เปิดศูนย์ ‘EOC’ ภายใน 30 นาที 


VIEW: 50   SHARE: 0    

 
 
 
แผ่นดินไหวที่สะเทือนกรุงเทพมหานคร (กทม.) เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2568 ไม่เพียงแต่จะเป็นเหตุการณ์ที่มีตัวเลขขนาดความรุนแรงสูงที่สุดในรอบเกือบ 1 ศตวรรษเท่านั้น หากแต่ยังสร้างความเขย่าขวัญด้วยภาพของตึกสูงระฟ้าที่พังทลายลงภายในชั่วพริบตา และก่อผลพวงตามมาเป็นโศกนาฏกรรมที่ยังคงต้องมีการศึกษาและถอดบทเรียนต่อเนื่องร่วมกันไปอีกเป็นระยะเวลานาน
 
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความสับสนอลหม่านที่เกิดขึ้นในจิตใจของใครหลายคนนั้น สิ่งหนึ่งที่ควรค่าแก่การเรียนรู้คือแนวทางในการบริหารและรับมือกับสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น ซึ่งประสบการณ์อันเปี่ยมคุณค่าได้ถูกถ่ายทอดออกมาโดยตรงจากผู้บริหารนักจัดการภัยพิบัติเลื่องชื่อของ กทม. ในเวลานี้ อย่าง รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการ กทม.
 
กทม. เปิดศูนย์ ‘EOC’ ภายใน 30 นาที 
เธอเล่าย้อนภาพเบื้องหลัง ณ วินาทีเกิดเหตุในช่วงเวลาราว 13.20 น. ซึ่งนับเป็นความพอเหมาะพอดีที่ตัวของเธอและผู้ว่าราชการ กทม. ต่างอยู่ด้วยกันที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) ซึ่งหลังผ่านพ้นความชุลมุนของการอพยพผู้คนออกจากอาคารในช่วงประมาณ 10 นาทีแรกไปแล้วนั้น ก็เริ่มมีรายงานถึงสถานการณ์ความเสียหายที่เกิดขึ้นทั่วพื้นที่ กทม. เข้ามา หนึ่งในนั้นคือโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ความสูง 30 ชั้น ซึ่งพังทลายลงทั้งอาคาร
 
เมื่อตระหนักว่าเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นนี้ ไม่ได้มีผลกระทบเพียงแค่การสั่นไหวเท่านั้น ดำริของผู้ว่าราชการ กทม. จึงมีการสั่งให้ตั้ง ‘ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน’ หรือ ‘EOC’ ขึ้นทันที ภายในพื้นที่ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการ กทม. ซึ่ง อ.ทวิดา ยังได้เล่าถึงเกร็ดเบื้องหลังในช่วงจังหวะของแผ่นดินไหวนี้ด้วยว่า เกิดขึ้นในขณะที่ผู้บริจาคโลหิตรายสุดท้ายของกิจกรรมช่วงเช้ากำลังอยู่บนเตียง และการตั้งศูนย์ EOC ก็ได้ขนอุปกรณ์เข้าไปจัดสถานที่ สวนทางกับทีมบุคลากรการแพทย์ที่เร่งเข็นเตียงบริจาคโลหิตออกจากห้องไปในเวลาเดียวกัน
 
อ.ทวิดา ชี้ว่าต้องขอบคุณเทคโนโลยียุคนี้ ที่ทำให้เราชินกับการใช้ระบบสื่อสารทางไกล การมีระบบกล้องวงจรปิด (CCTV) ต่างๆ ซึ่งช่วยให้การบัญชาการเหตุการณ์ทำได้ง่ายมากขึ้น และสามารถเปิด EOC ได้หลังเกิดเหตุการณ์ภายในครึ่งชั่วโมง หรือตั้งแต่เวลาไม่ถึง 14.00 น. โดยมีการแบ่ง EOC ออกเป็น 3 พื้นที่ คือ ในจุดเกิดเหตุอาคาร สตง., ในศาลาว่าการ กทม. และการเชื่อมสัญญาณจากผู้อำนวยการเขต ทั้ง 50 เขตของ กทม. ที่รายงานสถานการณ์เข้ามาจากพื้นที่ของตนเอง
 
สำหรับพื้นที่แต่ละเขตนั้น ทางผู้อำนวยการเขตจะได้รับสั่งการให้ตรวจสอบพื้นที่ใน 2 ลักษณะ คือ 1. จากกรณีของประชาชนที่ร้องเรียน หรือโทรแจ้งเข้ามาผ่านสายด่วน 191, 199 หรือทราฟฟี่ฟองดูว์
2. ตรวจสอบโดยการประเมินความเสียหาย ด้วยการให้ผังเมืองสำรวจดูว่ามีเครน นั่งร้าน ไซต์งานก่อสร้าง ฯลฯ อยู่ที่จุดใดบ้างเพื่อติดตามความเสียหาย
 
รองผู้ว่าราชการ กทม. เล่าต่อถึงส่วนที่หลายคนอาจไม่ได้นึกถึง นั่นคือการติดตามโรงพยาบาลในสังกัดและในกำกับของ กทม. รวม 12 แห่ง และศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) อีก 69 แห่งทั่ว กทม. โดยให้น้ำหนักความสนใจมุ่งไปที่โรงพยาบาลมากกว่า ศบส. เนื่องจากขณะเกิดเหตุที่เป็นช่วงเวลาบ่ายนั้น ส่วนใหญ่แล้วทางเจ้าหน้าที่ ศบส. จะออกชุมชน จึงไม่ค่อยมีผู้ป่วยรอรับการตรวจอยู่ภายในศูนย์ฯ เท่าไรนัก ขณะเดียวกันอาคารของ ศบส. ส่วนใหญ่ก็สูงเพียง 2-3 ชั้น หรือไม่เกิน 6 ชั้นเท่านั้น
 
ดังนั้นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ของ กทม. ที่มีความสูงได้ถึง 18-20 ชั้น จึงเป็นส่วนที่ถูกให้ความสำคัญ เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวที่บุคลากรต่างวุ่นวายอยู่กับการอพยพผู้ป่วยนั้น ยังไม่มีใครทราบว่าโรงพยาบาลต่างๆ มีความเสียหายหรือรอยแตกร้าวมากน้อยเพียงใด ในฐานะรองผู้ว่าราชการ กทม. ที่ดูแลงานด้านสาธารณสุขโดยตรง อ.ทวิดา จึงสั่งการให้ผู้อำนวยการทุกโรงพยาบาลรายงานสถานการณ์เข้ามาทันที
 
 
 
“เรามีกลุ่มที่เอาไว้พูดคุยกันเองอยู่แล้วในการทำงานปกติ อาจารย์ก็จะส่งข้อความไปถึงทุกโรงพยาบาลเลยว่าให้รายงานอะไรบ้างเป็นข้อๆ ซึ่งก็ไม่ให้เยอะ เอาแค่ 5 ข้อก่อน เช่น โรงพยาบาลเสียหายไหม อพยพคนไข้ไหม คนไข้วิกฤตเป็นอย่างไร อยู่ตรงไหนกัน ต้องส่งต่อหรือไม่ ส่วนผู้อำนวยการเขตก็จะให้รายงานลักษณะเดียวกัน เช่น ให้คอนเฟิร์มพื้นที่ว่ามีรายงานความเสียหายใหญ่ไหม มีประชาชนบาดเจ็บไหม ฯลฯ อันนี้เป็นสิ่งที่ให้รายงานในช่วง 1 ชั่วโมงแรก” อ.ทวิดา ระบุ
 
ต่อมาในช่วงเวลาประมาณ 15.00 น. ภายหลังประเมินสถานการณ์แล้วทางผู้ว่าราชการ กทม. จึงประกาศให้ กทม. เป็นเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย ระดับ 2 เพื่อใช้อำนาจตามกฎหมาย และเริ่มดำเนินการในพื้นที่ปฏิบัติการสำคัญ ไม่ว่าจะกรณีของอาคาร สตง. ที่เขตจตุจักร หรือกรณีเครนถล่มที่เขตดินแดง เป็นต้น
 
 
ระดมสรรพกำลัง ‘ค้นหา-กู้ภัย’ อาคารถล่ม
สำหรับความเสียหายหนักที่สุดในจุดของอาคาร สตง. ถล่มบริเวณเขตจตุจักร เธอระบุว่า นอกจากจะมีเจ้าหน้าที่ของสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. ที่พุ่งตัวเข้าไปในจุดเกิดเหตุทันทีแล้ว ยังมี ‘ทีมค้นหาและกู้ภัยในเขตเมือง’ หรือ ‘USAR’ ซึ่ง กทม. มีอยู่ราว 180 ราย ที่ถูกฝึกมาให้กู้ภัยในลักษณะของเหตุอาคารถล่มในเขตเมืองโดยตรง ร่วมกับทีมสุนัข K9 ที่เคยถูกส่งตัวไปร่วมภารกิจในต่างประเทศมาแล้ว
 
อ.ทวิดา เล่าว่า นอกจากนั้นแล้วยังมีทีมของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ที่ตามเข้ามาสมทบ รวมไปถึงทางวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยที่เข้ามาร่วมประกบ เพื่อประเมินสถานการณ์หน้างานว่ามีความมั่นคงเพียงพอที่จะเข้าไปปฏิบัติภารกิจได้แล้วหรือไม่ ขณะเดียวกันตามกฎหมายแล้วทางผู้อำนวยการเขตจตุจักร ก็จะเป็นผู้ที่เข้ามาทำการควบคุมพื้นที่ด้วย
 
“หลังจากที่เคลียพื้นที่แล้ว เราก็เริ่มขอให้มีการรายงานตัว ซึ่งเรื่องนี้สำคัญมาก เพราะลองนึกดูว่าอาคารมี 30 ชั้น แล้วมันถล่มลงมาทั้งหมด ถ้าหากคนที่อยู่บนนั้นลงมาทานข้าวเที่ยงกัน แล้วเหลืออยู่เพียง 2-3 คน เราก็จะตัดสินใจปฏิบัติการแบบหนึ่ง แล้วเราอาจรู้ด้วยว่าเขาอยู่ชั้นไหน วิศวกรก็จะคำนวณว่าชั้นนี้เป็นแบบไหน คนอยู่อย่างไร แล้วหน้างานจะเข้าถึงซากนี้อย่างไร แต่เมื่อเราพบว่ามีคนอยู่ข้างในเป็นร้อย ก็จะเท่ากับว่ายุ่งยากขึ้นมาแล้ว จึงกลายเป็นสถานการณ์ความยากอย่างที่เราเห็น” อ.ทวิดา เล่า
 
เธออธิบายว่า ในช่วงแรกจำนวนตัวเลขยอดผู้ประสบภัยเองก็ยังมีความสับสน เพราะนับตั้งแต่แรงงานทั้งหมดที่มีรวมกว่า 400 คน หลังจากนั้นผู้คุมงานก่อสร้างและเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงค่อยมาช่วยกันระบุตัวตน จนกระทั่งยืนยันออกมาเป็นตัวเลขผู้เข้าทำงาน รวม 96 ราย (วันที่ 29 มี.ค. 2568) และภายหลังจากนั้นก็จะมีเพื่อนฝูงหรือญาติพี่น้องของผู้ประสบภัยที่ทยอยเข้ามายืนยันอีกครั้ง จนพิสูจน์ชื่อได้ 85 ราย ซึ่งส่วนต่าง 11 รายที่ยังไม่ทราบชื่อนี้ มีความเป็นไปได้ที่อาจจะเป็นคนทำงานกลุ่มเดียวกัน รับงานทำอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่งโดยเฉพาะ ไม่มีเพื่อนกลุ่มอื่น จึงไม่มีใครออกมาระบุว่ามีคนกลุ่มนี้อยู่
 
ขณะเดียวกันเมื่อเวลาเกิดเหตุเป็นช่วงหลังพักเที่ยง ซึ่งแรงงานต่างเริ่มทยอยกลับเข้าไปทำงาน จึงมีการกระจายตัวอยู่ทั่วบริเวณอาคาร ดังนั้นท่ามกลางซากปรักหักพังขนาดมหึมานี้ จึงต้องมีการแบ่งพื้นที่ทำงานออกเป็นโซน A B C D และ E ที่อยู่ใจกลาง รวมถึงภารกิจการค้นและกู้ภัยที่ต้องเดินหน้าตลอด 24 ชั่วโมง ฉะนั้นแม้ทีม USAR ของ กทม. จะมีอยู่ถึง 180 คน หากก็ย่อมรับมือกับขนาดของเหตุการณ์ระดับนี้ไม่ไหว ทาง กทม. จึงต้องเดินหน้าระดมทั้งสรรพกำลังและอุปกรณ์เครื่องมือทุกอย่างเข้ามาทำงาน
 
นอกจากนี้อีกเรื่องหนึ่งที่หลายคนอาจยังไม่ทราบ คือนอกจากภารกิจค้นหาและกู้ภัยในจุดนี้แล้ว ทั่วพื้นที่ กทม. ก็ยังคงมีรายงานเหตุการณ์ไฟไหม้ตามจุดต่างๆ ที่เกิดขึ้นปกติอยู่เป็นประจำ นับ 10 ครั้งในแต่ละวัน ซึ่งหมายความว่าเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและกู้ภัยทั้งหมดจะมาสนับสนุนทรัพยากร ณ จุดนี้จุดเดียวไม่ได้ แต่ยังคงต้องอยู่เฝ้าตามสถานีดับเพลิงเพื่อรองรับเหตุอื่นๆ ที่เกิดขึ้นได้ระหว่างวัน
 
ดังนั้น อ.ทวิดา ระบุว่าภารกิจที่อาคาร สตง. ในครั้งนี้ จึงต้องเป็นการรวบรวมสรรพกำลังจากหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทีม USAR ของ ปภ., หน่วยงานทหาร ที่มีการฝึกปฏิบัติการเหล่านี้เอาไว้ รวมไปถึงตำรวจที่เข้ามาช่วยในเรื่องของการรักษาความปลอดภัยพื้นที่โดยรอบ ตลอดจนทีมอาสาสมัครอีกกว่า 8 มูลนิธิ ที่จดทะเบียนร่วมกับ กทม. ในเรื่องของการกู้ชีพกู้ภัย ทำให้ภารกิจค้นหาและกู้ภัยในพื้นที่เกิดเหตุนี้ มีเจ้าหน้าที่เข้าไปร่วมปฏิบัติงานจากภาคีเครือข่ายกว่า 15 หน่วยเลยทีเดียว
 
 
ดูแลจิตใจ-เดินหน้าต่อ - BANGKOK We are OK! 
 
อ.ทวิดา เล่าอีกว่า ท่ามกลางการเดินหน้าภารกิจค้นหาและกู้ภัยที่ยังคงดำเนินต่อไป สิ่งที่เกิดขึ้นมาควบคู่กันคือแคมเปญ ‘BANGKOK We are OK!’ ซึ่งเป็นเจตนาของ กทม. ที่ต้องการจะสื่อสารออกมาในช่วงจังหวะที่ผู้คนเกิดความไม่สบายใจ ให้ได้เห็นถึงอีกด้านหนึ่งของคน กทม. ที่ประสบเหตุเดียวกัน แต่ยังคงออกมาเดินหน้าใช้ชีวิตต่อไป พูดคุยกันได้ ถือเป็นการเยียวยารูปแบบหนึ่ง
 
ขณะเดียวกัน ยังเป็นการสื่อสารออกไปอีกด้วยว่าปฏิบัติการที่เดินหน้าอยู่นั้นแข็งแรงพอ เพราะเราได้รับความช่วยเหลือทั้งจากนานาชาติ และภายในประเทศของเราเองที่ต่างมาช่วยกันอย่างสุดความสามารถ ในขณะที่ประชาชนคนอื่นๆ ก็เข้มแข็งพอที่จะดำเนินชีวิตต่อไปได้ ซึ่งก็จะมีส่วนช่วยในการเดินหน้าเศรษฐกิจ และฟื้นฟูการท่องเที่ยว ในช่วงจังหวะที่ประเทศไทยเองก็กำลังจะเข้าสู่ช่วงเทศกาลสงกรานต์แล้วด้วย
“แม้เรื่องสำคัญสุดคือการช่วยชีวิตคนที่ประสบภัย แต่ กทม. เองเราก็ต้องช่วยคนที่เหลืออยู่ คนที่เพิ่งผ่านเหตุการณ์มาให้รู้สึกดีขึ้นด้วยเหมือนกัน เพราะทุกคนล้วนเป็นคนที่เราต้องดูแล ทำให้คนรู้สึกว่าเรามีกันและกัน ถ้าคนสบายใจไวขึ้น มันก็จะช่วยเยียวยาความรู้สึกแย่ในจิตใจที่ผ่านมา” เธออธิบายแนวคิด
 
นอกจากนี้แล้ว อ.ทวิดา ยังเล่าถึงข้อดีของการใช้เครื่องมืออย่าง ‘ทราฟฟี่ฟองดูว์’ ที่ช่วยให้ประชาชนคลายความกังวลด้วยการแจ้งให้ทาง กทม. เข้าไปช่วยตรวจอาคาร หรือการถ่ายรูปเข้ามาในระบบ ซึ่งในทางหนึ่งก็ถือเป็นครั้งแรกที่ กทม. จะมีข้อมูลอาคารมากขึ้น จากเมื่อก่อนที่อาจมีไม่ครบ ซึ่งก็จะทำให้ในอนาคตเราสามารถจัดการกับพื้นที่ที่มีความเสี่ยงได้ดีขึ้น เมื่อได้ทราบว่าแต่ละอาคารนั้นทนแรงกระแทกได้เท่าไร อยู่พื้นที่ไหน มีความเสียหายอะไรอยู่แล้วบ้าง เก็บไว้เป็นข้อมูลเพื่อที่จะเข้าไปตรวจสอบหรือปรับปรุงให้ดีขึ้นได้
 
 
พร้อมกันนั้น อ.ทวิดา ยังฉายให้เห็นถึงข้อดีอีกมุมหนึ่ง เมื่อทุกคนรับรู้แล้วว่า กทม. เองก็มีความเสี่ยงกับสถานการณ์แบบนี้ได้ แม้ว่าจะไม่มีรอยเลื่อนใดพาดผ่านเลยก็ตาม ซึ่งถือเป็นการเรียนรู้ไปพร้อมกันทั้งเมือง ในแบบที่สถานการณ์ปกติอาจทำไม่ได้ จึงอยากให้ทุกคนได้เรียนรู้จากเรื่องนี้ แล้วพยายามสำรวจ ตรวจสอบ เพื่อเตรียมความพร้อมตนเองให้ปลอดภัย และช่วยเหลือคนอื่นเมื่อสามารถจัดการตนเองได้ หากเป็นเช่นนี้แล้วก็จะเกิดภาพของการสานพลังทำงานร่วมกัน หรือ ‘Synergy’ ที่นำไปสู่การทำให้ทุกคนปลอดภัยมากขึ้น
 
 
 
 
หมายเหตุ - รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์ ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะอเนก กรรมการสุขภาพแห่งชาติ ผ่านรายการเจาะข่าวเช้านี้ ทางสถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย FM 101.5 เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2568

NHCO Q&A