ความมั่นคงทางอาหาร มุ่งสร้างสุขภาวะ ฟื้นฟูประเทศหลังวิกฤตโควิด | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
Audio file

สช.ระดมภาคี “สมัชชาสุขภาพจังหวัด” จาก 66 จังหวัด ร่วมเสริมพลังสร้างความเข้มแข็งผ่านกระบวนการนโยบายสาธารณะ ขับเคลื่อนประเด็นด้าน “ความมั่นคงทางอาหาร-เกษตรปลอดภัย” ให้สอดคล้องตามบริบทพื้นที่ เชื่อมโยงยุทธศาสตร์ระดับประเทศ มุ่งสร้างสุขภาวะ-ฟื้นฟูประเทศหลังวิกฤตโควิด
 

ความมั่นคงทางอาหาร


เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2565 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมพลังสร้างความเข้มแข็งนโยบายสาธารณะว่าด้วย “ร่วมสร้างเส้นทางอาหาร ให้มั่นคงและปลอดภัย” โดยเป็นการระดมตัวแทนเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัด รวม 66 จังหวัด เข้ามาร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูล วิเคราะห์ และให้ข้อคิดเห็นต่อแนวทางการผลักดันนโยบายสาธารณะ ในประเด็นด้านความมั่นคงทางอาหาร ที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ และเชื่อมโยงกับทิศทางของนโยบายในระดับชาติ
 

ประทีป ธนกิจเจริญ


นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า กระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะ รวมทั้งกลไกการมีส่วนร่วมต่างๆ เพื่อแสวงหาทางออกร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นสมัชชาสุขภาพ ธรรมนูญสุขภาพ จะเป็นคำตอบที่สำคัญให้กับการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมไปถึงการฟื้นฟูประเทศ อันเป็นภารกิจหลักที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันหลังจากนี้ โดยหนึ่งในประเด็นที่สำคัญนั้นคือด้านความมั่นคงทางอาหาร เกษตรปลอดภัย สารเคมีรวมถึงเกษตรสุขภาพ

สำหรับประเด็นว่าด้วยความมั่นคงทางอาหารและอาหารปลอดภัย เป็นข้อเสนอเชิงนโยบายที่มีมานับตั้งแต่มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งแรกเมื่อปี 2551 เรื่อง “เกษตรและอาหารในยุควิกฤต” ถัดมาในปี 2555 เรื่อง “ความปลอดภัยทางอาหาร การแก้ไขปัญหาจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช” และล่าสุดในปี 2563 เรื่อง “ความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต” ที่สะท้อนถึงปัญหาช่วงโควิด-19 ขณะเดียวกันเรื่องนี้ยังเป็นเป้าหมายการขับเคลื่อนของคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) และสมัชชาสุขภาพจังหวัดอีกหลายพื้นที่
 

ประทีป ธนกิจเจริญ


นพ.ประทีป กล่าวว่า ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา ปัญหาด้านอาหาร ไม่ว่าจะในแง่ความปลอดภัย การกระจาย การเข้าถึงต่างๆ ถูกสะท้อนออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น มติสมัชชาสุขภาพฯ ปี 2563 จึงตั้งเป้าที่จะใช้วิกฤตให้เป็นโอกาสที่เรามาทบทวนในเรื่องของระบบอาหาร ว่าจะทำให้ทุกคนเข้าถึงอย่างเป็นธรรมและมีคุณภาพได้อย่างไร แต่อีกจุดสำคัญมากไปกว่านั้น คือเราจะสามารถใช้เรื่องของอาหารปลอดภัย มาเป็นการเพิ่มมูลค่า ฟื้นฟูเศรษฐกิจของครัวเรือนรวมถึงประเทศได้อย่างไร
 

ประทีป ธนกิจเจริญ


“อย่างเสียงสะท้อนจากบางพื้นที่ บอกว่าการผลิตอาหารปลอดภัยอาจไม่ใช่เรื่องยาก แต่ขอให้มีตลาดรองรับที่ชัดเจน ฉะนั้นจึงอาจมีข้อเสนอเชิงนโยบายไปถึงรัฐบาลรวมถึงท้องถิ่น ให้มีการขยายตลาดอย่างจริงจัง เช่น ให้เป็นอาหารของผู้ป่วยในโรงพยาบาล เป็นอาหารกลางวันของนักเรียน ส่งเสริมตลาดในชุมชน ไปจนถึงการส่งตลาดต่างประเทศ ถ้าเราพุ่งเป้าให้เกิดนโยบายที่ชัดเจน มีหน่วยงานหลักขับเคลื่อนอย่างจริงจัง ก็จะทำให้เราเดินไปสู่เป้าหมายได้” นพ.ประทีป กล่าว

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด  นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า กลไกสมัชชาสุขภาพ นับเป็นกระบวนการทางการเมืองภาคประชาชน ที่ไม่ได้เกี่ยวกับการแย่งชิงอำนาจ แต่เป็นการต่อรองกับภาคนโยบายด้วยข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม ซึ่งที่ผ่านมาสมัชชาสุขภาพก็สามารถทำหน้าที่นี้ได้สำเร็จไปในบางส่วน เช่นเดียวกับเรื่องของความมั่นคงทางอาหาร ที่มาจนถึงปัจจุบันสามารถสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปแล้วมากมาย แต่ก็ยังมีประเด็นอีกจำนวนไม่น้อยที่ต้องทำต่อ
 

เดชรัต สุขกำเนิด


ดร.เดชรัต กล่าวว่า แม้เราจะเชื่อว่าประเทศไทยเป็นผู้นำด้านอาหาร มีการผลิตอาหารมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่ก็ยังสามารถเกิดความไม่มั่นคงทางอาหารขึ้นได้ โดยเฉพาะในภาวะวิกฤตซ้ำหลายระลอกที่เราเผชิญ ตั้งแต่โควิด-19 มาจนถึงสถานการณ์เงินเฟ้อ และราคาอาหารที่ดีดตัวสูงขึ้นในขณะนี้ ทำให้คนเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพได้ยากขึ้น ซึ่งในประเทศไทยพบว่าคนต้องจ่ายเงินมากขึ้นถึง 4.8 เท่า เพื่อที่จะสามารถซื้อหาอาหารที่ดีต่อสุขภาพได้
 

ความมั่นคงทางอาหาร


“การเข้าไม่ถึงอาหารในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่าเราจะมีคนอดอยาก ไม่มีอะไรกิน เราคงไม่ได้ถึงขั้นนั้น แต่เป็นในแง่ความมั่นคงทางอาหารตามแนวคิดของ FAO ที่แบ่งการเข้าถึงอาหารเป็น 3 ระดับ ตั้งแต่ระดับแรกคือให้มีพลังงานเพียงพอ ถัดขึ้นมาคือให้มีสารอาหารเพียงพอ และปัจจุบันที่จะต้องขึ้นไปสู่ขั้นของอาหารที่ดีต่อสุขภาพ คือได้รับอาหารที่มีความหลากหลายทางโภชนาการ แต่การจะเข้าถึงอาหารได้ในแต่ละขั้น ก็ต้องใช้เงินมากขึ้นตามไปด้วย ฉะนั้นราคาอาหารที่เพิ่มขึ้น ก็จะจำกัดทางเลือกในการเข้าถึงอาหารที่มีผลดีต่อสุขภาพ” ดร.เดชรัต กล่าว
 

เดชรัต สุขกำเนิด


ดร.เดชรัต กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าราคาอาหารจะขยับตัวแพงขึ้น แต่ตัวเกษตรกรเองกลับไม่ได้เงินเพิ่มตามสัดส่วนที่มากขึ้นนั้นไปด้วย ฉะนั้นในอีกแง่หนึ่งเกษตรกรไทยเองก็จะต้องมีทางเลือกที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต เปลี่ยนจากตลาดโภคภัณฑ์ หรือตลาดดั้งเดิมที่ได้ราคาต่อหน่วยต่ำ มาเป็นการเจาะตลาดท้องถิ่น หรือตลาดเฉพาะคุณภาพสูง ที่ได้ราคาต่อหน่วยสูงแทน” ดร.เดชรัต กล่าว

ด้าน ผศ.ดร.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สำหรับการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายที่ดี คือจะต้องมีความสอดคล้องกับปัญหา สาเหตุ กลุ่มเป้าหมาย ตลอดจนผู้มีอำนาจตัดสินใจทางนโยบาย โดยการอธิบายให้ชัดเจน เข้าใจง่าย กำหนดบทบาทผู้ที่ต้องการให้ดำเนินการ โดยเฉพาะการอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงและปฏิบัติได้ รวมมีความกระชับและไม่มีข้อเสนอแนะมากเกินไป
 

วีระศักดิ์ พุทธาศรี


อนึ่ง ภายในเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ ตัวแทนจากภาคีสมัชชาสุขภาพทั้ง 66 จังหวัด ยังได้ร่วมในกระบวนการกลุ่มเพื่อเตรียมตัวในการจัดทำข้อเสนอ เรียนรู้วิธีการเขียนข้อเสนอเชิงนโยบาย (Policy Brief) ปฏิญญา ถ้อยแถลงต่างๆ เพื่อเสริมพลังสร้างความเข้มแข็งนโยบายสาธารณะ ในการที่จะร่วมสร้างเส้นทางอาหารให้มั่นคงและปลอดภัย
 

ความมั่นคงทางอาหาร

 

ความมั่นคงทางอาหาร


 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม:

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สช.

โทร. 02-8329141

 

รูปภาพ
ความมั่นคงทางอาหาร