- 30 views
11 พฤษภาคม 2567 ณ โรงแรมทีเค พาเลซ แจ้งวัฒนะ ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กทม. ศูนย์วิชาการสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อเสริมพลังพลเมืองตื่นรู้ (ศสพ.) จัดเวทีถอดบทเรียน ดำเนินการตามโครงการศึกษาและพัฒนากลไกความร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่ออภิบาลระบบสุขภาพท้องถิ่น ภายใต้บริบทการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด ที่ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)
มีวัตถุประสงค์สำคัญ เพื่อนำเสนอผลการดำเนินงานผลการศึกษาวิจัยและกระบวนการดำเนินงานระดับพื้นที่ ในการวิเคราะห์ สังเคราะห์ถอดบทเรียนนวัตกรรมการอภิบาลระบบสุขภาพท้องถิ่นให้ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในกรณีที่มีการถ่ายโอน รพ.สต. ไปสู่ อบจ. เพื่อรวบรวมชุดองค์ความรู้ขยายผลและรับฟังความคิดเห็นในเวทีสาธารณะกับผู้เกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ร่วมเป็นประธานในการเปิดเวทีดังกล่าว นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา ผู้ทรงคุณวุฒิจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผศ.ดร. จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข นพ. ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ รศ.ดร. วีระศักดิ์ เครือเทพ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าทีมนักวิจัย นายจารึก ไชยรักษ์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท นางสาวปรานอม โอสาร หัวหน้าศูนย์วิชาการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อเสริมพลังพลเมืองตื่นรู้ (ศสพ.) พร้อมด้วยที่ปรึกษา และนักวิจัย (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา) สมัชชาสุขภาพจังหวัด 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ปทุมธานี นครราชสีมา ขอนแก่น สงขลา ภูเก็ต เข้าร่วม
นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่าสถานการณ์โควิด-19 เป็นบทพิสูจน์ศักยภาพการทำงานด้านสุขภาพของท้องถิ่น ดังนั้น ระบบสุขภาพท้องถิ่นข้างหน้าจะเป็นยังไง ผมคิดว่านี่เป็นโจทย์ที่สำคัญมาก ต้องใช้ความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ประกอบกัน เพื่อให้การอภิบาลระบบสุขภาพท้องถิ่นสำเร็จไปได้ด้วยดี ซึ่งการถอดบทเรียนในครั้งนี้เป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้เราได้รู้ถึงปัจจัยต่างๆ ที่จะสร้างความเข้มแข็งของระบบสุขภาพปฐมภูมิที่ไม่ใช่เพียงการรักษาแต่จะมุ่งเน้นการสร้างนำซ่อม ในกรณีการถ่ายโอนภารกิจฯ รพ.สต. ไปสู่ อบจ. รวมถึงความสามารถของพื้นที่ต่อการอภิบาลระบบสุขภาพในท้องถิ่นของตนต่อไป”
รศ.ดร. จรวยพร ศรีศศลักษณ์ กล่าวว่า กรอบแนวคิดระบบบริการสุขภาพท้องถิ่นความท้าทายระบบสุขภาพปฐมภูมิที่จะดำเนินการต่อได้อย่างต่อเนื่องและพัฒนาได้ดียิ่งขึ้นในช่งการเปลี่ยนผ่าน สวรส. และทีมวิจัย จะสร้างองค์ความรู้และขับเคลื่อนการนำองค์ความรู้ที่ได้ผ่านการศึกษาวิจัยมาพัฒนาระบบสุขภาพให้ประชาชนไทยได้รับบริการที่ดีขึ้น สวรส. เห็นบทบาทและความสำคัญของสช. ที่ถือเป็นหน่วยงานนโยบายที่มีความสามารถในการเห็นปัญหาของพื้นที่ในการภิบาลระบบสุขภาพท้องถิ่น ภายใต้บริบทการถ่ายโอน รพ.สต. ไปสู่ อบจ. ดังนั้น 12 นวัตกรรมเชิงระบบทั้ง 12 นวัตกรรม ก่อนและหลังแตกต่างอย่างไร พิสูจน์แล้วสามารถขยายไปยัง 62 จังหวัดอย่างไร การออกแบบโครงสร้างกลไกการอภิบาลระบบและแนวปฏิบัติใหม่ทั้งด้านบริหาร/บริการ โดยเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนของแต่ละพื้นที่ศึกษาอย่างไร
นพ. ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การกระจายอำนาจกรณีถ่ายโอนภารกิจฯ รพ.สต. ไปยัง อบจ. หากพิจารณาบริบท ทรัพยากรทั้งกำลังคน เงิน ไม่ได้เปลี่ยนแปลง เพียงแต่เปลี่ยนสายบังคับบัญชาเท่านั้น ซึ่งไม่อยากให้มองการเปลี่ยนสายบังคับบัญชาเป็นปัญหาอุปสรรคจนเกิดผลกระทบต่อการเข้ารับบริการของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งผมมองว่าจุดยุทธศาสตร์สำคัญการสร้างระบบสุขภาพท้องถิ่น คือ กลไก กสพ. ที่มีองค์ประกอบต่างๆ หลากหลาย ซึ่งงานวิจัยปฏิบัติการครั้งนี้จึงมุ่งเน้นการศึกษาความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างอำนาจหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนทดลองปฏิบัติการสร้างนวัตกรรมการจัดบริการที่ตอบสนองต่อประชาชนในพื้นที่ และจัดทำเป็นข้อเสนอนโยบายต่อไป การทำงานครั้งนี้จึงต้องสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในพื้นที่เชี่ยวชาญด้านการเมืองการปกครอง และสมัชชาสุขภาพจังหวัดที่มีเชี่ยวชาญกระบวนการมีส่วนร่วมด้านสุขภาพ ที่ผนึกกำลังทั้งสองส่วนในแง่วิชาการและกระบวนการหนุนเสริมการทำงานครั้งนี้กับ รพ.สต.ที่ถ่ายโอนไปยัง อบจ. นำร่องทั้ง 6 แห่ง
รศ.ดร. วีระศักดิ์ เครือเทพ กล่าวว่า การวิจัยนี้ทำให้เห็นว่าระบบที่เป็นอยู่ของ รพ.สต. ก่อนการถ่ายโอนมีช่องว่างด้านการให้บริการสุขภาพพอสมควร เมื่อมีการถ่ายโอนให้อิสระจากกรอบแนวคิดตัวแบบกลางแล้วนั้น ทำให้บริบทที่อิสระให้ภาคีต่างๆ ได้คิดเป็นเจ้าของ ออกแบบใหม่ และดำเนินการและเกิดการอุดช่องว่างและเติมเต็มในเชิงคุณภาพบริการมากขึ้น ซึ่งบทเรียนสำคัญของการอภิบาลระบบสุขภาพถิ่น 6 อบจ. 2 อำเภอ 12 รพ.สต. ที่สามารถถอดตัวแบบสำคัญในการยกขีดความสามารถในการอภิบาลสุขภาพของ รพ.สต. หลังถ่ายโอนภารกิจ 3 ตัวแบบ ได้แก่ (1) ตัวแบบเชิงระบบบริหารจัดการ (2) ตัวแบบการพัฒนาระบบปฏิบัติการใหม่ (3)ตัวแบบการพัฒนาเชิงระบบสนับสนุนบริการทางการแพทย์
ซึ่งที่ประชุมในเวทีได้มีการนำเสนอผลการศึกษา นวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากการทดลองปฏิบัติการ และการนำเสนอสถานการณ์นโยบายกรณีการถ่ายโอน รพ.สต. ไปสู่ อบจ. และมีการวิเคราะห์ตัวแบบสำคัญภายในเวที เพื่อนำไปสู่การจัดเวทีสาธารณะใหญ่ช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2567 เพื่อนำเสนอผลการศึกษา ระดมความเห็น และสร้างฉันทมติการขับเคลื่อนการทำงานระบบสุขภาพท้องถิ่น ตั้งเป้าหมายผู้เข้าร่วม 300 - 500 คน ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมาย หน่วยงานเครือข่ายภาคีด้านสุขภาพ สังคม นโยบาย พรรคการเมือง รพ.สต. ทั้งสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและมหาดไทย อบจ. เทศบาล อบต. ทั่วไประเทศต่อไป