ภาคีเครือข่าย จ.นครสวรรค์ ร่วมสะท้อนมุมมองฐานทุน-โอกาสการพัฒนาจังหวัด “กก.สุขภาพแห่งชาติ” หวังไต่อันดับการพัฒนาที่ยั่งยืนขึ้นจากที่ 44 เหลือเลขตัวเดียว เหตุมีกลไก ‘ภาคีอาสา’ 9 หน่วยงาน ร่วมสานพลัง หนุนเสริมสร้างพื้นที่กลางให้ภาคประชาชนเข้ามามีบทบาทเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา ด้าน นพ.สสจ. หวังเพิ่มอายุคาดเฉลี่ยประชากรอีก 10 ปี ด้วยการแก้ปัญหาอุบัติเหตุ ขณะที่ “รองประธานหอการค้าจังหวัด” แนะ ลำดับความสำคัญปัญหา แบ่งบทบาทให้ชัด จัดงบประมาณให้พอ
เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2568 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พร้อมด้วยหน่วยงานภาคียุทธศาสตร์รวม 9 หน่วยงาน ที่รวมตัวกันในนาม “ภาคีอาสา” (Area Strengthening Alliance - ASA) ร่วมกันจัดเวที Kick off เชื่อมประสานความร่วมมือกลไกการพัฒนาจังหวัดนครสวรรค์ สานพลังภาคีอาสา สร้างจังหวัดเข้มแข็ง “นครสวรรค์: สวรรค์ของคนทุกคน” โดยในงานได้มีการเสวนามุมมอง : ฐานทุน จังหวะและโอกาสในการพัฒนา “นครสวรรค์เพื่อ สร้างสวรรค์ของทุกคน” ที่ชักชวนผู้ที่มีบทบาทต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวนครสวรรค์ มาร่วมพูดคุย
สำหรับ 9 หน่วยงานที่รวมตัวกันในนาม “ภาคีอาสา” ประกอบด้วย สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)
ดร.วิสุทธิ บุญญะโสภิต กรรมการสุขภาพแห่งชาติ และสมัชชาสุขภาพจังหวัดนครสวรรค์ เปิดเผยว่า หนึ่งในข้อมูลที่อาจบอกสถานะของคนนครสวรรค์ได้ คือข้อมูลด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ทางสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ได้มีการประเมิน จ.นครสวรรค์ เอาไว้เมื่อปี 2563 อยู่ในลำดับที่ 44 จาก 77 จังหวัดทั่วประเทศ โดยมีตัวเลขสถิติ เช่น มีประชาชนอยู่ใต้เส้นความยากจนราว 6% เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ประมาณ 74% ครัวเรือนเข้าถึงน้ำประปาเพียง 15% มีผลิตภาพแรงงานอยู่ที่ 1.13 แสนบาทต่อคน เป็นต้น
สำหรับโจทย์ในการพัฒนาคือต้องทำให้อันดับกลายมาเป็นเลขตัวเดียวให้ได้ ซึ่ง จ.นครสวรรค์ ได้มีการวางหน้าตาอนาคตไว้ในยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด ปี 2570 มุ่งเน้นใน 4 มิติ คือ ด้านสิ่งแวดล้อม การเกษตร การท่องเที่ยว และสุขภาพ มีการเชื่อมโยงบูรณาการกับกลไกในหลายระดับ เช่น สมัชชาสุขภาพจังหวัด ธรรมนูญอำเภอ พชอ. ธรรมนูญชุมชน ฯลฯ ตลอดจนการเข้าถึงกองทุนที่มีอยู่ในระดับต่างๆ
“ทิศทางที่น่าจะเป็นทางออกและเป็นเป้าหมายร่วมของเรา ใช้สโลแกนว่า นครสวรรค์ สวรรค์ของคนทุกคน ซึ่งเราตีความหมายใน 3 ประการ ประการแรกคือคนนครสวรรค์ ต้องได้อยู่สวรรค์เหมือนกันไม่เหลื่อมล้ำ ถัดมาคนที่เข้ามาเยือน มาเที่ยว ก็ต้องได้ขึ้นสวรรค์ มาเจอบ้านเมืองสะอาด ยิ้มต้อนรับ สุดท้ายคือเราทำคนเดียวไม่ได้ แต่เป็น Heaven For All, All For Heaven คือคนนครสวรรค์ต้องเข้ามามีส่วนร่วมด้วย” ดร.วิสุทธิ กล่าว
ดร.วิสุทธิ กล่าวอีกว่า สิ่งหนึ่งที่อยากเรียกร้องไปยังหน่วยงานต่างๆ คือการเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนได้เข้ามาร่วมเป็นหุ้นส่วนของการพัฒนา โดยอยากผลักดันให้เกิดสภาพลเมืองคนนครสวรรค์ เพื่อร่วมคิด ร่วมชี้เป้า ชี้ทิศทางว่านครสวรรค์ควรไปทางไหน รวมถึงเป็นกลไกที่ร่วมตรวจสอบธรรมาภิบาล การใช้อำนาจรัฐ ซึ่งการคิกออฟในวันนี้นับเป็นจุดเริ่มต้น ที่เครือข่ายใน จ.นครสวรรค์ จะร่วมกับภาคีอาสา 9 หน่วยงาน มาร่วมกันออกแบบทิศทางเป้าหมายผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า “ธรรมนูญพัฒนาจังหวัดนครสวรรค์ที่ยั่งยืน”
“ธรรมนูญฯ นี้จะเป็นการเปิดพื้นที่กลางให้ทุกคนเข้ามา ใครมีทุกข์ ใครมีทุน เข้ามาจับมือร่วมกันทำ เราจะเคยเห็นว่าการบริหารโครงการในหลายพื้นที่ยังมองเป็น Project Based ไม่ได้ใช้โอกาสที่แหล่งทุนเข้ามา มาใช้เป็นโอกาสในการพัฒนา ทำให้พื้นที่จำนวนมากที่เคยได้รับการสนับสนุน มีหลงเหลือให้เห็นเป็นพื้นที่รูปธรรมอยู่ไม่กี่แห่ง ฉะนั้นนี่อาจเป็นเสียงสะท้อนว่าบางครั้งองค์กรภายนอกก็ต้องให้เวลากับกระบวนการพัฒนาด้วย” ดร.วิสุทธิ กล่าว
นพ.จักราวุธ จุฑาสงฆ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครสวรรค์ (นพ.สสจ.นครสวรรค์) กล่าวว่า ในแผนพัฒนา จ.นครสวรรค์ มีการระบุถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนทุกช่วงวัย ตั้งแต่ครรภ์มารดาจนถึงเชิงตะกอน และจุดเด่นของ จ.นครสวรรค์ คือการดูแลคุณภาพชีวิตเด็กวัยเรียน ครอบคลุมไปจนถึงการคัดกรองทางจิตเวช ส่งเสริมการพัฒนาทักษะความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งปัจจุบันยังมีการนำธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษา เข้ามาร่วมออกแบบในเชิงระบบ
สำหรับทุนทางสังคมของ จ.นครสวรรค์ ที่สำคัญคือกลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ที่มีการขับเคลื่อนอยู่ในทุกอำเภอ ทำหน้าที่ขับเคลื่อนทั้งมิติสุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม การศึกษา ฯลฯ ตามความต้องการของพื้นที่ รวมถึงอีกทุนทางสังคมคือโอกาสทางสุขภาพที่เกิดขึ้นจากการถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปสู่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ซึ่งทำให้ รพ.สต. สามารถคิดและทำอะไรได้มากขึ้นกว่าเดิม
นพ.จักราวุธ กล่าวว่า หนึ่งในตัวชี้วัดของการมีสุขภาพดี คือการวัดอายุคาดเฉลี่ย ซึ่งประเทศพัฒนาแล้วประชาชนจะมีอายุคาดเฉลี่ยอยู่ที่ 80 ปีขึ้นไป ส่วนของ จ.นครสวรรค์ อยู่ที่ราว 70 ปี ถือเป็นตัวเลขที่เราจะต้องช่วยกันพัฒนาขึ้น โดยไปแก้ที่ปัจจัยสำคัญของสาเหตุการตาย เช่น อุบัติเหตุ สิ่งหนึ่งที่พยายามผลักดันแต่ยังไม่สำเร็จ คือการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทุกแห่งมีหน่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ที่มีรถฉุกเฉินสามารถให้การส่งต่อผู้ป่วย
“โอกาสของการพัฒนาต่อจากนี้ คือการมีพื้นที่กลางและทุนจากภาคีอาสา 9 หน่วยงานที่เข้ามา แต่วิธีการทำให้เกิดจะทำอย่างไร ส่วนตัวเชื่อว่าแนวทางหนึ่งที่ทำได้ตามทฤษฎีอมตะของ ศ. นพ.ประเวศ วะสี คือการทำงานโดยชุมชน โดยการมีส่วนร่วมจากระดับพื้นที่ ที่สามารถวิเคราะห์ปัญหาของตนเองได้โดยใช้ข้อมูลที่มีอยู่ และหน่วยงานต่างๆ พร้อมเข้าไปให้ความช่วยเหลือ ตรงนี้จะช่วยให้เราขับเคลื่อนงาน โดยมีพื้นที่กลางที่เป็นประโยชน์และใช้ได้จริง” นพ.สสจ.นครสวรรค์ กล่าว
ด้าน นายประพนธ์ อุดมทอง รองประธานหอการค้าจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า เครือข่ายภาคประชาสังคมใน จ.นครสวรรค์ มีอยู่มากมายและดำเนินงานกันมานาน แต่คำถามที่น่าคิดในวันนี้คือ เราเคยมีการวิเคราะห์หรือไม่ว่าการขับเคลื่อนที่ผ่านมาได้ผลสัมฤทธิ์มากน้อยเพียงไร มีข้อติดขัดประการใด หรือภาคีเครือข่ายของเรามีปัญหาอะไร มีรายได้เพียงพอหรือไม่ในการที่จะเข้ามาทำงานให้ชุมชน ดังนั้นสิ่งสำคัญจึงเป็นการกลับเข้ามามองกันภายใน มีอะไรเป็นปัญหาต้องแก้ไข ก่อนที่จะไปช่วยเหลือคนอื่น
ในส่วนการเข้ามาของ 9 หน่วยงานภาคีอาสานั้น ส่วนตัวเห็นด้วยอย่างยิ่ง เนื่องจากที่ผ่านมามักมีภาพของการทำงานที่กระจัดกระจาย ต่างคนต่างทำ หรือข้อมูลไม่เคยได้ถูกนำเอามารวมกัน ดังนั้นสิ่งสำคัญคือการที่จะมา Synergy ร่วมกันให้มีพลัง ซึ่งภายหลังมีการรวมเครือข่ายกันแบบนี้แล้ว ก็ควรที่จะเข้ามาวางแผนการขับเคลื่อนร่วมกัน รวบรวมข้อมูลเข้ามา แล้วตกลงกันว่าเราจะทำอย่างไร จัดลำดับความสำคัญของปัญหา แล้วจึงจัดงบประมาณลงไปทำ
“ปัญหาของประชาชนในขณะนี้ ส่วนใหญ่คือปัญหาเรื่องปากท้อง การเป็นหนี้สิน ซึ่งความเจ็บ จน เครียด ก็จะนำพาไปสู่ปัญหาทางจิตเวช ปัจจุบัน จ.นครสวรรค์ มีผู้ป่วยจิตเวชอาการสีแดงที่ไม่ได้รับการรักษาเป็นร้อยคน พอชุมชนเครียดมากขึ้น ยาบ้าก็เข้ามาระบาดมากขึ้น คนจนก็ยิ่งมีมากขึ้น หนี้สินก็เพิ่มขึ้น หากแก้ปัญหาให้ตรงจุด ทำอย่างไรเราจะเพิ่มรายได้ให้เขา ส่วนปัญหาที่มีอยู่แล้วอย่างยาเสพติด จิตเวช จะทำอย่างไร พวกนี้คือประเด็นสุขภาวะที่เราจะต้องร่วมกันจัดการ” นายประพนธ์ กล่าว
นายประพนธ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราคุ้นเคยกับคำว่าบูรณาการ คือจะเอาทุกหน่วยงานเข้ามาทำงานด้วยกัน แต่พอถึงเวลาจริงค่อนข้างยาก เพราะแต่ละหน่วยงานมักจะมีอัตลักษณ์ วัฒนธรรมของตัวเอง ที่บางครั้งผสานกันไม่ได้ เมื่อมาถึงการขับเคลื่อนงานร่วมกันในครั้งนี้ จึงอยากให้มีการตกลงร่วมกันก่อนว่าใครทำอะไรได้ ใครมีข้อจำกัดอะไร คุยกันให้จบแล้วค่อยมาทำงานร่วมกัน อาจตั้งเป็นคณะกรรมการ หรือกองทุนอะไรขึ้นมาร่วมกัน โดยมีชุมชนท้องถิ่นเข้ามาเกี่ยวข้องในการจัดการ” นายประพนธ์ กล่าว