ๑๒” ได้รับรองสิทธิของประชาชนในการทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย ถือเป็นการให้อำนาจผู้ป่วย ‘ตัดสินใจ’ ตั้งแต่ยังมีสติสัมปชัญญะ ซึ่งจะนำไปสู่การ ‘เตรียมความพร้อม’ ต่อไปด้วย