แตกแขนงและต่อยอด สช. กับภารกิจผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อ ‘ยกเครื่อง’ การจัดการรับมือภัยพิบัติ


VIEW: 35   SHARE: 0    

แล้วแผ่นดินไหวก็ยังโยกไหวอยู่ในหัวใจเราทุกคน …เดินทางมาให้เราทำความรู้จักกันอีกครั้งกับภัยพิบัติรูปแบบใหม่ พร้อมๆ ด้วยบทสนทนาฉายซ้ำด้วยคำที่ว่า “เกิดมาอายุจนปูนนี้ เพิ่งเคยพบเคยเห็น”

ราวกับว่าในรอบไม่กี่ปีให้หลังมานี้ ชีวิตของผู้คนในสังคมไทยจะประสบชะตากรรมเช่นนี้ถี่มากขึ้นทุกขณะ จึงไม่น่าแปลกใจนักที่เราจำเป็นต้องถอดและสรุปบทเรียนกันครั้งแล้วครั้งเล่า นั่นเป็นเพราะภัยพิบัติเปลี่ยนแปลงรูปแบบของตัวเองอยู่เสมอ องค์ความรู้เดิมซึ่งเคยใช้ในการบริหารจัดการย่อมต้องปรับตัวเปลี่ยนแปลงเช่นกัน

 

“ทุกตำราของการแก้ปัญหาวิกฤตพูดเหมือนกันหมดว่า พยายามทำให้หน่วยย่อยที่สุดแข็งแรงที่สุดก่อน เมื่อหน่วยย่อยที่สุดแข็งแรง เขาจะรับมือกับสิ่งที่จะไปกระทบได้ เช่น คนจนเมือง พ่อค้าแม่ค้ารถเข็น คนมีมาตรการป้องกันพร้อมแผนสองแผนสาม สังเกตเวลาเกิดแผ่นดินไหว สึนามิ พายุ ถ้าไปเกิดในประเทศที่พัฒนาหรือมีอุปกรณ์การเตือนภัย สภาพสังคมดี เครือข่ายชุมชนเข้มแข็ง ใช้เวลาฟื้นไม่ถึงปี แต่ประเทศที่ไม่ได้เตรียมพร้อม กายภาพไม่ดี บริหารจัดการไม่ได้ คนไม่พร้อม ฐานะยากจน ก็ฟื้นตัวได้ยาก ถอยหลังกัน 5–10 ปีเลย”

 

นี่คือบางส่วนจากบทสัมภาษณ์ของผู้ที่ได้รับการขนานนามว่า ‘เจ้าแม่บริหารภัยพิบัติ’ หรือ รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่สื่อและสังคมกำลังให้ความสนใจจากความโดดเด่นในการสื่อสาร รวมถึงทักษะการเป็นผู้นำในการบริหารจัดการภัยพิบัติของเธอ เธอเน้นย้ำว่า การที่หน่วยย่อยหรือชุมชน ท้องถิ่น มีความเข้มแข็ง จะเป็นส่วนสำคัญในการรับมือกับสถานการณ์วิกฤตได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทั้งก่อน ระหว่าง กระทั่งหลังเกิดวิกฤตการณ์ ผู้ที่จะป้องกันและเข้าถึงความเดือดร้อนของประชาชนได้ในแทบจะทันที คือผู้นำและเครือข่ายองค์กรชุมชน มากไปกว่านั้น หากภัยพิบัติเกิดขึ้นในระดับที่รุนแรง สร้างความเสียหายในวงกว้าง พลังของหน่วยงานภาครัฐเพียงอย่างเดียว ย่อมไม่เพียงพอสำหรับการอุดรอยรั่วของผลกระทบ

จึงจำเป็นจะต้องเกิดการจัดการร่วมกัน โดยดึงบทบาทภาคส่วนชุมชน ท้องถิ่น ตลอดจนภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ดังตัวอย่างที่ปรากฏในเหตุการณ์ตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม และทุกองคาพยพของสังคม กำลังสานพลังช่วยเหลือกันอย่างแข็งขันในเวลานี้

ผ่านไปกว่า 14 ปีแล้ว นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์มหาอุทกภัย ในปี 2554 ประชาชนซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล ประสบภัยน้ำท่วมครั้งใหญ่ในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย. ที่ถูกบันทึกไว้ว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 70 ปี 

ต่อเมื่อเหตุการณ์เริ่มคลี่คลายลง สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในเวลานั้น จึงได้เร่งสรุปบทเรียน และเสนอมาตรการ ผ่านมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4 พ.ศ.2554 เรื่อง การจัดการภัยพิบัติธรรมชาติโดยชุมชนท้องถิ่นเป็นศูนย์กลาง ก่อนที่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ได้ให้ความเห็นชอบและเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบในวันที่ 29 พ.ค. 2555 พร้อมมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่

นั่นเป็นข้อยืนยันว่า กรอบคิดเรื่องการจัดการภัยพิบัติ โดยมีชุมชนและท้องถิ่นเป็นศูนย์กลาง ได้ปักหลักจนกลายเป็นนโยบายสาธารณะมาเกินกว่าทศวรรษ อีกทั้ง ผลพวงจากมติสมัชชาฯ ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมต่างๆ มากมาย

ไม่ว่าจะเป็นการที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ทบทวนและปรับปรุงแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ โดยมุ่งให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน หรือจัดทำคู่มือประชาชนสำหรับการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ทั้งยังได้จัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ส่วนหน้าของแต่ละจังหวัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้งระบบเฝ้าระวัง ติดตาม เตือนภัย ไปจนถึงสนับสนุนการเตรียมความพร้อมรับมือในระดับชุมชน เป็นต้น

ไม่เพียงเท่านั้น ระยะเวลาผ่านไปกว่า 14 ปี ผลจากมติดังกล่าวยังแตกแขนงออกไปเป็นนโยบายขององค์กร หน่วยงานต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) ได้พัฒนาหลักสูตรเพื่อผู้ปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข กรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมทั้งมีการฝึกซ้อมแผนป้องกันภัยพิบัติร่วมกับหน่วยงานพลเรือน และต่างประเทศ

ตลอดจนการที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมกับสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้นำร่องพัฒนาหลักสูตรและสื่อการเรียนการสอน เพื่ออบรมครูโรงเรียนต้นแบบด้านการป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมไปถึงการที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้จัดสรรคลื่นความถี่ให้กับ ปภ. ซึ่งปัจจุบันได้พัฒนาระบบ Cell Broadcast Center (CBC) ที่มีความพร้อมใช้งาน กระทั่งพี่น้องตระกูล ส. อย่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ก็ได้ให้การสนับสนุนเครือข่ายจัดการภัยพิบัติในการดำเนินงานเตรียมความพร้อมชุมชนเพื่อรับมือภัยพิบัติในระดับพื้นที่

 

 

แม้ว่าผลพวงของการดำเนินงาน ‘ขาเคลื่อน’ จากมติสมัชชาฯ ได้ก่อให้เกิดการยกระดับการรับมือภัยพิบัติมากมาย ทว่าองค์ความรู้เรื่องการจัดการภัยพิบัตินั้นมีความเป็นพลวัต ทั้งจากระบบเทคโนโลยี ผู้คน สังคมที่เปลี่ยนแปลงไป รวมไปถึงการเกิดขึ้นของภัยพิบัติในรูปแบบใหม่ดังที่กล่าวไปข้างต้น ไปจนกระทั่งข้อเสนอต่างๆ ที่ สช. เคยเสนอไว้ มาจนถึงวันนี้บางอย่างก็ยังประสบกับข้อจำกัดและไม่สามารถเดินหน้าไปอย่างที่หวัง

 

มาจนถึงวันนี้ สช. จึงยังคงมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าในการผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อการทบทวน ปรับปรุง และเปลี่ยนแปลงการรับมือกับภัยพิบัติให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ท่ามกลางความเข้มข้นของสภาวะโลกเดือด และนำพามหันตภัยเข้ามามากมาย

 

ตัวอย่างรูปธรรมของข้อเสนอเชิงนโยบาย ได้แก่ ข้อเสนอทบทวนแก้ไข พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 และสนับสนุนให้เกิดแผนแม่บทการจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนและท้องถิ่นเป็นศูนย์กลาง รวมไปถึงการแต่งตั้งคณะทำงานที่มีผู้แทนจากชุมชนและท้องถิ่นขับเคลื่อนแผนแม่บท นอกจากนี้ ยังขอให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนการจัดตั้งและพัฒนากองทุนการจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนและท้องถิ่นเป็นศูนย์กลาง และจัดตั้งกลไกการประสานงานร่วมด้วย

ทั้งนี้ อาจจัดตั้งกองทุนขึ้นมาใหม่หรือเป็นส่วนหนึ่งของกองทุนที่มีอยู่แล้วในชุมชนและท้องถิ่น โดยกองทุนอาจถูกแบ่งออกเป็น ๓ ระดับ คือ กองทุนในระดับชาติ กองทุนระดับพื้นที่ สุดท้ายคือ กองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น (กองทุนตำบล) หรือการนำเครื่องมือการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) มาใช้ในการการติดตาม ประเมินแผนการจัดการภัยพิบัติของชุมชนและท้องถิ่น โดยเน้นการประเมินเพื่อการเรียนรู้ร่วมกันของชุมชนและท้องถิ่นเป็นหลัก

 

รวมไปถึงการพัฒนาชุดความรู้ หลักสูตรท้องถิ่น เกี่ยวกับการรับมือภัยพิบัติที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ หรือจะเป็นการฝึกซ้อมร่วมกับกลุ่มประเทศอาเซียน ความร่วมมือกับ 10 องค์กรระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มความรู้ ทักษะความเชี่ยวชาญให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดการภัยพิบัติ

สิ่งหล่านี้ คือย่างก้าวที่สำคัญอีกครั้งของ สช. ในการผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อนำไปสู่การปรับปรุง แก้ไข ปัญหาในระดับโครงสร้าง ซึ่งจะนำไปสู่ศักยภาพ ความพร้อมของประเทศในการรับมือกับภัยพิบัติต่างๆ ในอนาคต

 

NHCO Q&A