‘นครสวรรค์’ ผนึก 9 หน่วยงานระดับชาติ ปั้นต้นแบบ ‘จังหวัดเข้มแข็ง’ ใช้ทรัพยากรแบบข้ามองค์กร


VIEW: 57   SHARE: 0    
เผยแพร่โดย: 
by
 กลุ่มงานสื่อสารสังคม

 

 

นครสวรรค์ คิกออฟสานพลัง ภาคีอาสาสร้างจังหวดเข้มแข็ง ผนึกแนวร่วม 9 หน่วยงานระดับชาติ บูรณาการฐานทุน-ทรัพยากรตอบโจทย์ความต้องการของพื้นที่ หวังเป็นต้นแบบขยายสู่พื้นที่อื่น พร้อมเดินหน้าใช้ ธรรมนูญพัฒนาจังหวัดนครสวรรค์ที่ยั่งยืน” กำหนดทิศทางการทำงาน-เป้าหมายการพัฒนาร่วมกัน

เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2568 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พร้อมด้วยหน่วยงานภาคียุทธศาสตร์รวม 9 หน่วยงาน ที่รวมตัวกันในนาม “ภาคีอาสา” (Area Strengthening Alliance - ASA) ร่วมกันจัดเวที Kick off เชื่อมประสานความร่วมมือกลไกการพัฒนาจังหวัดนครสวรรค์ สานพลังภาคีอาสา สร้างจังหวัดเข้มแข็ง “นครสวรรค์: สวรรค์ของคนทุกคน” ณ โรงแรมแกรนด์ฮิลล์ รีสอร์ท แอนด์ สปา จ.นครสวรรค์ โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 150 คน

สำหรับเวทีดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจและกำหนดแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่าง 9 หน่วยงานภาคีอาสา ประกอบด้วย สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ภายใต้เป้าหมายที่จะพัฒนาให้ จ.นครสวรรค์ เป็นจังหวัดเข้มแข็ง โดยใช้กระบวนการสมัชชาสุขภาพแสวงหาข้อตกลงในการกำหนดทิศทางและแนวทางการดำเนินงานร่วมกัน

 

นายบดินทร์ เกษมศานติ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ เปิดเผยว่า แม้ภายในจังหวัดจะมีการจับมือร่วมกันระหว่างภาคีเครือข่ายต่างๆ ในการทำงานอยู่แล้ว แต่การมีหน่วยงานภายนอกเข้ามาหนุนเสริมจะยิ่งทำให้กลไกการขับเคลื่อนของจังหวัดมีความเข้มแข็งมากขึ้น และการเห็นเป้าหมายจากสายตาภายนอกจะช่วยให้มองมิติต่างๆ ได้ครบถ้วนสมบูรณ์ขึ้น จึงขอขอบคุณและชื่นชมภาคีอาสาทั้ง 9 หน่วยงาน ที่เข้ามาเป็นกำลังหลักร่วมกับทางจังหวัดในการขับเคลื่อน จ.นครสวรรค์ ให้เข้มแข็ง

เวที Kick off ในวันนี้ทุกภาคส่วนจะเข้ามาร่วมกันวิเคราะห์สังเคราะห์ นำเอาข้อมูลข้อเท็จจริง ทุนทางสังคม สภาพปัญหา และความต้องการต่างๆ มาพูดคุยกันให้สะเด็ดน้ำ แล้วจึงกำหนดทิศทางที่เราจะพัฒนาไปร่วมกันและเกิดการขับเคลื่อนลงสู่พื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม ทำให้นครสวรรค์เป็นจังหวัดที่เข้มแข็งและเป็นโมเดลที่นำไปสู่การขับเคลื่อนพื้นที่ต่างๆ ได้ต่อไป” นายบดินทร์ กล่าว

 

นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การทำงานในลักษณะข้ามพรมแดนถือเป็นโอกาสใหม่ของการพัฒนา ซึ่งภาคีอาสาทั้ง 9 หน่วยงานต่างก็มีวัตถุประสงค์และจุดเน้นของการขับเคลื่อน การรวมตัวกันจึงถือเป็นโอกาสที่ดีในการใช้ศักยภาพของแต่ละหน่วยงาน ในส่วนที่เหมือนกันก็จะเข้ามาเสริมหนุนซึ่งกันและกัน ส่วนที่มีความต่างก็จะเป็นการเพิ่มโอกาสให้การทำงานมีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดย จ.นครสวรรค์ จะเป็น 1 ใน 5 จังหวัดเป้าหมายแรกของปี 2568 ก่อนที่จะมีการขยายเพิ่มจนครบทั้งประเทศต่อไป

ทั้งนี้ ภายในงานยังมีกิจกรรม เสียงสะท้อนจากคนนครสวรรค์ ซึ่งเป็นเวทีที่ผู้แทนเครือข่ายภาคประชาชนภายใน จ.นครสวรรค์ ได้เข้ามาร่วมกันสะท้อนให้เห็นถึงฐานทุนและประเด็นที่ต้องการพัฒนาของ จ.นครสวรรค์ ตัวอย่างเช่น ปัญหาด้านที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน ผลกระทบจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ปัญหาในด้านสุขภาวะจากสังคมสูงวัย ยาเสพติด ความเหลื่อมล้ำ ฯลฯ และเวทีเสวนามุมมอง: ฐานทุน จังหวะและโอกาสในการพัฒนา “นครสวรรค์เพื่อสร้างสวรรค์ของทุกคน” ซึ่งมีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครสวรรค์ และรองประธานหอการค้าจังหวัดนครสวรรค์ เข้าร่วมกันให้มุมมองโอกาสและความท้าทาย ทั้งในมิติของภาคเศรษฐกิจ รวมถึงภาคสุขภาพ

นอกจากนี้ ในช่วงท้ายมีการพิจารณา (ร่าง) ธรรมนูญพัฒนาจังหวัดนครสวรรค์ที่ยั่งยืน ผ่านกระบวนการสมัชชาสุขภาพ ซึ่งมี ดร.ไพสิฐ พาณิชย์กุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นประธาน โดยความคิดเห็นและข้อเสนอต่างๆ จะถูกรวบรวมไปพัฒนา (ร่าง) ธรรมนูญฯ ให้มีความสมบูรณ์ ก่อนนำมาใช้เป็นกรอบการทำงานใน จ.นครสวรรค์ และเป็นกติการ่วมกันในการพัฒนาจังหวัดไปสู่การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนต่อไป

 

ดร.วิสุทธิ บุญญะโสภิต กรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า กระบวนการขับเคลื่อนของภาคประชาสังคม จ.นครสวรรค์ มีการดำเนินมาตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี เริ่มตั้งแต่การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ขยับไปสู่การขับเคลื่อนเชิงนโยบาย แก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง จนถึงปัจจุบันซึ่งเป็นยุคของการสร้างความร่วมมือที่เป็นระบบ และการมีส่วนร่วมและเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา ซึ่งการร่วมกันพิจารณาธรรมนูญฯ เพื่อใช้เป็นกรอบการทำงานของทุกฝ่ายจะช่วยพัฒนาจังหวัดให้ดีขึ้นอย่างแน่นอน

อนึ่ง เครือข่าย “ภาคีอาสา” หรือคณะกรรมการภาคีสานพลังพื้นที่เข้มแข็ง (ภสพ.) ถูกจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2567 โดยปัจจุบันประกอบด้วย 9 หน่วยงานภาคียุทธศาสตร์ ซึ่งให้ฉันทมติร่วมกันในการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานรัฐ ท้องถิ่น ประชาสังคม และชุมชน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ทรงพลัง โดยลดความซ้ำซ้อนของงบประมาณ แก้ปัญหาการกระจายทรัพยากรที่ไม่สมดุล พร้อมมุ่งตอบสนองต่อปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของพื้นที่ โดยปี 2568 ได้เริ่มต้นนำร่องใน 5 จังหวัดที่มีหน่วยงานเจ้าภาพหลักดูแล ได้แก่ เชียงราย (สปสช.) นครสวรรค์ (สช.) ขอนแก่น (สสส.) ตราด (นิด้า) พัทลุง (พอช.)

 

NHCO Q&A